ถาม : อยากทราบถึงโอกาสในการทำธุรกิจประกันในประเทศเพื่อนบ้านหลังเปิดเสรีภาคการเงินใน AEC
ตอบ : โอกาสมีมาก เพราะที่ผ่านมาความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและการแพทย์เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายประเทศในอาเซียนต้องเผชิญกับปัญหาการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ ซึ่งนอกจากจะทำให้อัตราการออม รวมทั้งความมั่งคั่งของประเทศลดลงจากการที่ประชากรวัยทำงานต้องนำรายได้มาจุนเจือครอบครัวมากขึ้นแล้ว ภาครัฐยังต้องสูญเสียงบประมาณสำหรับสวัสดิการเพื่อดูแลผู้สูงอายุอีกด้วย หลายประเทศในอาเซียนจึงให้ความสำคัญมากขึ้นกับการส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยออมเงินในรูปแบบต่างๆ อาทิ เงินฝาก อสังหาริมทรัพย์ พันธบัตรรัฐบาล รวมถึงการทำประกัน (โดยเฉพาะประกันชีวิต) ซึ่งประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายในการคุ้มครองผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นบำนาญในวัยเกษียณอายุหรือค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการประกันวินาศภัยที่ภาครัฐให้การส่งเสริม เพราะสามารถลดภาระของทั้งผู้ทำประกันและของภาครัฐในการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย ทั้งนี้ ปัจจุบันธุรกิจประกันของแต่ละประเทศในอาเซียนมีความแตกต่างกันทั้งในเชิงปริมาณและรูปแบบการให้บริการ เมื่อพิจารณาถึงสัดส่วนมูลค่าสินทรัพย์รวมของธุรกิจประกันต่อ GDP เฉลี่ยของอาเซียนปี 2553 พบว่าอยู่ที่ 15.5% แต่เมื่อพิจารณารายประเทศมีสัดส่วนเรียงตามลำดับ คือ สิงคโปร์ (52.9%) มาเลเซีย (24.9%) ไทย (14.7%) และฟิลิปปินส์ (14.7%) ขณะที่แต่ละประเทศที่เหลือ อาทิ เวียดนาม กัมพูชา และ สปป.ลาว มีสัดส่วนไม่ถึง 5% สะท้อนให้เห็นว่าประชากรจำนวนมากในประเทศเหล่านี้ยังเข้าถึงบริการประกันได้ไม่มากนัก ปัจจัยทั้งหมดข้างต้นประกอบกับการเปิดเสรีภาคการเงิน AEC เต็มรูปแบบในปี 2563 ส่งผลให้ธุรกิจประกันเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจและเป็นโอกาสของนักลงทุนไทย
ประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ พม่า กัมพูชาและ สปป.ลาว นับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจประกันไทยหลังจากการเปิดเสรีภาคการเงิน เนื่องจากทั้งสามประเทศมีพรมแดนติดกับไทย ประกอบกับคุณภาพของระบบสาธารณสุขและการประกันของไทยเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ส่งผลให้ชาวกัมพูชาและชาวลาวนิยมข้ามพรมแดนมาใช้บริการประกัน โดยเฉพาะประกันสุขภาพในไทย ขณะที่ชาวพม่าอาจใช้บริการดังกล่าวมากขึ้นภายหลังการเปิดประเทศ ทั้งนี้ ธุรกิจประกันในประเทศเพื่อนบ้านของไทยยังมีไม่มากนัก โดยบริษัทในกัมพูชาทั้งบริษัทท้องถิ่นและบริษัทต่างชาติที่ให้บริการด้านประกันมีไม่ถึง 10 แห่ง และในจำนวนนี้ให้บริการเพียงประกันวินาศภัยเท่านั้น ส่วนใน สปป.ลาว มีจำนวนบริษัทที่ให้บริการประกันใกล้เคียงกับกัมพูชา เนื่องจากตลาดมีขนาดเล็ก และประชากรมีรายได้น้อย รวมทั้งรัฐบาล สปป.ลาว ยังไม่มีแผนสนับสนุนธุรกิจประกันโดยเฉพาะ ทั้งนี้ การขยายตลาดประกันในประเทศเพื่อนบ้านควรทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ประกอบการประกันของไทยควรเริ่มจากการอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจประกันข้ามพรมแดนก่อนที่จะขยายตลาดในรูปแบบของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งเป็นการขยายสาขา การจัดตั้งบริษัทลูก หรือการร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น
ปัจจุบันบริษัทประกันของไทยทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่เริ่มมองหาลู่ทางในการขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เตรียมเจรจากับประเทศในอาเซียนเพื่อสนับสนุนการลงทุนของไทย ทั้งนี้แน่นอนว่าหลังการเปิด AEC ธุรกิจประกันของไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันทั้งในประเทศและนอกประเทศ ดังนั้น ธุรกิจดังกล่าวจึงต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ทั้งการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของสถานะทางการเงิน การเพิ่มสภาพคล่อง การปรับปรุงคุณภาพบริการก่อนและหลังการขาย รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันที่หลากหลายและตอบสนองความต้องการของลูกค้า เพื่อเพิ่มศักยภาพให้พร้อมรับมือกับการแข่งขันที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด