รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: สำรวจโอกาสของนักลงทุนไทยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของ สปป.ลาว

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 24, 2012 13:28 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจของ สปป.ลาว จากระบบสังคมนิยมเป็นระบบตลาดเสรีในปี 2529 ตามนโยบายจินตนาการใหม่ (New Economic Mechanism : NEM) ของนายไกสอน พมวิหาน นายกรัฐมนตรีคนแรกของ สปป.ลาว ควบคู่กับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติระยะ 5 ปีตั้งแต่ปี 2524 ซึ่งตั้งเป้าหมายให้ สปป.ลาว หลุดพ้นจากการเป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) ภายในปี 2563 เป็นปัจจัยที่ผลักดันเศรษฐกิจ สปป.ลาว ขยายตัวอย่างต่อเนื่องด้วยแรงหนุนจากการลงทุนจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจพลังงานไฟฟ้า เหมืองแร่ บริการ และระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน ทั้งจากจีน เวียดนาม และไทย ซึ่งเป็นผู้ลงทุนรายสำคัญของ สปป.ลาว มาโดยตลอด ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปป.ลาว อยู่ในช่วงของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 7 (The Seventh Five-Year National Socio-Economic Development Plan) ปี 2554-2558 มีเป้าหมายสำคัญโดยสรุป 5 ด้าน ดังนี้

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
        ด้าน                           รายละเอียด
เศรษฐกิจมหภาค    - การขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 8% ต่อปี โดยตั้งเป้ามูลค่าการลงทุน

ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน 127 ล้านล้านกีบ (15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ต่อปี

  • รายได้เฉลี่ยของประชากรต่อคนต่อปีราว 1,700 ดอลลาร์สหรัฐ
  • อัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
ภาคเศรษฐกิจ - การเข้าถึงกระแสไฟฟ้าครัวเรือนอยู่ที่ 80% ในปี 2558
  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.8 ล้านคนต่อปี
  • พัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า และโทรคมนาคม อย่างต่อเนื่อง
        สังคม        - อัตราความยากจนต่ำกว่า 19% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ
  • พัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาสหัสวรรษ

(Millennium Development Goals : MDG)(*) ภายในปี 2558

ทรัพยากรธรรมชาติ - ฟื้นฟูและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้ามีพื้นที่ป่าไม้ 65% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ

และสิ่งแวดล้อม

ต่างประเทศ - เพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP จาก 83% ในปี 2553 เป็น 100% ในปี 2558
  • เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization : WTO)

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

โอกาสของนักลงทุนไทยในธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขัน

นอกจากทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ สินแร่และแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม และประวัติศาสตร์อันยาวนานของ สปป.ลาว เป็นเสน่ห์ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติรวมทั้งนักลงทุนไทยให้เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว อย่างต่อเนื่องแล้ว แผนพัฒนาฯ ฉบับปัจจุบันยังมีส่วนสนับสนุนนักลงทุนไทยให้เข้าไปลงทุนในธุรกิจ ดังนี้

(*) เป้าหมาย 8 ประการ ซึ่งสมาชิกองค์การสหประชาชาติ (The United Nations : UN) ทำความตกลงที่จะบรรลุภายในปี 2558 ประกอบด้วย การขจัดความยากจนและความหิวโหย การให้เด็กทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษา การส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ การลดอัตราการตายของเด็ก การพัฒนาสุขภาพของสตรีมีครรภ์ การป้องกันโรคเอดส์ มาลาเรีย และโรคติดต่ออื่นๆ การรักษาและจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และการส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาในประชาคมโลก [ที่มา : United Nations Development Programme (UNDP)]

ด้านพลังงาน

เป้าหมายตามแผนพัฒนาฯ

  • ก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่ม 10 เขื่อน กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 5,015 MW
  • ก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย 8 แห่ง กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 2,862 MW
  • ก่อสร้างสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงดัน 115 KV เชื่อมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ของประเทศ
  • ก่อสร้างสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงดัน 500 KV เชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนามและไทย

โอกาสของนักลงทุนไทย

ระบบไฟฟ้าของ สปป.ลาว ยังไม่ทั่วถึงทั้งประเทศ ขณะที่ สปป.ลาว มีศักยภาพในการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ ทั้งจากภูมิประเทศที่เหมาะสมและปริมาณน้ำฝนค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ปัจจุบัน สปป.ลาว มีโครงการเขื่อนและโรงไฟฟ้าที่ลงนามบันทึกความเข้าใจ (Memorandum of Understanding : MoU) แล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาพัฒนาโครงการ (Project Development Agreement : PDA) กับรัฐบาล สปป.ลาว จำนวน 33 โครงการ (กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 7,386.5 MW) ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าวประกอบกับแผนพัฒนาฯ ซึ่งตั้งเป้าพัฒนากฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนมากขึ้น นับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการธุรกิจพลังงานและธุรกิจรับเหมาก่อสร้างของไทยในการเข้าไปลงทุนพัฒนาเขื่อนและโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว นอกจากนี้ โครงการทั้งหมดยังเป็นโอกาสในการขยายตลาดวัสดุก่อสร้างและอุปกรณ์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการไทย อาทิ เหล็ก ปูนซีเมนต์ อะลูมิเนียม และสายส่งกระแสไฟฟ้าอีกด้วย

ด้านท่องเที่ยว

เป้าหมายตามแผนพัฒนาฯ

  • จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.8 ล้านคนต่อปี และรายได้จากการท่องเที่ยวราว 350 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2558
  • จำนวนโรงแรมและภัตตาคารทั่วประเทศ 300 แห่ง และ 850 แห่งตามลำดับภายในปี 2558
  • พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้เป็นมรดกโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 แห่ง และมรดกแห่งชาติ 29 แห่ง

โอกาสของนักลงทุนไทย

ความโดดเด่นของ สปป.ลาว ทั้งด้านแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ เป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแผนพัฒนาฯ ซึ่งระบุว่ารัฐบาล สปป.ลาว เตรียมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศ รวมทั้งพัฒนาคุณภาพบริการด้านการท่องเที่ยว อาทิ การบริการข้อมูล สิ่งอำนวยความสะดวกและคุณภาพของที่พัก จึงเป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนไทยในการเข้าไปลงทุนประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร สปา นำเที่ยว และรถเช่า ซึ่งปัจจุบันยังขาดแคลนทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ด้านสาธารณูปโภคและการขนส่ง

เป้าหมายตามแผนพัฒนาฯ

  • ก่อสร้างถนนเชื่อมระหว่างเมืองต่างๆ ในประเทศ
  • ก่อสร้างถนนในประเทศเชื่อมกับเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor) และเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
  • ศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาสนามบินภายในประเทศที่มีอยู่เดิม และการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ในนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง แขวงเซียงขวาง แขวงสะหวันนะเขต และแขวงจำปาสัก

โอกาสของนักลงทุนไทย

ระบบสาธารณูปโภคและการขนส่งใน สปป.ลาว อยู่ระหว่างการพัฒนาให้ดีขึ้น โดยรัฐบาล สปป.ลาว ดำเนินโครงการพัฒนาเส้นทางระหว่างเมืองและเส้นทางหลักของประเทศหลายเส้นทาง รวมทั้งปรับปรุงเส้นทางขนส่งที่เชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่าน สปป.ลาว ไปยังประเทศอื่นๆ ขยายตัวเพิ่มขึ้น อันจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า เช่น ศูนย์กระจายสินค้า คลังสินค้า รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่ง อาทิ ปั๊มน้ำมัน จุดพักรถ สถานีรับ-ส่งผู้โดยสาร เพิ่มขึ้นตาม นอกจากนี้ โครงการทั้งหมดดังกล่าวส่งผลให้ความต้องการสินค้าวัสดุก่อสร้างใน สปป.ลาว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสของผู้ส่งออกไทยในการส่งออกสินค้าดังกล่าวไป สปป.ลาว

แม้ว่ารัฐบาล สปป.ลาว เตรียมดำเนินการตามแผนพัฒนาฯ ซึ่งนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยในด้านต่างๆ แต่ปัจจุบัน สปป.ลาว ยังมีปัญหาบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าไปลงทุน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานที่ยังขาดทักษะด้านการจัดการและด้านเทคนิค การขออนุญาตลงทุนยังล่าช้า ความแตกต่างในขั้นตอนการปฏิบัติงานของแต่ละหน่วยงาน และความไม่พร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมขนส่งสินค้าระหว่างแขวงซึ่งมีค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ พร้อมทั้งขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานไทยที่เชี่ยวชาญด้านการลงทุนก่อนเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นมากขึ้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กรกฎาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ