เก็บตกจากต่างแดน: การติดต่อธุรกิจกับชาวเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2013 14:25 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เวียดนามเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างโดดเด่น โดยมีอัตราขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่องมาหลายปี แม้ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะถดถอย อีกทั้งเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรสูงถึง 90 ล้านคน มากเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน รองจากอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ในด้านการค้าเวียดนามถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย โดยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 9 ด้วยมูลค่าส่งออกกว่า 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2555 ขณะเดียวกันในด้านการลงทุนเวียดนามก็เป็นตัวเลือกอันดับแรกๆ ของนักลงทุนทั้งจากไทยและประเทศอื่นๆ ที่ต้องการขยายการลงทุนมายังอาเซียน จากการที่เวียดนามมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเวียดนามได้รับสิทธิพิเศษทางการค้า อาทิ GSP จากประเทศต่างๆ และ FTAs ที่เวียดนามทำกับหลายประเทศ จึงเป็นปัจจัยที่ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้เป็นอย่างดี

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำการค้า หรือเข้าไปลงทุนในเวียดนาม นอกเหนือจากการศึกษาตลาดและกฎระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังควรเรียนรู้เกี่ยวกับธรรมเนียมปฏิบัติของชาวเวียดนาม ตลอดจนการทำความเข้าใจถึงบุคลิกและอุปนิสัยของชาวเวียดนาม เพื่อให้การติดต่อธุรกิจเป็นไปอย่างราบรื่นและประสบความสำเร็จ

ธรรมเนียมน่ารู้และข้อควรทราบในการติดต่อธุรกิจกับชาวเวียดนาม

-การแลกเปลี่ยนนามบัตรเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการทำธุรกิจในเวียดนาม ผู้ประกอบการควรพกนามบัตรจำนวนมากติดตัวไว้เสมอ เนื่องจากผู้ประกอบการชาวเวียดนามนิยมแลกเปลี่ยนนามบัตร การแลกนามบัตรควรใช้มือทั้ง 2 ข้างยื่นหรือรับนามบัตรจากคู่เจรจา และอาจค้อมศีรษะเล็กน้อยเพื่อเป็นการให้เกียรติ เมื่อรับนามบัตรมาแล้วควรอ่านนามบัตรอย่างใส่ใจไม่ควรเก็บนามบัตรทันที

-การเลี้ยงน้ำชาในการพบปะกันชาวเวียดนามมักต้อนรับด้วยการเลี้ยงน้ำชา และบางครั้งอาจเสิร์ฟพร้อมของว่างเล็กๆ น้อยๆ ท่านไม่ควรปฏิเสธเพราะถือว่าไม่สุภาพ อย่างน้อยควรดื่มชาหรือลองชิมของว่างดูสักเล็กน้อย

-งานเลี้ยงรับประทานอาหาร โดยปกติชาวเวียดนามใช้ตะเกียบในการรับประทานอาหาร พร้อมถือชามข้าวไว้ในมืออีกข้างหนึ่ง การรับประทานโดยวางชามข้าวไว้บนโต๊ะแสดงถึงความขี้เกียจ ทั้งนี้ หากต้องส่งจานอาหารให้แก่กันควรใช้ทั้งสองมือประคองจาน

-การมอบของขวัญ ของขวัญที่มอบแก่ชาวเวียดนาม ควรเป็นของที่มีมูลค่าไม่สูงนัก อาทิ ขนม ของหวาน ผลไม้ หรือของใช้ทั่วไปในชีวิตประจำวันอย่างเครื่องสำอาง โคมไฟ และกรอบรูป เพื่อมิให้ถูกมองว่าเป็นการติดสินบน นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจเลือกซื้อของฝากจากประเทศไทยหรือนำของที่ติดตราบริษัทของท่านไปมอบให้เป็นของขวัญ ทั้งนี้ ควรห่อของขวัญด้วยกระดาษสีสดใสและไม่ควรมอบของขวัญเป็นผ้าเช็ดหน้า ของที่มีสีดำ ดอกไม้สีเหลือง โดยเฉพาะดอกเบญจมาศ ซึ่งสื่อถึงงานศพหรือวัตถุมีคมจำพวกมีด กรรไกร ซึ่งสื่อถึงการตัดความสัมพันธ์ ทั้งนี้ หากได้รับเชิญไปที่บ้านของชาวเวียดนาม นอกจากของขวัญสำหรับเจ้าบ้านแล้ว หากเตรียมของขวัญสำหรับเด็กๆ หรือผู้ใหญ่ในบ้านด้วยจะช่วยสร้างความประทับใจมากขึ้น

-ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเป็นองค์ประกอบสำคัญในการตัดสินใจทำธุรกิจของชาวเวียดนาม ผู้ประกอบการที่สนใจค้าขายกับชาวเวียดนามจึงจำเป็นต้องใช้เวลาระยะหนึ่งเพื่อสร้างความสัมพันธ์หรือสร้างความไว้วางใจก่อนที่จะเจรจาการค้าหรือตกลงร่วมทำธุรกิจกัน โดยส่วนใหญ่การพบกันในครั้งแรกๆ มักเน้นไปที่การทำความรู้จักกันเป็นหลัก หลังจากทำความรู้จักกันแล้ว ผู้ประกอบการควรไปพบปะคู่ค้าชาวเวียดนามเพื่อติดต่อเจรจาการค้าหรือเสนอขายสินค้าด้วยตนเอง จากนั้นอาจไปเยี่ยมเยียนเป็นครั้งคราว รวมถึงโทรศัพท์ ส่งอีเมลถึงกันตามความเหมาะสม การเดินทางไปเจรจาธุรกิจเพียงครั้งเดียวโดยไม่มีการติดต่อกันอย่างต่อเนื่องในภายหลัง มักไม่ประสบผลสำเร็จในการเจรจาซื้อขาย ขณะเดียวกัน การพยายามติดต่อธุรกิจกับชาวเวียดนามทางโทรศัพท์หรืออีเมลตั้งแต่แรก โดยไม่มีการพบปะกันก็มักไม่ประสบผลสำเร็จเช่นกัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรติดต่อนัดหมายวันเวลาที่จะเข้าพบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนวันนัดหมาย

-ชาวเวียดนามคุ้นเคยกับความสัมพันธ์แบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ดังนั้นแม้ชาวเวียดนามจะไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่คู่เจรจาเสนอแต่จะไม่ปฏิเสธหรือแสดงความเห็นแย้ง เนื่องจากเห็นว่าอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกเสียหน้า จึงใช้วิธีนิ่งเงียบแทน หรือในบางกรณี การตอบรับ (Yes) หรือพูดว่า “ไม่มีปัญหา” ก็อาจเป็นเพียงการตอบเพื่อถนอมน้ำใจอีกฝ่ายมากกว่า ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องพึงระลึกเสมอว่าการที่ชาวเวียดนามพยักหน้าหรือตอบรับในระหว่างการเจรจาอาจมิได้หมายความว่ายอมรับเสมอไป

-การดำเนินธุรกิจของชาวเวียดนามมักยึดการตัดสินใจของเสียงส่วนใหญ่ในองค์กรเป็นหลัก หรืออาจกล่าวได้ว่า ไม่มีผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการตัดสินใจเพียงคนเดียว การทำข้อตกลงหรือดำเนินการในเรื่องสำคัญมักต้องอาศัยการตัดสินใจของคณะกรรมการ และหากคณะกรรมการหรือที่ประชุมมีความเห็นไม่ตรงกันแม้เพียงเล็กน้อยก็ต้องพยายามหาข้อยุติที่ทุกฝ่ายพอใจ ทำให้การตัดสินใจบางเรื่องใช้เวลานาน และอาจมีการเปลี่ยนแปลงจากที่เคยตกลงกับคู่เจรจาไว้ก่อนหน้า

-ผู้ประกอบการเวียดนามที่มีความเชี่ยวชาญอาจทำธุรกิจหลายประเภทพร้อมกัน เช่น บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการนำเข้าและกระจายสินค้าอาหาร อาจลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และเป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ด้วย จึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทนั้นจะให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ทำกำไรหรือก่อให้เกิดรายได้สูงกว่า และลดหรือหยุดการทำธุรกิจที่มีกำไรน้อย ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงหนึ่งของผู้ประกอบการไทยที่ดำเนินธุรกิจกับชาวเวียดนามที่ดำเนินธุรกิจหลายอย่างพร้อมๆ กัน

-ผู้นำเข้าชาวเวียดนามมักปฏิบัติตามแบบพิธีการนำเข้าเดิมๆ ที่เคยปฏิบัติมาเป็นหลัก จึงอาจขาดการติดตามระเบียบการนำเข้าใหม่ๆ ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการนำเข้าที่อาจจะเกิดขึ้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดตามการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่างๆ ของเวียดนามด้วยเช่นกัน

"...สำนักยุทธศาสตร์และนโยบายการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแนะนำว่า ผู้ประกอบการไทยที่เข้าไปลงทุนทำธุรกิจในเวียดนามควรเจรจาขอให้ชำระค่าสินค้าเป็นเงินสด เพราะการติดตามหนี้ในเวียดนามทำได้ยาก การดำเนินคดีมีขั้นตอนยุ่งยากและมีค่าใช้จ่ายสูง แต่หากสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จักและต้องการเปิดตลาด อาจต้องยอมให้เครดิตแก่ผู้ซื้อ และพยายามจำกัดวงเงิน เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับชำระค่าสินค้า..."

แม้ชาวเวียดนามมีบุคลิกหรือลักษณะนิสัยบางอย่างต่างจากคนไทย แต่การเปิดใจที่จะเรียนรู้ ทำความเข้าใจและยอมรับซึ่งกันและกัน จะช่วยให้การติดต่อธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น ซึ่งจะส่งผลต่อความสำเร็จของการติดต่อธุรกิจกับชาวเวียดนาม

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กุมภาพันธ์ 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ