แม่สอด-เมียวดี....พื้นที่เศรษฐกิจใหม่ชายแดนไทย-พม่า

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 18, 2013 14:26 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ไทยและพม่ามีความสัมพันธ์มายาวนานทั้งในด้านประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการมีพรมแดนติดต่อกันเป็นระยะทางถึง 2,401 กิโลเมตร เอื้อประโยชน์อย่างยิ่งต่อการค้าระหว่างกันตามแนวชายแดน ดังเห็นได้จากมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าปี 2555 มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 85 ของมูลค่าการค้า

ระหว่างกันทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นมูลค่าการค้าที่ด่านศุลกากรสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 60 ของมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเฉพาะการส่งออก พบว่ามูลค่าส่งออกสินค้าจากไทยไปพม่าสูงสุดอยู่ที่ด่านศุลกากรแม่สอด จ.ตาก ซึ่งเชื่อมกับเมืองเมียวดีของพม่า มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 55 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปพม่าผ่านด่านการค้าชายแดนระหว่างกันทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการค้าชายแดนในพื้นที่ดังกล่าว

ทั้งนี้ เมืองเมียวดีอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง มีพรมแดนติดกับ อ.แม่สอด จ.ตาก มีแม่น้ำเมยเป็นเขตกั้น และมีสะพานมิตรภาพไทย-พม่า เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าระหว่างกัน ทำเลที่ตั้งของเมืองเมียวดีอยู่ใกล้ เมืองเศรษฐกิจสำคัญของพม่า อาทิ เมืองย่างกุ้ง และเมืองเมาะละแหม่ง อีกทั้งยังอยู่บนเส้นทางเศรษฐกิจ ตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Ecmic Ci : EWEC) ซึ่งเชื่อมต่อไปจนจรดชายฝั่งเวียดนาม ที่เมืองดานัง จึงมีศักยภาพในการเป็นประตูการค้าเชื่อมคาบสมุทรอินโดจีนสู่ภูมิภาคเอเชียใต้และยุโรป ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้เมืองเมียวดีเป็นจุดกระจายสินค้าสำคัญของไทยในพม่า รัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่าจึงมีแนวคิดที่สอดคล้องกันในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนบริเวณดังกล่าวให้เป็นเมืองคู่แฝดเพื่อกระตุ้นการค้าการลงทุนระหว่างกัน

ความคืบหน้าการพัฒนาเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี

เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2554 รัฐบาลพม่าได้จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีขึ้น นับเป็นหนึ่งในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 19 แห่ง ซึ่งรัฐบาลพม่ามีแผนจะจัดตั้งให้ครอบคลุมทั้งประเทศภายในปี 2558 ทั้งนี้ รัฐบาลพม่าให้สัมปทานการพัฒนาพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีขนาด 466 เอเคอร์ หรือราว 1,165 ไร่ ระยะเวลาสัมปทาน 30 ปี แก่บริษัทเอกชน 5 บริษัท ได้แก่ บริษัท Asia Wealth บริษัท Ee Cstucti บริษัท Nwe Si Cstucti บริษัท Shwe Naa Mi Cstucti และ

บริษัท Lah Cstucti ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษดังกล่าวประกอบด้วยศูนย์บริการด้านศุลกากร แบบ Oe Stp Sevice เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการส่งออกและนำเข้าสินค้าระหว่างไทยกับพม่า คลังสินค้า และอาคารพาณิชย์ รวมทั้งได้เตรียมพื้นที่สำหรับจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเมียวดี และพื้นที่สำหรับก่อสร้างโรงแรม และที่พักอาศัย เพื่อรองรับการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว ซึ่งคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลพม่ากำลังปรับปรุงเส้นทางคมนาคมในช่วงแม่สอด-เมียวดี ไปยังเชิงเขาตะนาวศรี ระยะทาง 45 กิโลเมตร มูลค่าเงินลงทุน 1.14 พันล้านบาท โดยบริษัท สี่แสงการโยธา (1979) จำกัด ของไทย ได้รับสัมปทานโครงการรับเหมาก่อสร้างเส้นทางดังกล่าว ซึ่งหากพัฒนาแล้วเสร็จ จะทำให้สามารถเดินทางจากเมืองเมียวดี ผ่านเมืองเมาะละแหม่ง ไปยังเมืองย่างกุ้ง (ระยะทาง 450 กิโลเมตร) ได้ภายใน 1 วัน จากปัจจุบันที่ยังมีการจัดการเดินรถแบบสลับวันเว้นวัน

ในส่วนของการดำเนินงานของฝ่ายไทยนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ศึกษาและจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมกับเมืองคู่แฝดของประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผลการศึกษาระบุว่าเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายคู่กับเมืองคู่แฝด จ.มุกดาหาร-แขวงสะหวันนะเขต สปป.ลาว และได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมร่วมระหว่างเมืองคู่แฝดดังกล่าว โดยเน้นการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ การพัฒนาปัจจัยการผลิตและการเชื่อมโยงฐานการผลิตอุตสาหกรรมเป้าหมายระหว่างเมืองคู่แฝด การพัฒนากฎระเบียบและสิทธิประโยชน์ให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารจัดการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2556 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เข้าไปศึกษาสภาพพื้นที่ 5,603 ไร่ บริเวณ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้สงวนพื้นที่ดังกล่าวไว้สำหรับการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 รวมทั้งจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในอนาคต ทั้งนี้ หากการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด และการพัฒนาเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี มีความก้าวหน้ามากขึ้น จะเป็นโอกาสของไทยในการใช้ปัจจัยการผลิตราคาถูกจากพม่าเพื่อผลิตสินค้า และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการแปรรูป เพื่อส่งสินค้ากลับไปขายในพม่าและประเทศอื่นๆ ต่อไป

โอกาสทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย

หากการพัฒนาเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี แล้วเสร็จ จะมีส่วนช่วยกระตุ้นมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าให้เพิ่มขึ้นอีกมาก ดังเห็นได้จากกระแสตื่นตัวของนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มเข้าไปศึกษาโอกาสทางการค้าและการลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งเริ่มมีการซื้อที่ดินในเมืองแม่สอดมากขึ้นเป็นลำดับ ส่งผลให้ราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้น นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมามีการเข้าไปลงทุนก่อสร้างโรงแรมและที่พัก ในเมืองแม่สอดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรงแรมระดับ 3-4 ดาว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ราว 20-30 แห่ง อัตราค่าที่พักอยู่ที่ราว 350-700 บาทต่อคืน เพื่อรองรับนักลงทุนและนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างการจ้างงานและกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้คึกคักมากขึ้น ขณะที่หอการค้า จ.ตาก คาดว่าหลังจากก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Ecmic Cmmuity : AEC) ในปี 2558 มูลค่าการค้าชายแดนบริเวณด่านการค้าชายแดนแม่สอด-เมียวดี จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี (จากปัจจุบันที่ระดับ 39,000 ล้านบาทต่อปี) สำหรับสินค้าไทยที่มีโอกาสขยายการส่งออกผ่านด่านชายแดนดังกล่าว

ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภท อาทิ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และสบู่ เป็นต้น ซึ่งชาวพม่าถือว่าสินค้าไทยเป็นสินค้ามีคุณภาพ นอกจากนี้ ยังนับเป็นโอกาสในการขยายตลาดวัสดุก่อสร้าง เพื่อรองรับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานตามแนวชายแดน และการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนเมียวดีขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาสใช้ปัจจัยการผลิตราคาถูกจากพม่า โดยเฉพาะสินแร่และวัตถุดิบทางการเกษตร รวมถึงการจ้างแรงงาน เพื่อผลิตและแปรรูปสินค้า ซึ่งจะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตลงได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาเมืองคู่แฝดแม่สอด-เมียวดี ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น โดยเฉพาะการพัฒนา เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดของไทยยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ซึ่งในเบื้องต้นผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญความไม่พร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานต่างๆ นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่า และความเสี่ยงจากการปิดด่านการค้าชายแดน ก็เป็นปัจจัยพึงระวังและควรนำมาพิจารณาควบคู่กันไป เพื่อลดความเสี่ยง

และช่วยให้การทำการค้าการลงทุนกับพม่าประสบผลสำเร็จมากที่สุด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ