การเลือกซื้อและบริโภคผลไม้สดของผู้บริโภคในอาเซียนและจีน
ปัจจุบันอาเซียนและจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย ในปี 2554 ไทยส่งออกไปสองตลาดนี้รวมกันถึงร้อยละ 36 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ อาเซียนและจีนเป็นตลาดส่งออกหลักของสินค้าหลายชนิดของไทย รวมถึงผลไม้สด ซึ่งในปี 2554 ไทยส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งไปตลาดอาเซียนและจีนรวมกันสูงถึงร้อยละ 63 ของมูลค่าส่งออกผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้งทั้งหมดของไทย เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมีลักษณะภูมิอากาศใกล้เคียงกับไทยและสามารถเพาะปลูกผลไม้หลายชนิดได้เหมือนไทย แต่ด้วยเทคโนโลยีการผลิต การดูแลรักษา รวมถึงการดูแลหลังการเก็บเกี่ยวของไทยที่เหนือกว่า ทำให้ผลไม้ไทยมีรสชาติดี มีสีสันและรูปทรงสวยงามสมบูรณ์ รวมถึงสามารถให้ผลผลิตนอกฤดู อันเป็นจุดแข็งสำคัญที่คู่แข่งยังไม่สามารถพัฒนาได้
ทั้งนี้ คาดว่าอาเซียนและจีนจะยังคงเป็นตลาดส่งออกผลไม้หลักของไทยที่มีแนวโน้มสดใส และเป็นตลาดที่ผู้ส่งออกผลไม้ทั่วโลกให้ความสนใจ เนื่องจาก
-อาเซียนและจีนเป็นตลาดขนาดใหญ่ มีประชากรรวมกันราว 1,900 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนประชากรโลก
-มูลค่านำเข้าผลไม้ของอาเซียนและจีนขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องมาหลายปี โดยมูลค่านำเข้าผลไม้สดของอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้นจากราว 1.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2549 เป็นเกือบ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2554 ทั้งนี้ อาเซียนนำเข้าผลไม้สดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 21 ระหว่างปี 2549-2554 ขณะที่จีนนำเข้าผลไม้สดเพิ่มขึ้นเฉลี่ย (CAGR) ร้อยละ 33 ในช่วงเดียวกัน
-ปริมาณการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคในอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ปริมาณการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 48 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2545 เป็น 66 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2550 และจีนที่ปริมาณการบริโภคผลไม้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 48 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เป็น 64 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในช่วงเดียวกัน
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
ปริมาณการบริโภคผลไม้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของประเทศต่างๆ
หน่วย : กิโลกรัม/คน/ปี
2545 2550 ? อินโดนีเซีย 48.3 66.3 18 จีน 47.8 64.4 16.6 เวียดนาม 51.6 58.2 6.6 มาเลเซีย 54.8 57.4 2.6 สปป. ลาว 35.7 38.9 3.2 พม่า 30.6 34.4 3.8 กัมพูชา 23.3 23.7 0.4
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
รสนิยมการเลือกซื้อและบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคในอาเซียนและจีน
แม้ผลไม้ไทยได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคในหลายประเทศ แต่รสนิยมในการเลือกซื้อและการบริโภคผลไม้ของผู้บริโภคในประเทศเหล่านั้นอาจไม่ตรงกับความเคยชินของคนไทยทั้งหมด ดังนั้น การทำความเข้าใจกับรสนิยม ความชอบ และลักษณะการเลือกซื้อผลไม้ของผู้บริโภคในประเทศปลายทาง จะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางแผนการผลิตร่วมกับเกษตรกรเพื่อให้เก็บเกี่ยวผลไม้ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ตลอดจนเลือกใช้วิธีการดูแลก่อนและหลังเก็บเกี่ยวเพื่อให้ได้ผลไม้ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ ทั้งนี้ รสนิยมการเลือกซื้อและบริโภคผลไม้สดที่น่าสนใจของผู้บริโภคในอาเซียนแต่ละประเทศและในจีนมีดังนี้
"...ชาวอินโดนีเซียให้การยอมรับผลไม้ไทยเป็นอย่างดี สังเกตได้จากการที่ชาวอินโดนีเซียนิยมเรียกผลไม้ที่มีคุณภาพดีด้วยการใช้คำว่า ‘Bangkok’ ต่อท้าย อาทิ ทุเรียน เรียกว่า ‘Durian Bangkok’ มะม่วง เรียกว่า ‘Mangga Bangkok’ และมะพร้าว เรียกว่า ‘Kelapa Bangkok’..."
อินโดนีเซีย
ชาวอินโดนีเซียนิยมรับประทานทุเรียนที่ค่อนข้างสุกงอม เนื้อหนา รสหวานและออกขมติดปลายลิ้น ทั้งนี้ ชาวอินโดนีเซียนิยมรับประทานทุเรียนพันธุ์ก้านยาวของไทยเป็นพิเศษ แต่เนื่องจากผลผลิตมีจำกัด ทุเรียนที่อินโดนีเซียนำเข้าจากไทยมากที่สุดจึงเป็นพันธุ์หมอนทอง
ชาวอินโดนีเซียนิยมซื้อลำไยที่ริดกิ่งก้านออกหมด ต่างจากคนไทยที่นิยมซื้อลำไยที่มัดเป็นช่อสวยงามและสะดวกต่อการหยิบจับ ทั้งนี้ เพราะชาวอินโดนีเซียมองว่ากิ่งก้านของลำไยรับประทานไม่ได้ จึงไม่ควรนำมาชั่งน้ำหนักรวมกับผลลำไยเพื่อจำหน่าย ทั้งนี้ ชาวอินโดนีเซียไม่พิถีพิถันหรือเจาะจงที่จะต้องซื้อเฉพาะลำไยที่มีผลขนาดใหญ่ สีสวยเหมือนชาวจีน แต่ซื้อลำไยได้ทุกสีและทุกขนาด มาเลเซีย
ชาวมาเลเซียนิยมบริโภคผลไม้สดที่มีรสหวาน ไม่ชอบผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว
รสนิยมการบริโภคทุเรียนของชาวมาเลเซีย ชาวมาเลเซียคุ้นเคยกับทุเรียนท้องถิ่นที่มีผลกลม เม็ดใหญ่ เนื้อน้อย สีเหลืองทอง รสหวานมัน และนิยมรับประทานทุเรียนที่สุกเต็มที่ ซึ่งมีรสหวานจัดออกขมเล็กน้อย และมีเนื้อเละกว่าทุเรียนที่คนไทยนิยมบริโภค ชาวมาเลเซียจึงไม่นิยมรับประทานทุเรียนพันธุ์หมอนทองของไทย แต่กลับนิยมรับประทานทุเรียนพันธุ์ชะนีซึ่งมีเนื้อสีเหลืองจัด และพันธุ์ก้านยาว ส่วนพันธุ์พวงมณีซึ่งมีเนื้อสีเหลืองทองก็เริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในระยะหลัง นอกจากนี้ ชาวมาเลเซียไม่นิยมรับประทานทุเรียนกับข้าวเหนียว
"...ปัจจุบันชาวเวียดนามบางส่วนไม่มั่นใจที่จะบริโภคผลไม้นำเข้าจากจีน เพราะเกรงว่าอาจมีการใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่เชื่อว่าผลไม้จากไทยมีคุณภาพดีและไม่มีสารเคมีตกค้าง..."
เวียดนาม
ผลไม้นำเข้าที่ชาวเวียดนามนิยมมากที่สุด คือ องุ่น ซึ่งนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา รองลงมา คือ มะม่วงเขียวเสวย มังคุด เงาะ และทุเรียน ซึ่งนำเข้าจากไทย นอกจากนี้ ยังมีผลไม้นำเข้าจากไทยชนิดอื่นที่ได้รับความนิยม อาทิ มะขามหวาน และลองกอง
ชาวเวียดนามทางตอนเหนือนิยมรับประทานมะม่วง โดยมะม่วงที่เวียดนามนำเข้าจากไทยมี 2 พันธุ์ คือ เขียวเสวย และฟ้าลั่น ซึ่งเป็นมะม่วงมัน ส่วนมะม่วงสุกของไทยอย่างมะม่วงน้ำดอกไม้ไม่เป็นที่นิยม เพราะชาวเวียดนามนิยมรับประทานมะม่วงพันธุ์โฮจิมินห์ที่ผลิตในเวียดนามใต้
ชาวเวียดนามนิยมรับประทานทุเรียนแก่จัด ที่สุกคาต้น หรือร่วงจากต้นแล้ว
รสนิยมการบริโภคมะขามหวานของชาวเวียดนาม ชาวเวียดนามทางเหนือ เช่น ฮานอย นิยมรับประทานมะขามหวานพันธุ์ศรีชมภู พันธุขันตี และพันธุ์อินทผาลัม ขณะที่ชาวเวียดนามใต้แถบโฮจิมินห์นิยมรับประทานมะขามหวานพันธุ์สีทอง
"...ชาวกัมพูชานิยมบริโภคผลไม้สด ไม่นิยมบริโภคผลไม้แปรรูป เนื่องจากเชื่อว่าผลไม้ที่ผ่านการแปรรูป เช่น การอบแห้ง จะมีสารปนเปื้อนที่ไม่ปลอดภัย..."
กัมพูชา
ชาวกัมพูชานิยมใช้ผลไม้จำนวนมากในงานมงคลและพิธีกรรมทางศาสนา อาทิ งานแต่งงาน ชาวกัมพูชาจะซื้อผลไม้จำนวนมาก (เป็นหลักหมื่นหรือแสนบาท) เพื่อใช้ในขบวนแห่ขันหมากและแจกจ่ายให้แขกที่มาร่วมงานเพื่อเป็นสิริมงคล
ชาวกัมพูชาชอบรับประทานทุเรียน ทุเรียนจากไทยที่ได้รับความนิยม คือ พันธุ์หมอนทอง และพันธุ์ชะนี ทั้งนี้ ชาวกัมพูชานิยมรับประทานทุเรียนที่สุกจนเนื้อนิ่ม รสหวาน และมีกลิ่นหอม
ชาวกัมพูชานิยมรับประทานลำไยพื้นเมือง ซึ่งมีขนาดเล็ก น้ำเยอะ มีรสหวานจัดและมีกลิ่นหอมน้ำดอกไม้ ไม่นิยมรับประทานลำไยไทย เพราะชาวกัมพูชาเห็นว่าเนื้อแห้งเกินไปและมีรสจืด
เงาะที่ชาวกัมพูชานิยมรับประทานมากที่สุด คือ เงาะพันธุ์พื้นเมือง หรือ “เงาะลำไย” ซึ่งเป็นเงาะที่มีเปลือกหนา ขนสั้นแข็ง มีกลิ่นและรสชาติหวานเหมือนลำไย ทั้งนี้ เงาะพันธุ์พื้นเมืองของกัมพูชาจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดหลังเงาะของไทย ดังนั้น ในช่วงที่เงาะพื้นเมืองยังไม่ออก ชาวกัมพูชาจะรับประทานเงาะนำเข้าจากไทยและเวียดนามซึ่งได้รับความนิยมใกล้เคียงกัน
"...จากการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครเฉิงตู (เมืองหลวงของมณฑลเสฉวน) พบว่า กล้วยไข่ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าในนครเฉิงตู มีราคาสูงกว่าทุเรียน แต่กลับจำหน่ายได้ง่ายกว่าทุเรียน เนื่องจากผู้บริโภคเห็นว่ากล้วยไข่เป็นผลไม้ที่มีเนื้อมากกว่าและคุ้มค่ากว่า..."
จีน
ชาวจีนจะซื้อผลไม้มากเป็นพิเศษในช่วงเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลไหว้พระจันทร์ โดยเฉพาะเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ผลไม้ไทยเกือบทุกชนิดมักเป็นที่ต้องการอย่างมาก
ชาวจีนนิยมบริโภคทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งมีจุดเด่น คือ ขนาดผลใหญ่ เนื้อหนาละเอียด สีเหลืองอ่อน ไม่เละหรือแฉะติดมือ เม็ดลีบ กลิ่นไม่แรงนัก รสชาติหวานมัน ทั้งนี้ ชาวจีนนิยมบริโภคทุเรียนห่ามเหมือนชาวไทย
ลำไยไทยเป็นผลไม้ยอดนิยมของชาวจีน เนื่องจากมีผลโต รสหวาน เนื้อหนาเม็ดเล็ก ขณะที่ลำไยจากเวียดนามมีเม็ดในใหญ่กว่า น้ำเยอะ เนื้อฟ่ามบางและไม่หวาน จึงมีราคาถูกกว่าลำไยของไทยมาก ทั้งนี้ ชาวจีนนิยมเลือกซื้อลำไยที่มีผิวสวย ขนาดผลใหญ่เสมอกัน
กล้วยไข่เป็นที่นิยมของผู้บริโภคในแถบจีนตะวันตก โดยเฉพาะมณฑลเสฉวนและเทศบาลนครฉงชิ่ง ซึ่งมีผู้บริโภคระดับกลางและระดับบนเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้
กล้วยไข่ได้รับการขนานนามว่า “กล้วยจักรพรรดิ” เนื่องจากรูปร่างและการเรียงตัวของผลกล้วยซึ่งมีสีเหลืองอร่ามเป็นที่สะดุดตา ประกอบกับมีรสชาติหวานนุ่มลิ้นทำให้เป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคชาวจีน
รสนิยมการบริโภคมะขามหวานของชาวจีน ชาวจีนนิยมรับประทานมะขามหวานพันธุ์ศรีชมภู และนิยมเลือกซื้อมะขามหวานสดที่ไม่ผ่านการอบเพื่อฆ่าเชื้อและแมลง เพราะมะขามสดจะมีสีน้ำตาลเนียนสวยต่างจากมะขามอบที่สีดำกว่า
ตลาดหลักของมะขามหวานส่งออกของไทยไปจีนอยู่ที่ปักกิ่ง แต่มีบางส่วนส่งออกไปจำหน่ายทางตอนใต้ของคุนหมิง ทั้งนี้ แม้คุนหมิงจะเป็นเมืองที่เพาะปลูกมะขามหวานได้และมีมะขามเป็นของฝากขึ้นชื่อ แต่ผลผลิตมะขามของคุนหมิงมีไม่มากนักประกอบกับคุณภาพไม่คงที่ จึงมีการนำเข้ามะขามหวานจากไทยไปจำหน่ายเป็นของฝากที่เมืองคุนหมิง
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2555--