ร้านอาหารไทยในต่างแดนเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีศักยภาพในการขยายตัวสูง เนื่องจากอาหารไทยมีรสชาติดี และอุดมไปด้วยคุณประโยชน์สอดคล้องกับกระแสนิยมบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ส่งผลให้อาหารไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังเดินหน้าสานต่อโครงการ “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพื่อสนับสนุนการเปิดธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศ รวมทั้งให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการผ่านสถาบันการเงินของไทยหลายแห่ง ปัจจัยดังกล่าวจึงเอื้อให้ร้านอาหารไทยจำนวนมากขยายสาขาไปยังหลากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในแถบยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศบ้านใกล้เรือนเคียงของไทยอย่าง สปป.ลาว ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจากปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารไทยสามารถหาได้ไม่ยาก จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น หรือกฎระเบียบการลงทุนที่เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น การจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 จะช่วยให้การดำเนินธุรกิจในอาเซียนมีความเสรีและมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ดังนั้น การขยายธุรกิจภัตตาคารและร้านอาหารไทยไปยัง สปป.ลาว จึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทยทั้งรายใหญ่และ SMEs
ปัจจัยสนับสนุนการเปิดร้านอาหารไทยใน สปป.ลาว
-วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารไทยหาได้ไม่ยาก เนื่องจากโดยทั่วไปอาหารลาวใช้วัตถุดิบที่คล้ายคลึงกับอาหารไทย เช่น ซุปไก่ ซึ่งเป็นอาหารยอดนิยมที่ชาวลาวรับประทานร้อนๆ กับข้าวเหนียว มีส่วนผสมสำคัญคล้ายกับต้มยำของไทย อาทิ สะระแหน่ ตะไคร้ หอมแดง กระเทียม มะนาว และพริก ซึ่งสามารถหาซื้อได้ไม่ยากด้วยพื้นฐานของ สปป.ลาว ที่เป็นประเทศเกษตรกรรม จึงมีการเพาะปลูกพืชผักผลไม้อย่างกว้างขวางแทบทุกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบการไม่สามารถหาวัตถุดิบบางชนิดใน สปป.ลาว สำหรับประกอบอาหารไทยได้ ก็สามารถนำเข้าจากไทยได้อย่างสะดวก เนื่องจากมีพรมแดนติดกันส่งผลให้การขนส่งใช้ระยะเวลาไม่นานนัก และค่าขนส่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ห่างไกลกัน
-รัฐบาล สปป.ลาว สนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ชาวต่างชาติที่มีโครงการลงทุนใน สปป.ลาว จะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งด้านภาษีและมิใช่ภาษี ซึ่งนอกจากจะเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ต้องการไปเปิดร้านอาหารไทยแล้ว ยังดึงดูดให้มีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานใน สปป.ลาว เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนครหลวงเวียงจันทน์ จึงเป็นโอกาสของร้านอาหารไทยในการให้บริการชาวต่างชาติที่มีจำนวนมากขึ้น ทั้งนี้ รัฐบาล สปป.ลาว สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจภัตตาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่แบบครบวงจรที่ได้มาตรฐานสากล แต่ยังสงวนธุรกิจร้านอาหารขนาดเล็กไว้ให้ชาวลาว ดังนั้น นักลงทุนต่างชาติโดยเฉพาะ SMEs ที่ต้องการเข้าไปเปิดร้านอาหารขนาดเล็กใน สปป.ลาว ต้องมีพันธมิตรเป็นคนท้องถิ่น หรือใช้ชื่อของคนท้องถิ่นเป็นเจ้าของทะเบียนวิสาหกิจ
-สปป.ลาว มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมากที่ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง Lao National Tourism Administration ระบุว่าในปี 2553 สปป.ลาว มีจำนวนสถานที่ท่องเที่ยวทั้งหมด 1,493 แห่ง (แบ่งเป็นเชิงธรรมชาติ 849 แห่ง เชิงวัฒนธรรม 435 แห่ง และเชิงประวัติศาสตร์ 209 แห่ง) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมา สปป.ลาว ในปีเดียวกันอยู่ที่ 2.5 ล้านคน (รัฐบาล สปป.ลาว ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 2.8 ล้านคนต่อปีภายในปี 2558) ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนร้านอาหารในบางพื้นที่ โดยเฉพาะเมืองที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ แขวงหลวงพระบาง ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรมองข้ามโอกาสอันดีดังกล่าวในการเข้าไปดำเนินธุรกิจร้านอาหารไทย
-ร้านอาหารไทยเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่อง การเปิดร้านอาหารไทยใน สปป.ลาว จะช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกสินค้าไทยที่เกี่ยวเนื่อง เช่น วัตถุดิบสำหรับประกอบอาหาร เครื่องครัว เครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร และเครื่องประดับตกแต่งร้าน นอกจากนี้ ยังสามารถใช้เป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าไทยประเภทของที่ระลึกต่างๆ อาทิ พวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ผ้าเช็ดหน้า และกระเป๋าใส่เศษสตางค์ เป็นต้น
เกร็ดวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวลาว
อาหารลาวได้รับอิทธิพลจากอาหารหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นไทย ฝรั่งเศส หรือเวียดนาม โดยอาหารที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับอาหารไทย อาทิ ข้าวเหนียว ลาบ และห่อหมกปลา ส่วนอาหารเวียดนาม อาทิ เฝอ มีลักษณะคล้ายก๋วยเตี๋ยว มีทั้งเส้นใหญ่ เส้นเล็ก และบะหมี่ โดยอาจใส่เนื้อหมู เนื้อวัว หรือหมูยอตามชอบ เสิร์ฟพร้อมผักเคียงหลายชนิด หากชอบรับประทานเผ็ดก็สามารถรับประทานกับพริกขี้หนูจิ้มกะปิ และอาจเพิ่มรสเปรี้ยวด้วยมะเขือม่วงดอง หรือมะละกอ อาหารฝรั่งเศส อาทิ แกงจืดไก่ใส่แครอท ซึ่งรับอิทธิพลมาจากซุปน้ำใสของฝรั่งเศส และข้าวจี่หรือขนมปังฝรั่งเศส (Baguette) ซึ่งหาซื้อได้ง่ายมากและราคาไม่แพง โดยชาวลาวนิยมรับประทานเป็นอาหารเช้า คู่กับกาแฟลาว และนิยมนำมาทำอาหารหลายชนิด เช่น แซนด?วิชลาว หรือข้าวจี่ปาเต๊ะ ซึ่งเป็นขนมปังฝรั่งเศสสอดไส?ด้วยตับบด ผักกาดหอม มะละกอดอง หรือผักดองต่างๆ ราดหน้าด้วยซอสพริก ทั้งนี้ ร้านอาหารใน สปป.ลาว นิยมใส่ผงชูรสหรือแป้งนัวปริมาณมากในอาหารหลากหลายชนิด และยังมีกระปุกผงชูรสตั้งบนโต๊ะสำหรับบริการผู้ที่ต้องการเพิ่มรสชาติอาหารอีกด้วย
สำหรับการเปิดร้านอาหารใน สปป.ลาว ผู้ประกอบการควรพิจารณาถึงความเหมาะสมของทำเลที่ตั้ง เนื่องจากพื้นที่ใน สปป.ลาว ที่ค่อนข้างห่างไกลความเจริญหรือไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญอาจมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนน้อย ขณะที่ชาวลาวมีรายได้ค่อนข้างต่ำ ชาวลาววัยทำงานที่อาศัยอยู่ในบริเวณห่างไกลความเจริญจึงไม่นิยมรับประทานอาหารนอกบ้าน และมักนำอาหารจากบ้านไปรับประทานที่ที่ทำงาน
เกร็ดในการทำธุรกิจกับชาวลาว
การทำธุรกิจร้านอาหารใน สปป.ลาว ผู้ประกอบการไทยอาจต้องว่าจ้างแรงงานชาวลาว ดังนั้น เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ ผู้ประกอบการจึงควรศึกษาธรรมเนียมที่สำคัญในการทำธุรกิจกับชาวลาว อาทิ
-นักลงทุนที่เข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ควรเข้าไปในลักษณะของการเป็น “ผู้ให้” เพื่อแสดงให้เห็นว่ามิได้เข้าไปเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ หรือเอารัดเอาเปรียบชาวลาว
-นักลงทุนไทยควรปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของชาวลาว โดยไม่พยายามไปปรับเปลี่ยนวิถีปฏิบัติดั้งเดิม เช่น ช่วงเวลาหยุดพักกลางวันของชาวลาว คือ 12.00-13.00 น. ขณะที่บางหน่วยงานอาจพักกลางวันตั้งแต่ 12.00-14.00 น. เพื่อให้พนักงานกลับไปพักผ่อนหรือทำธุระที่บ้าน ดังนั้น จึงควรจัดสรรการทำงานเป็นกะ เพื่อให้มีคนทำงานตลอดช่วงเวลาที่ร้านอาหารเปิดทำการ
-ชาวลาวให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคลค่อนข้างมาก อาทิ หากมีงานบุญ งานแต่งงาน งานศพ หรืองานของหมู่บ้าน ชาวลาวจะพร้อมใจกันลาไปช่วยงาน
-ชาวลาวไม่ชอบการแบ่งชั้นความเป็นหัวหน้า-ลูกน้อง ดังนั้น นักลงทุนไทยจึงควรให้ความเป็นกันเองกับแรงงานชาวลาว เช่น หากมีโอกาสควรร่วมรับประทานอาหารกับแรงงานชาวลาว เพื่อสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดฉันท์เพื่อนร่วมงาน
ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนธุรกิจร้านอาหารไทยใน สปป.ลาว ควรศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดและรอบคอบก่อนการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการสำรวจตลาด กฎระเบียบด้านการลงทุน หรือธรรมเนียมในการติดต่อธุรกิจใน สปป.ลาว โดยผู้ลงทุนสามารถติดต่อผ่านคณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนภายในและต่างประเทศ (Department for the Promotion and Management of Domestic and Foreign Investment : DDFI) ของ สปป.ลาว เพื่อขอรับเอกสาร และดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ต่อไป ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการไทยมีความจำเป็นต้องร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับชาวลาว ควรศึกษาประวัติ ตลอดจนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของชาวลาวที่จะร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างละเอียดรอบคอบก่อนที่จะตกลงร่วมกันทำธุรกิจ
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2555--