รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: ธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างใน CLMV... โอกาสเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2012 11:38 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ประเทศ CLMV ซึ่งประกอบด้วยกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนามนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพสำหรับธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างของไทย ทั้งที่เข้าไปประมูลงานเพื่อดำเนินการเองและรับเหมาช่วง (Sub-contract) ในโครงการก่อสร้างต่างๆ เนื่องจาก CLMV อยู่ในช่วงเร่งพัฒนาประเทศ ทำให้มีโครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานขนาดใหญ่และด้านพลังงานจำนวนมากตามการพัฒนาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวดี อีกทั้งการแข่งขันในธุรกิจดังกล่าวยังไม่รุนแรงนัก จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะขยายตลาดบริการรับเหมาก่อสร้างในประเทศ CLMV

ปัจจัยสนับสนุนธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างของไทยในประเทศ CLMV

-บริการรับเหมาก่อสร้างเป็นธุรกิจที่ผู้ประกอบการไทยมีศักยภาพสูงจากเทคนิคและความชำนาญทางวิศวกรรม โดยเฉพาะวิศวกรไทยได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถทัดเทียมหรือเหนือกว่าวิศวกรของบางประเทศ และแรงงานไทยมีความชำนาญ ทั้งงานก่อสร้างและงานระบบ ประกอบกับไทยมีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุก่อสร้าง

-เศรษฐกิจประเทศ CLMV มีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเกื้อหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีจะกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุนในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ตามมา ทั้งอาคารสำนักงาน ที่อยู่อาศัย โรงงานอุตสาหกรรม และสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งโครงข่ายถนน ท่าเรือ สนามบิน เป็นต้น

-การเข้าสู่ AEC ปัจจุบันประเทศ CLMV อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นในธุรกิจก่อสร้างได้เต็มจำนวน ขณะที่การเปิดเสรีธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 จะส่งผลให้มีการลดข้อจำกัดเพื่ออำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจบริการก่อสร้าง เช่น วิศวกร และสถาปนิก เป็นต้น ซึ่งจะเกื้อหนุนให้เกิดโอกาสในการดำเนินธุรกิจรับเหมาก่อสร้างใน CLMV ของผู้ประกอบการไทย

-ภูมิประเทศที่ตั้งอยู่ใกล้ไทย CLMV เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีทั้งพรมแดนติดกันและเชื่อมถึงกันกับไทย ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดบริการก่อสร้างไปได้สะดวก โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากการคมนาคมในภูมิภาค ทำให้ประหยัดต้นทุนในการเคลื่อนย้ายแรงงาน เครื่องจักร ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ อีกทั้งการเคลื่อนย้ายแรงงานไทยทำได้สะดวกรวดเร็วกว่าการรับเหมาก่อสร้างในประเทศที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะในภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา

โอกาสสำหรับธุรกิจบริการรับเหมาก่อสร้างของไทยในประเทศ CLMV

กัมพูชา

  • โครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนหลายสาย อาทิ โครงการปรับปรุงถนนวงแหวนในกรุงพนมเปญมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โครงการก่อสร้างและปรับปรุงถนนสาย NR 55 มูลค่า 240 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น และโครงการพัฒนาและขยายท่าเรือหลายแห่ง อาทิ โครงการพัฒนาท่าเรือ Sihanoukville มูลค่า 87.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

สปป.ลาว

-โครงการก่อสร้างและพัฒนาถนนหลายสาย เช่น สายบ้านภูดู่ จ.อุตรดิตถ์-เมืองปากลาย แขวงไซยะบุลี (30 กม.) สายหงสา แขวงไซยะบุลี-เชียงแมน แขวงหลวงพระบาง (120 กม.) และบ้านฮวก จ.พะเยา-เมืองคอบ แขวงไซยะบุลี (175 กม.) รวมทั้งโครงการพัฒนาสนามบินปากเซ แขวงจำปาสัก โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) โครงการพัฒนาระบบน้ำประปา ที่เมืองหลวงพระบาง เป็นต้น

พม่า

  • โครงการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานจำนวนมากเพื่อรองรับปริมาณการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามการเปิดประเทศของรัฐบาลพม่า โดยเฉพาะการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในโครงการทวาย ทั้งท่าเรือน้ำลึกและอู่ซ่อมเรือ ถนน ทางรถไฟ โรงไฟฟ้า โรงแรมและรีสอร์ต เป็นต้น

เวียดนาม

  • โครงการลงทุนภายใต้แผนแม่บทเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การลงทุนด้านการขนส่ง โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างและพัฒนาท่าเรือเพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายโลจิสติกส์ เช่น โครงการก่อสร้างท่าเรือ Van Phong International Transshipment Port ในจังหวัด Khanh Hoa ทางภาคกลางตอนล่างของเวียดนาม และโครงการพัฒนาท่าเรือในจังหวัด Ba Ria-Vung Tau และจังหวัด Hai Phong ซึ่งเป็นท่าเรือสำคัญและเป็นประตูการค้าสู่ภูมิภาคเอเชีย

โอกาสสำหรับธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับบริการรับเหมาก่อสร้างของไทย

การเติบโตของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในประเทศ CLMV จะทำให้มีความต้องการนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างจากต่างประเทศรวมถึงไทย โดยเฉพาะในโครงการที่ผู้ประกอบการไทยประมูลงานได้ ประกอบกับภูมิประเทศของไทยที่ตั้งอยู่ใกล้กับประเทศ CLMV ทำให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศดังกล่าวสะดวกและมีต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่าคู่แข่งบางประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ทั้งนี้ วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างของไทยที่มีศักยภาพขยายตลาดไปประเทศ CLMV และมีมูลค่าส่งออกขยายตัวดี อาทิ เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ปูนซีเมนต์ แร่ยิปซัม สายไฟและสายเคเบิล เครื่องตัดต่อและป้องกันวงจรไฟฟ้า แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤศจิกายน 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ