ทั้งนี้ ศักยภาพของตลาดออสเตรเลียที่ดึงดูดให้ผู้ผลิตสินค้าจากทั่วทุกมุมโลกเข้าไปแสวงหาโอกาสและลู่ทางขยายตลาดในออสเตรเลีย มีดังนี้
คาดการณ์ GDP per Capita ปี 2555 ประเทศ รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี(ดอลลาร์สหรัฐ) ออสเตรเลีย 68,590 สหรัฐฯ 49,845 ญี่ปุ่น 47,318 EU 32,867 ที่มา : Economist Intelligence Unit (EIU)
-เศรษฐกิจออสเตรเลียขยายตัวดีต่อเนื่อง จากข้อมูลของ EIU คาดว่าออสเตรเลียจะมีอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 3.2 ในปี 2555 และคาดว่าจะขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 3.3 ต่อปีในช่วง 2555-2559 ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่องส่งผลให้ชาวออสเตรเลียมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น
-ออสเตรเลียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ด้วยรายได้ต่อคนต่อปี (GDP per Capita) สูงถึง 68,590 ดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2555 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่สูงกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของไทย
-ออสเตรเลียมีชาวเอเชียที่มีกำลังซื้ออยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวจีน อินเดีย และเวียดนามอพยพ อีกทั้งหลายประเทศในแถบเอเชียนิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อในออสเตรเลีย ทั้งนี้ ชาวเอเชียที่อาศัยในออสเตรเลียมีวัฒนธรรมการบริโภคไม่ต่างจากไทยมากนัก จึงเป็นโอกาสส่งออกสินค้าไทยไปออสเตรเลีย โดยเฉพาะสินค้าอาหาร
ตลาดผู้บริโภคในออสเตรเลีย
การศึกษาและทำความเข้าใจถึงโครงสร้างประชากร วิถีการดำเนินชีวิต รสนิยมการบริโภค และการเลือกซื้อสินค้าของชาวออสเตรเลีย จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถวางกลยุทธ์การผลิตและส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในออสเตรเลียได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแนวโน้มตลาดผู้บริโภคในออสเตรเลียมีดังนี้
-หนุ่มสาววัยเริ่มต้นทำงานเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่สำคัญ ชาวออสเตรเลียราวร้อยละ 60 อยู่ในวัยทำงานที่มีกำลังซื้อ (อายุ 20-64 ปี) ในจำนวนนี้ผู้มีอายุระหว่าง 20-39 ปีมีสัดส่วนราวครึ่งหนึ่งของประชากรวัยแรงงานทั้งหมด เป็นที่น่าสังเกตว่าหนุ่มสาววัยเริ่มต้นทำงานชาวออสเตรเลียนิยมสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อนสนิทในช่วงหลังเลิกงาน หรือพบปะกับสมาชิกครอบครัวในวันหยุดสุดสัปดาห์ตามร้านอาหาร โดยร้านอาหารไทยเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในออสเตรเลีย เพราะอาหารไทยมีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีรายการอาหารให้เลือกรับประทานหลากหลาย และมีสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นส่วนประกอบสำคัญเข้ากับกระแสตื่นตัวในการดูแลสุขภาพในปัจจุบัน จึงเอื้อให้เกิดการบริโภคอาหารไทย และเป็นโอกาสต่อเนื่อง ในการส่งออกวัตถุดิบสำหรับใช้ปรุงอาหาร โดยเฉพาะเครื่องปรุงรส อาทิ น้ำปลา ซอสปรุงรสทำจากถั่วเหลือง ซอสหอยนางรม ซอสพริก น้ำพริกเผา น้ำจิ้มไก่ กะทิบรรจุกล่อง และผงปรุงรสสำเร็จรูปชนิดก้อนหรือบรรจุซอง ที่ใช้ปรุงอาหารให้มีรสชาติตามรายการอาหารไทยยอดนิยม อาทิ ผงปรุงรสต้มยำ กะเพรา และพะโล้ เป็นต้น นอกจากนี้ ผลไม้ไทยยังเป็นที่ชื่นชอบในกลุ่มชาวจีนอพยพในออสเตรเลีย และแม้ว่าออสเตรเลียสามารถปลูกผลไม้บางชนิดได้คล้ายคลึงกับไทย แต่ยังมีคุณภาพและรสชาติไม่ดีเท่าผลไม้ไทย จึงเป็นโอกาสส่งออกผลไม้ไทย โดยเฉพาะทุเรียน ส้มโอ มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และมะพร้าวอ่อน
เกร็ดน่ารู้ : ปัจจุบันออสเตรเลียอนุญาตให้นำเข้าผักและผลไม้สำคัญจากไทย แบ่งเป็นผักสด 2 ชนิด ได้แก่ หน่อไม้ฝรั่ง และข้าวโพดอ่อน และผลไม้สด 6 ชนิด ได้แก่ ทุเรียนแกะเปลือก ส้มโอแกะเปลือก มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ และมะพร้าวอ่อน
-ชาวออสเตรเลียอาศัยหนาแน่นในเมืองใหญ่ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิถีการบริโภค เนื่องจากชาวออสเตรเลียส่วนใหระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ โดยเฉพาะ Sydney, Melbourne, Brisbane, Perth และ Adelaide ซึ่งเป็นเมืองธุรกิจและเมืองการศึกษาที่สำคัญ ทำให้ผู้บริโภคชาวออสเตรเลียที่อาศัยอยู่หนาแน่นในพื้นที่ดังกล่าวมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ ผู้บริโภคส่วนหนึ่งจึงหันมาเลือกซื้ออาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) แทนการซื้ออาหารสดไปประกอบอาหารรับประทานที่บ้าน โดยเฉพาะปลาทูน่ากระป๋องพร้อมรับประทาน ที่ปรุงรสชาติตามรายการอาหารไทย เช่น มัสมั่นทูน่า ทูน่าผัดพริก และแกงเขียวหวานทูน่า นอกจากนี้ การที่ชาวออสเตรเลียหันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น จึงหันมาดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมพิเศษ (Functional Drink) เช่น เครื่องดื่มที่มีโปรตีนเป็นส่วนผสม เพื่อบำรุงร่างกายแทนการดื่มน้ำอัดลมที่มีน้ำตาลสูงเป็นส่วนผสม ขณะที่ปัจจุบันสินค้าประเภทดังกล่าวหลายรายการของไทยมีการพัฒนามากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีในการเจาะตลาดสินค้าดังกล่าว
เกร็ดน่ารู้ : ปัจจุบันผู้บริโภคชาวออสเตรเลียที่มีรูปแบบการใช้ชีวิตเร่งรีบในเมืองใหญ่และหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพมากขึ้น นิยมมองหาคำว่า “Microwaveable, Quick หรือ Low Fat” บนซอง/กล่อง/หีบห่ออาหารปรุงสุกพร้อมรับประทาน ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า
เครื่องประดับที่กำลังได้รับความนิยมในออสเตรเลีย
-ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวดี ทั้งนี้ Euromonitor คาดว่ายอดจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับของออสเตรเลียจะมีมูลค่าราว 1.28 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2555 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแตะระดับ 1.33 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลียในปี 2557 ด้วยแรงหนุนสำคัญจากเศรษฐกิจของออสเตรเลียที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำให้ชาวออสเตรเลียมีกำลังซื้อและใช้จ่ายเงินส่วนหนึ่งสำหรับการซื้ออัญมณีและเครื่องประดับ อีกทั้งสุภาพสตรีชาวออสเตรเลียมีค่านิยมสวมใส่อัญมณีและเครื่องประดับเป็นเรื่องปกติ เพื่อเสริมบุคลิกภาพ มากกว่ามองเป็นสินค้าฟุ่มเฟือยและมักเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับเป็นรางวัลให้กับการทุ่มเททำงานหนัก ทำให้ยอดจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับของออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งนี้ ชาวออสเตรเลียมีรสนิยมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ออกแบบชิ้นงานให้สามารถสวมใส่ได้หลากหลายโอกาส เช่น สามารถใส่เข้ากับชุดทำงาน หรือใช้สวมใส่ได้กับชุดลำลอง
-ความต้องการชิ้นส่วนรถยนต์ในออสเตรเลียมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง เนื่องจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ในออสเตรเลียยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนป้อนได้ทันกับการขยายตัวของตลาด ทำให้ออสเตรเลียต้องพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนเป็นหลัก และมีแนวโน้มนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี สังเกตได้จากมูลค่านำเข้าชิ้นส่วนในช่วงปี 2550-2554 เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ต่อปี อีกทั้งออสเตรเลียมีพื้นที่กว้างขวาง มีทั้งส่วนที่เป็นภูเขาและพื้นที่ทุรกันดารในเขตทะเลทราย ทำให้อายุการใช้งานของรถยนต์สั้นลง และจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนบ่อยครั้งขึ้น ทั้งนี้ การที่ชาวออสเตรเลียเลือกซื้อชิ้นส่วนโดยคำนึงถึงคุณภาพ ความคงทน และความคุ้มค่าเป็นเกณฑ์ตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อใช้เป็นอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing : REM) โดยเฉพาะระบบเบรก เกียร์รถยนต์ ยางล้อรถยนต์ แบตเตอรี่ อุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ ไปออสเตรเลียเพิ่มขึ้น
-ชาวออสเตรเลียตื่นตัวกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผลให้ชาวออสเตรเลียหันมาเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ผ่านการผลิตด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-Friendly) โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และตู้แช่แข็ง ตู้แช่ไวน์ ที่ใช้สารทำความเย็นที่ไม่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนในกระบวนการผลิต อาทิ Non CFC R410 และ Non CFC R407 ทดแทนสาร CFC และนิยมรุ่นที่ติดตั้งเทคโนโลยีที่มีส่วนช่วยประหยัดการใช้กระแสไฟฟ้า
-ชาวออสเตรเลียนิยมเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ โดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต Woolworths และ Coles เนื่องจากเป็นศูนย์รวมสินค้าอาหารสด อาหารแช่เย็นแช่แข็ง ผัก ผลไม้ และสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน และมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศ ขณะที่นิยมเลือกซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ BigW, Target และ Kmart เพราะเป็นที่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าหลากหลายแบรนด์ที่มีชื่อเสียง สามารถเปรียบเทียบราคาและคุณภาพได้ง่าย ดังนั้น การกระจายสินค้าผ่านซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ต่างๆ ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าได้ระดับหนึ่ง
-ชาวออสเตรเลียนิยมเลือกซื้อสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดย IBISWorld (บริษัทวิจัยด้านการตลาดที่มีชื่อเสียงของโลก) คาดว่ายอดจำหน่ายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ตของออสเตรเลียจะพุ่งแตะระดับ 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เพิ่มขึ้นร้อยละ 28 เทียบกับปี 2552 ตามการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้อินเทอร์เน็ต ทำให้การสั่งซื้อสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น เพราะสะดวก สามารถสั่งซื้อสินค้าได้จากที่บ้านหรือที่ทำงาน เปรียบเทียบราคาสินค้าได้ง่าย และทราบถึงความคิดเห็นของผู้ที่เคยซื้อสินค้าไปทดลองใช้ก่อนหน้า ดังนั้น การมีเว็บไซต์ร้านจำหน่ายสินค้าและการโฆษณาสินค้าผ่านทางอินเทอร์เน็ตจึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการจำหน่ายสินค้าที่เข้าถึงผู้บริโภคชาวออสเตรเลียได้แพร่หลายมากขึ้น
แม้ตลาดออสเตรเลียจะเป็นโอกาสของสินค้าส่งออกของไทยหลายชนิด แต่ก็มีอุปสรรคและข้อจำกัดสำคัญอยู่พอสมควร อาทิ ออสเตรเลียเข้มงวดกับการตรวจสอบสินค้านำเข้า โดยเฉพาะผักและผลไม้นำเข้า ซึ่งต้องผ่านการตรวจมาตรฐานสุขอนามัย (Bio Security Quarantine Measures) อย่างเข้มงวด อีกทั้งเมืองสำคัญที่เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้ามีระยะทางห่างกัน เนื่องจากออสเตรเลียมีพื้นที่กว้างใหญ่ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งและจำหน่ายสินค้าที่เน่าเสียง่าย ทำให้ผู้ส่งออกต้องเผชิญกับต้นทุนค่าขนส่งในระดับสูง นอกจากนี้ ออสเตรเลียยังมีการรณรงค์ให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศ (Australian Made) โดยเฉพาะสินค้าเกษตรจำพวกผักและผลไม้ที่ผลิตได้ในท้องถิ่น ดังนั้น ผู้ที่เริ่มเข้าสู่ตลาดออสเตรเลียจึงควรมีการวางแผนการผลิตและส่งออกอย่างเป็นระบบ เพื่อเตรียมความพร้อมและลดความเสี่ยงในการทำธุรกิจในตลาดแห่งนี้
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธันวาคม 2555--