ถนนสู่ AEC: แปรรูปผลไม้...โอกาสของธุรกิจเกษตรแปรรูปไทยในเวียดนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 14:00 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านเกษตรกรรม ด้วยสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เอื้อต่อการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจหลายประเภท ประกอบกับรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนภาคเกษตรกรรมอย่างจริงจัง และมีการปฏิรูปภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เวียดนามสามารถก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกผลผลิตทางการเกษตรรายใหญ่ของโลกได้หลายรายการ ทั้งนี้ ผลผลิตทางการเกษตรของเวียดนามส่วนใหญ่คล้ายคลึงกับไทย ทำให้เวียดนามและไทยเป็นทั้งคู่ค้าและคู่แข่งในตลาดโลก แต่ทั้งสองประเทศมีการขยายความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในเวียดนาม โดยอาศัยปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ อาทิ อัตราค่าจ้างแรงงานที่ค่อนข้างต่ำ และสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (Generalized System of Preferences : GSP) ที่เวียดนามได้รับจากประเทศคู่ค้าสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เป็นต้น ขณะที่นักลงทุนไทยมีความสามารถด้านการแปรรูปสินค้าเกษตรเป็นอย่างดี และมีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง รวมถึงมีการจัดการด้านการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

ปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปในเวียดนาม

-ภาคเกษตรกรรมของเวียดนามได้รับการพัฒนาจนมีประสิทธิภาพมากขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการที่รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนให้มีการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรของประเทศ รวมทั้งเร่งยกระดับคุณภาพการผลิตให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ สะท้อนได้จากมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรของเวียดนามที่ขยายตัวแบบก้าวกระโดดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จาก 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2545 เป็น 27.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555

-เวียดนามก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ของโลกหลายรายการ แม้ว่าในปี 2555 เวียดนามเผชิญปัญหารุมเร้ารอบด้านจนฉุดรั้งให้เศรษฐกิจขยายตัวต่ำสุดในรอบ 13 ปี แต่ศักยภาพในภาคเกษตรกรรมกลับเพิ่มสูงขึ้น สะท้อนได้จากเวียดนามสามารถก้าวแซงหน้าบราซิลขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกกาแฟ Robusta รายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และก้าวแซงหน้าไทยขึ้นเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก รองจากอินเดีย อีกทั้งยังก้าวแซงหน้ามาเลเซียขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากไทยและอินเดีย ขณะเดียวกันเวียดนามยังสามารถรักษาสถานะการเป็นประเทศผู้ส่งออกพริกไทยและเม็ดมะม่วงหิมพานต์รายใหญ่อันดับ 1 ของโลกไว้ได้อย่างเหนียวแน่น

-ความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปในเวียดนามเพิ่มสูงขึ้น เวียดนามเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพด้วยจำนวนประชากรราว 90 ล้านคน ขณะที่ความต้องการสินค้าอาหารแปรรูปเพิ่มสูงขึ้นตามพฤติกรรมและรสนิยมการบริโภคของชาวเวียดนามที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งปัจจุบันชาวเวียดนามมีวิถีชีวิตแบบเมืองมากขึ้นและเต็มไปด้วยความเร่งรีบ อีกทั้งประชากรส่วนใหญ่อายุน้อยและมักให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นให้มีการใช้วัตถุดิบอาหารแปรรูปในการประกอบอาหารมากขึ้น ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประมาณการว่าอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปประเภทผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องมีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10 ต่อปีในช่วงปี 2554-2558 ขณะที่อุตสาหกรรมอาหารแปรรูปประเภทพร้อมรับประทาน (Ready-to-eat) มีแนวโน้มขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 9 ต่อปีในช่วงเดียวกัน

-เวียดนามมีแนวโน้มพัฒนาเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในอนาคต หลังจากบริษัทต่างชาติขนาดใหญ่หลายแห่งโดยเฉพาะบริษัทผลิตอาหารแปรรูปจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ อาทิ บริษัท Acecook บริษัท Lotte บริษัท Kyoei Food บริษัท Meiji บริษัท Nittofuji และบริษัท Nissui เข้ามาลงทุนในเวียดนาม โดยการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม นครโฮจิมินห์ และจังหวัดดานัง

แปรรูปผลไม้...โอกาสทางธุรกิจของนักลงทุนไทย

ในบรรดาธุรกิจเกษตรแปรรูปที่นักลงทุนไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปลงทุนในเวียดนาม ธุรกิจแปรรูปผลไม้นับเป็นธุรกิจหนึ่งที่เป็นโอกาสของนักลงทุนไทย ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

-โรงงานแปรรูปผลไม้ในเวียดนามยังมีไม่มาก ปัจจุบันเวียดนามมีโรงงานแปรรูปผลไม้ราว 50-60 แห่ง มีกำลังการผลิตราว 3 แสนตันต่อปี โรงงานส่วนใหญ่อยู่ระหว่างการพัฒนากระบวนการผลิต อีกทั้งผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ยังขาดความหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์ประเภทผลไม้กระป๋องและผลไม้อบแห้ง ขณะที่บริษัทที่ครองส่วนแบ่งตลาดสูงที่สุดในธุรกิจผลไม้แปรรูปในเวียดนาม คือ บริษัท Vinamit ซึ่งเป็นบริษัทผลิตผลไม้อบแห้งรายใหญ่ของเวียดนาม

-โรงงานแปรรูปผลไม้ขาดแคลนวัตถุดิบที่มีคุณภาพ ผลไม้ที่ผลิตได้ในเวียดนามส่วนใหญ่ถูกส่งจำหน่ายในรูปผลไม้สด ขณะที่ส่งเข้าโรงงานแปรรูปเพียงร้อยละ 10-15 ของผลไม้ที่ผลิตได้ทั้งหมด ซึ่งผลไม้ที่นำมาแปรรูปมักมีคุณภาพไม่ดีนัก จึงส่งผลต่อคุณภาพของผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูปด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนไทยสามารถใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ซึ่งจะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและวัตถุดิบระหว่างไทยและเวียดนามปราศจากภาษีศุลกากร ซึ่งรวมถึงการนำเข้าผลไม้สดคุณภาพดีจากไทย อาทิ ทุเรียน มะม่วง มังคุด และลำไย มาแปรรูปในเวียดนาม ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าในปี 2555 เวียดนามเป็นตลาดส่งออกผลไม้สดรายใหญ่อันดับ 4 ของไทย รองจากจีน ฮ่องกง และอินโดนีเซีย ด้วยมูลค่า 76 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 160 จากปี 2554 สะท้อนให้เห็นว่าผลไม้สดของไทยเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดเวียดนาม สำหรับผลไม้อบแห้ง เวียดนามเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยมูลค่าส่งออกขยายตัวแบบก้าวกระโดดถึงกว่า 10 เท่าตัวในปี 2555 สะท้อนถึงโอกาสการทำธุรกิจผลไม้อบแห้งในเวียดนามยังเปิดกว้าง เนื่องจากเวียดนามยังมีความต้องการนำเข้าอยู่มาก

-การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปเวียดนามมีความสะดวกมากขึ้น นอกจากเส้นทางขนส่งทางอากาศและเส้นทางขนส่งทางน้ำ การขนส่งผลไม้สดจากไทยไปเวียดนามสามารถใช้เส้นทาง R12 [กรุงเทพฯ-นครพนม-ท่าแขก (สปป.ลาว)-Na Phao (เวียดนาม)-Cha Lo-Vinh-ฮานอย] ซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งทางบกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ เนื่องจากมีระยะทางสั้นกว่าและมีต้นทุนค่าขนส่งถูกกว่าเส้นทางขนส่งทางบกอื่นๆ ทั้งนี้ เส้นทาง R12 มีระยะทาง 1,383 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงกรุงฮานอยราว 30 ชั่วโมง

-เวียดนามมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลไม้ของอาเซียน ด้วยศักยภาพในหลายด้าน ทำให้ปัจจุบันเวียดนามกลายเป็นตลาดเป้าหมายที่ได้รับการส่งเสริมให้เป็นแหล่งกระจายสินค้าเกษตรของไทยโดยเฉพาะผลไม้ อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ที่เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการแปรรูปผลไม้เพื่อส่งไปจำหน่ายในตลาดโลก หลังจากกลุ่มนักลงทุนจากภาคตะวันออกของไทยเตรียมเข้าไปร่วมทุนกับพันธมิตรในเวียดนามในโครงการก่อสร้างห้องเย็นแช่เยือกแข็งผลไม้ขนาด 1 หมื่นตัน มูลค่าเงินลงทุนราว 1 พันล้านบาท โดยโครงการดังกล่าวจะตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมผลไม้สดทั้งจากไทย กัมพูชา และเวียดนาม ก่อนนำไปแปรรูปเป็นผลไม้แช่แข็งส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลก

ทั้งนี้ โอกาสในการลงทุนในอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปโดยเฉพาะในธุรกิจผลไม้แปรรูปในเวียดนามยังเปิดกว้างอยู่มาก นักลงทุนไทยที่มีศักยภาพด้านการแปรรูปผลไม้สามารถเข้าไปลงทุนในเวียดนามได้ทั้งรูปแบบเป็นเจ้าของกิจการทั้งหมดและกิจการร่วมทุน โดยสามารถลงทุนได้แบบครบวงจรทั้งห่วงโซ่การผลิต นอกจากนี้ การก้าวสู่ AEC ในปี 2558 จะทำให้นักลงทุนไทยได้ประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบจากไทยไปเวียดนามโดยไม่ต้องเสียภาษี อีกทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์จากการที่เวียดนามได้สิทธิ GSP จากสหภาพยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นแต้มต่อสำคัญที่นักลงทุนไทยได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่ง

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มีนาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ