ถาม-ตอบ AEC: อยากทราบถึงโอกาสของธุรกิจสปาไทยและการปรับตัวหลังเปิดเสรีภายใต้ AEC

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2012 13:43 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ถาม : อยากทราบถึงโอกาสของธุรกิจสปาไทยและการปรับตัวหลังเปิดเสรีภายใต้ AEC

ตอบ : ธุรกิจสปาไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้นหลังการเปิดเสรีภายใต้ AEC เนื่องจาก AEC มีส่วนช่วยเกื้อหนุนการท่องเที่ยวในด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งภายในปี 2558 นักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศสามารถเดินทางท่องเที่ยวระหว่างกันโดยไม่ต้องทำวีซ่า ขณะที่นักท่องเที่ยวนอกกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้สะดวกขึ้นด้วยการทำวีซ่าเดียวเข้าได้ทุกประเทศในอาเซียน (ASEAN Single Visa) รวมถึงการให้บริการทำวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ ทั้งนี้ องค์การการท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization : WTO) คาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในอาเซียนจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านคน ในปี 2558 ซึ่งเป็นปีที่ก้าวสู่การเป็น AEC อย่างสมบูรณ์ จากระดับเฉลี่ย 67.5 ล้านคนต่อปีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในอาเซียน รวมถึงไทย ประกอบกับจุดแข็งของสปาไทยที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงกระแสความนิยมในการดูแลรักษาสุขภาพและผ่อนคลายความเครียดที่มากขึ้น คาดว่าจะส่งผลให้ธุรกิจสปาไทยมีแนวโน้มขยายตัวดีตาม เนื่องจากรายได้หลักของธุรกิจสปาไทยราว 80% มาจากกลุ่มลูกค้าชาวต่างชาติ ทั้งนี้ นอกจากการให้บริการสปาในประเทศแล้ว จำนวนนักท่องเที่ยว

ในอาเซียนที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องยังเป็นโอกาสดีสำหรับธุรกิจสปาไทยที่มีความพร้อมให้ออกไปลงทุนในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งผู้ประกอบการควรศึกษาข้อมูลเฉพาะของตลาดสปาที่มีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ อาทิ

-ตลาดที่ประชากรมีรายได้สูง เช่น สิงคโปร์ เป็นโอกาสของสปาระดับกลางและระดับบนของไทยที่เน้นบริการที่มีคุณภาพ ทั้งนี้ ชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่มักเคร่งเครียดจากการทำงานและการดำเนินชีวิตประจำวัน จึงชื่นชอบการทำสปาเพื่อผ่อนคลาย โดยเฉพาะสปาที่เน้นความเป็นธรรมชาติ ปัจจุบันมีสปาไทยที่มีคุณภาพสูงเปิดให้บริการในสิงคโปร์แล้ว ทำให้สปาไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในกลุ่มชาวสิงคโปร์มากขึ้น

-ตลาดใหม่ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทย เช่น เวียดนาม มีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นตลาดใหม่ที่มีจำนวนผู้บริโภคระดับกลางและผู้มีรายได้สูงเพิ่มขึ้น ทำให้หันมาสนใจในการเสริมความงามและการทำสปามากขึ้น อีกทั้งธุรกิจท่องเที่ยวของเวียดนามที่กำลังเติบโต ล้วนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนการขยายตัวของตลาดสปาในเวียดนามและเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปร่วมลงทุนเพื่อบุกเบิกตลาด

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าปัจจุบันไทยยังไม่มีข้อผูกพันการเปิดเสรีธุรกิจสปาภายใต้กรอบ AEC แต่การเปิดเสรีส่งผลต่อภาวะแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจสปาอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการจัดทำมาตรฐานสปาร่วมกันของประเทศสมาชิกอาเซียน (ASEAN Spa Standard) ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2558 ซึ่งแม้ในภาพรวมจะช่วยยกระดับมาตรฐานสปาของประเทศสมาชิก แต่ก็อาจจะทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจสปาขนาดเล็กของไทยที่มักเปิดให้บริการภายในอาคารที่พักอาศัยต้องปรับตัวรับกับมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้น ทั้งเรื่องสถานที่ ความสะอาด ความสะดวกสบาย และมาตรฐานความปลอดภัย รวมถึงภาวะการแข่งขันที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากธุรกิจสปาต่างชาติที่หมายตาเข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดสปาในอาเซียนที่กำลังขยายตัวเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยอาจปรับรูปแบบการให้บริการที่เน้นความเป็นธรรมชาติและประยุกต์การให้บริการที่สอดคล้องกับยุคสมัย โดยเฉพาะการใช้สมุนไพรไทย ซึ่งยังคงได้รับความนิยมเป็นอย่างดี อาทิ ลูกประคบที่ทำให้ร้อนด้วยไมโครเวฟแทนการนึ่งแบบเดิม รวมถึงการผสมผสานภูมิปัญญาไทยกับองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมใหม่ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์จากเม็ดลำไย ซึ่งมีการวิจัยพบว่ามีสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถชะลอริ้วรอยและกระชับผิวได้ เป็นต้น ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ควรมีใบรับรองและผลการวิจัยรองรับ ซึ่งจะเป็นจุดขายที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญมาก ขณะเดียวกันการรักษาคุณภาพและมาตรฐาน รวมทั้งการให้บริการด้วยรอยยิ้มและมิตรภาพอันอบอุ่นยังคงเป็นจุดเด่นสำคัญของสปาไทยที่ผู้ประกอบการต้องรักษาไว้ ควบคู่กับการพัฒนาบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันให้คงอยู่ต่อไป

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ