การค้าชายแดนมีความสำคัญมากต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างไทยและกัมพูชา โดยมีสัดส่วนสูงถึงราวร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งเป็นผลจากการที่ไทยมีพรมแดนติดต่อกับกัมพูชาครอบคลุมพื้นที่ถึง 7 จังหวัด ไล่ตั้งแต่ภาคตะวันออกของไทยไปจนถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ ตราด จันทบุรี สระแก้ว บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี คิดเป็นระยะทางราว 800 กิโลเมตร ทั้งนี้ มูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาขยายตัวทุกปี โดยเฉพาะการค้าผ่านด่านอรัญประเทศ-ปอยเปตแม้ในช่วงที่ทั้งสองประเทศมีความเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในบางพื้นที่ ยิ่งปัจจุบันความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งสองประเทศจึงตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันเฉลี่ยร้อยละ 30 ต่อปี ในช่วงปี 2555-2558 ซึ่งคาดว่าจะยิ่งเกื้อหนุนการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 27 ในปี 2554
- อรัญประเทศ-ปอยเปต...หน้าด่านการค้าชายแดนสำคัญระหว่างไทยและกัมพูชา
หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการค้าชายแดนผ่านด่านอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว กับด่านปอยเปต จังหวัดบันเตียเมียนจัยของกัมพูชา นับเป็นช่องทางการค้าชายแดนที่สำคัญที่สุดระหว่างไทยและกัมพูชา
มีมูลค่าการค้าชายแดนกับกัมพูชามากที่สุดคิดเป็นกว่าร้อยละ 50 ของมูลค่าการค้าชายแดนไทย-กัมพูชาในปี 2554 มีตลาดโรงเกลือซึ่งเป็นตลาดขนาดใหญ่และเป็นแหล่งรวมสินค้านานาชนิดทั้งจากไทยและกัมพูชาตั้งอยู่บริเวณด่านชายแดนดังกล่าว สำหรับสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าสำคัญผ่านด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต มีดังนี้
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาเล็งเห็นความสำคัญของการค้าชายแดนผ่านด่านอรัญประเทศ-ปอยเปต จึงได้เร่งขยายความร่วมมือและพัฒนาการเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างพื้นที่ดังกล่าว
- การเชื่อมโยงการเดินรถโดยสารและรถขนส่งสินค้า
เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2555 ไทยและกัมพูชาได้ทำพิธีเปิดการเดินรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าระหว่างกัน บริเวณสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก-ปอยเปต อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ภายใต้ความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Cross-Border Transport Agreement : CBTA) เพื่อช่วยส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ รวมทั้งรองรับการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 โดยในเบื้องต้นทั้งสองประเทศตกลงจะให้โควตาเดินรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าแก่ผู้ประกอบการของแต่ละฝ่ายรวมฝ่ายละ 40 คัน และจะพิจารณาเพิ่มจำนวนโควตาในระยะต่อไป ทั้งนี้ เส้นทางเดินรถภายใต้ความตกลงดังกล่าวแบ่งเป็น 2 เส้นทาง คือ
1. กรุงเทพฯ-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ (ไทย)-ปอยเปต-พนมเปญ-บาเวต (กัมพูชา)
2. กรุงเทพฯ-แหลมฉบัง-พนมสารคาม-กบินทร์บุรี-สระแก้ว-อรัญประเทศ (ไทย)-ปอยเปต-พนมเปญ-บาเวต (กัมพูชา)
- การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ
ไทยและกัมพูชามีโครงการเชื่อมต่อการคมนาคมทางรางระหว่างทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-อรัญประเทศของไทยกับทางรถไฟสายปอยเปต-ศรีโสภณ-พระตะบอง-กรุงพนมเปญของกัมพูชา ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมของไทยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะใช้เส้นทางรถไฟช่วงอรัญประเทศ-บ้านคลองลึก (ชายแดน) ระยะทาง 6 กิโลเมตร ตามแผนเดิม หรือเส้นทางรถไฟช่วงอรัญประเทศ-บ้านหนองเอี่ยน (ชายแดน) ซึ่งเป็นด่านการค้าที่เพิ่งเปิดใหม่ ระยะทาง 12 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับเส้นทางปอยเปตของกัมพูชา ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมคาดว่าเส้นทางรถไฟเชื่อมระหว่างไทยและกัมพูชาจะสามารถเปิดใช้ได้ภายในปี 2556 นอกจากนี้ ไทยจะเร่งหารือกับกัมพูชาและเวียดนามเพื่อเชื่อมเส้นทางรถไฟต่อไปยังกรุงโฮจิมินห์เมืองท่าสำคัญของเวียดนาม ซึ่งจะทำให้สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งทางรางของเวียดนาม และจะช่วยลดต้นทุนการขนส่ง รวมทั้งส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทย กัมพูชา และเวียดนาม
- โอกาสทางธุรกิจ
-โอกาสของธุรกิจรถโดยสารและรถขนส่งสินค้า การเปิดเส้นทางเดินรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าจะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าและการเดินทางระหว่างกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการค้าชายแดนผ่านเส้นทางดังกล่าวให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น และจะเกื้อหนุนธุรกิจรถโดยสารและรถขนส่งสินค้าให้ขยายตัวตาม
-โอกาสของธุรกิจท่องเที่ยว การเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมระหว่าง อ. อรัญประเทศ-ปอยเปต จะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและกระตุ้นการท่องเที่ยวตามเส้นทางที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจหลายแห่งที่มีศักยภาพใน
การรองรับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ โตนเลสาบ ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทุ่งสังหาร หรือ Killing Fields แหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกัมพูชาที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองในยุคสงครามเย็นจนสร้างตำนานเลื่องลือไปทั่วโลก นอกจากนี้ ในระยะถัดไปหากสามารถเชื่อมเส้นทางรถไฟไปยังกรุงโฮจิมินห์ เมืองหลวงเก่าของเวียดนามที่เต็มไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยวเก่าแก่และเมืองท่าสำคัญของเวียดนามก็จะยิ่งเพิ่มความน่าสนใจให้แก่เส้นทางท่องเที่ยวดังกล่าว
การเผยแพร่ภาพนี้เพื่อแนะนำข้อมูลด้านการค้าและการลงทุนในต่างประเทศ
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2555--