เก็บตกจากต่างแดน:พฤติกรรมผู้บริโภค

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 30, 2013 15:43 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

สปป.ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์และการค้ากับไทยมายาวนาน โดยเฉพาะด้านการค้าที่ทวีความสำคัญขึ้นเป็นลำดับ ปัจจุบัน สปป.ลาว เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทยในกลุ่มประเทศอาเซียนใหม่ (เวียดนาม กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า) ด้วยมูลค่าส่งออกของไทยไป สปป.ลาว ที่พุ่งแตะระดับ 3.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2555 ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25 ต่อปีในช่วงปี 2550-2555 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญ ดังนี้
  • เศรษฐกิจของ สปป.ลาว ขยายตัวดีต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 7.8 ต่อปีในช่วงปี 2550-2555 และเฉลี่ยร้อยละ 8.2 ต่อปีในช่วงปี 2556-2557 ทั้งนี้ เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่องทำให้ชาวลาวมีรายได้สูงขึ้น ขณะที่การผลิตสินค้าใน สปป.ลาว ยังมีไม่เพียงพอต่อความต้องการที่ขยายตัวสูง จึงเป็นโอกาสของไทยในการเจาะตลาดสินค้าใน สปป.ลาว
  • สปป.ลาว เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทย เป็นระยะทางราว 1,800 กิโลเมตร จังหวัดชายแดนของไทยตั้งแต่ภาคเหนือ
จรดภาคอีสานตอนล่างที่มีเขตแดนติดต่อกับ สปป.ลาว มีถึง 12 จังหวัด จึงเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านทางการค้าชายแดน โดยมีการค้าผ่านจุดผ่านแดนถาวรสำคัญ อาทิ ด่าน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ด่าน อ.ท่าลี่ จ.เลย ด่านท่าเสด็จ อ.เมือง จ.หนองคาย ด่าน อ.เมือง จ.มุกดาหาร และ
ด่านช่องเม็ก อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี
  • การคมนาคมขนส่งระหว่างไทยและ สปป.ลาว มีแนวโน้มคล่องตัวขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีการเปิดใช้เส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ระหว่าง

ไทยและ สปป.ลาว ล่าสุดไทยและ สปป.ลาว อยู่ระหว่างก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมระหว่าง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และแขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดใช้ภายในปี 2556

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว

 สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว                     เชื่อมระหว่าง
       แห่งที่ 1                     จ.หนองคาย และนครหลวงเวียงจันทน์
       แห่งที่ 2                     จ.มุกดาหาร และแขวงสะหวันนะเขต
       แห่งที่ 3                     จ.นครพนม และแขวงคำม่วน
       แห่งที่ 4*                    จ.เชียงราย และแขวงบ่อแก้ว
หมายเหตุ : * อยู่ระหว่างก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จ ในปี 2556
ที่มา : กระทรวงพาณิชย์

พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวลาว

ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการส่งออกสินค้าไป สปป.ลาว ควรศึกษาและทำความเข้าใจถึงโครงสร้างประชากร ช่องทางจำหน่ายสำคัญ และการโฆษณาผ่านสื่อการตลาดที่เข้าถึงลูกค้าชาวลาว ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการผลิตและส่งออกสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าใน สปป.ลาว ได้ดียิ่งขึ้น ทั้งนี้ ข้อมูลพฤติกรรมของผู้บริโภคใน สปป.ลาว ที่น่าสนใจ มีดังนี้

  • วัยแรงงานที่กระจุกตัวในเขตเมืองใหญ่เป็นผู้บริโภคสำคัญเนื่องจากชาวลาวกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนประชากรทั้งหมดเป็นประชากร

วัยแรงงานอายุเฉลี่ยระหว่าง 15-64 ปี ส่วนใหญ่รับราชการหรือมีอาชีพ รับจ้างทั่วไป อาศัยกระจุกตัวใน 4 เมืองสำคัญ คือ นครหลวงเวียงจันทน์

สะหวันนะเขต หลวงพระบาง และจำปาสัก ซึ่งเป็นเมืองศูนย์รวมหน่วยงานราชการ ย่านธุรกิจ และแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ อีกทั้งผู้บริโภคกลุ่มนี้คุ้นเคย

และนิยมสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยเป็นอย่างดี เพราะเคยทดลองใช้สินค้าดังกล่าวระหว่างเข้ามาทำงานหรือเยี่ยมญาติตามแนวชายแดนไทย-สปป.ลาว ทำให้ง่ายต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าซ้ำ ทั้งนี้ ชาวลาวพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคแทบทุกประเภท โดยสินค้าซึ่งยังเป็นที่ต้องการอีกมากของชาวลาวและเป็นโอกาสในการส่งออกของไทย คือ สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะผงชูรส (แป้งนัว ในภาษาลาว) ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสที่ทุกครัวเรือนต้องมีไว้ใช้ รวมถึงสินค้าประเภทน้ำตาลทราย น้ำปลา กะปิ น้ำมันพืช ซอสปรุงรส ขณะที่สินค้าอุปโภคที่จำเป็นบางรายการ อาทิ สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม และรองเท้า ยังเป็นที่ ต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม นอกจากนี้ การที่ชาวลาวสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ของไทย อีกทั้งดารา นักร้อง นักแสดงของไทยได้รับความนิยมอย่างสูงในกลุ่มหนุ่มสาวชาวลาวที่มีกำลังซื้อ กระตุ้นให้หนุ่มสาวชาวลาวหันมาใส่ใจดูแลภาพลักษณ์ตนเองให้ดูดีขึ้น จึงเป็นโอกาสส่งออกสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมความงาม โดยเฉพาะเครื่องสำอาง อาทิ ครีมบำรุงผิวที่มีสรรพคุณช่วยให้ผิวหน้าแลดูอ่อนกว่าวัย ช่วยลบเลือนริ้วรอย ช่วยให้ผิวหน้ากระจ่างใส และครีมกันแดด

เกร็ดน่ารู้ : ปัจจุบัน สปป.ลาว ห้ามนำเข้าสินค้า 8 รายการ ได้แก่

1) อาวุธสงคราม

2) เมล็ดพันธุ์ฝิ่นและฝิ่น

3) เครื่องมือหาปลาแบบดับสูญ

4) เครื่องจักรดีเซลใช้แล้ว

5) ตู้เย็นหรือตู้แช่ที่ใช้สาร CFC

6) สินค้าใช้แล้วในหมวดเครื่องตัดเย็บรองเท้า เครื่องนุ่งห่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์ ตกแต่งภายในบ้านเครื่องใช้ทำด้วยเซรามิก ยางพารา

7) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้แล้ว

8) สารเคมีอันตราย

  • ชาวลาวนิยมซื้อสินค้าในร้านค้าปลีก ซึ่งเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าที่สำคัญส่วนใหญ่มักเป็นร้านค้าที่ตั้งมานานในย่านชุมชนซึ่งชาวลาว

คุ้นเคยเป็นอย่างดี สามารถซื้อสินค้าได้สะดวก และมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทให้เลือก อีกทั้งยังต่อรองราคาได้ จึงได้รับความนิยมอย่าง

แพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวลาว ทั้งนี้ พฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของชาวลาวมักซื้อสินค้าบ่อยครั้ง แต่จะซื้อด้วยปริมาณครั้งละไม่มากนัก ดังนั้น

สินค้าที่จะวางจำหน่ายใน สปป.ลาว ควรแบ่งบรรจุกล่อง ห่อ หรือซอง ขนาดกะทัดรัดเพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายสินค้า

เกร็ดน่ารู้ : ชาวลาวเชื่อมั่นคุณภาพสินค้าส่งออกของไทย ดังนั้นบรรจุภัณฑ์สินค้า อาทิ ซอง หีบห่อ กล่องบรรจุสินค้า ควรพิมพ์ตราสินค้า รายละเอียดที่ระบุส่วนประกอบสำคัญและวิธีการใช้ด้วยภาษาไทย นอกจากนี้ การที่ชาวลาวมักใช้ความคุ้นเคยในการเลือกซื้อสินค้า โดยใช้ตราสินค้า ขนาดกล่องและสีของบรรจุภัณฑ์เป็นจุดสังเกตสำคัญในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า สินค้าที่วางจำหน่ายใน สปป.ลาว จึงไม่ควรเปลี่ยนตราสินค้าและลักษณะบรรจุภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำผลิตภัณฑ์และกลับมาซื้อสินค้าซ้ำอีก

  • โทรทัศน์ วิทยุ และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เป็นสื่อการตลาดที่เข้าถึงผู้บริโภคชาวลาวได้ตรงจุด โดยเฉพาะการโฆษณาสินค้าผ่านสื่อ
โทรทัศน์และวิทยุจากไทย เนื่องจากชาวลาวสามารถรับชมรายการโทรทัศน์และฟังรายการวิทยุที่ออกอากาศจากไทยได้ การโฆษณาสินค้าผ่านสื่อ
โทรทัศน์หรือวิทยุจึงมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าได้ นอกจากนี้ การประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่บริเวณแยกถนนกลางเมืองสำคัญเป็นอีกหนึ่งช่องทางการตลาดสำคัญที่ดึงดูดความสนใจ ได้ดี ทั้งนี้ เพื่อให้สื่อโฆษณามีส่วนชักชวนและกระตุ้นให้ผู้บริโภคชาวลาวอยากซื้อสินค้า ควรเลือกดารานักแสดงคนไทยหรือชาวเอเชีย เพราะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความรู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงสินค้าได้ง่าย
  • ตลาดสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใส ตามจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวใน สปป.ลาว เพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งนี้ Lao National Tourism Administration ระบุว่าปี 2553 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมา สปป.ลาว ราว 2.5 ล้านคน และคาดว่าจะพุ่งขึ้นแตะระดับ 2.8 ล้านคนภายในปี 2558 ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวจึงเป็น โอกาสส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรม อาทิ ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ของใช้ในห้องน้ำโรงแรม อาทิ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม หมวกคลุมผม ตลอดจนของที่ระลึก จำพวกพวงกุญแจ แม่เหล็กติดตู้เย็น ผ้าเช็ดหน้า กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นโอกาสส่งออกชุดเครื่องครัว อาทิ หม้อ กระทะ ทัพพี ตะหลิว และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารประเภทถ้วย จาน ช้อนส้อม แก้วน้ำ ผ้าปูโต๊ะ รวมถึงของประดับตกแต่งในร้านอาหารซึ่งยังเป็นที่ต้องการอีกมาก
  • ความต้องการรถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ยังมีอยู่สูง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ สปป.ลาว ทำให้ชาวลาวมีกำลังซื้อและต้องการ
เป็นเจ้าของรถยนต์มากขึ้น ทั้งนี้ ชาวลาวนิยมเลือกซื้อรถพิกอัป (Pick-up) ขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4 ประตู เพราะใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย
ทั้งใช้บรรทุกผลผลิตทางการเกษตรออกจากพื้นที่เพาะปลูก รับส่งแรงงานออกจากแหล่งเหมืองแร่/ไร่ และใช้ท่องเที่ยวกับครอบครัวในวันหยุด ทั้งนี้
การที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถปิกอัพขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4 ประตูที่สำคัญของค่ายรถยนต์แทบทุกค่าย จึงเป็นโอกาสส่งออกรถยนต์รุ่นดังกล่าวไป
สปป.ลาว นอกจากนี้ การที่สภาพถนนใน สปป.ลาว หลายเส้นทางยังมีสภาพทรุดโทรมทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์มีอายุการใช้งานสั้น และจำเป็นต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนบ่อยขึ้น จึงเป็นโอกาสในการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อใช้เป็นอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing : REM) อาทิ เพลา ยางรถยนต์ ลูกสูบ ไส้กรองอากาศ ไส้กรองน้ำมันเครื่อง อุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ เป็นต้น
  • ตลาดเครื่องจักรกลการเกษตรใน สปป.ลาว มีแนวโน้มขยายตัว หลัง สปป.ลาวให้สัมปทานพื้นที่ทำการเกษตรแก่ต่างชาติ อีกทั้ง
สปป.ลาว ยังมีพื้นที่ว่างอุดมสมบูรณ์เหมาะที่จะพัฒนาเป็นแปลงเกษตรอีกจำนวนมาก ทำให้ความต้องการใช้เครื่องจักรกลเกษตร ทดแทนแรงงาน
มีมากขึ้น ทั้งนี้ เครื่องจักรกลเกษตร ที่ยังเป็นที่ต้องการอยู่มากใน สปป.ลาวควรมีลักษณะการทำงานไม่ยุ่งยากซับซ้อน สามารถประกอบและถอดซ่อม
บำรุงเองได้ง่าย อาทิ รถไถนาเดินตาม เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องใส่ปุ๋ยเครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยาฆ่าแมลงแบบโยกด้วยมือ เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินธุรกิจกับชาวลาวเป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบความสำเร็จ นอกเหนือจากการเรียนรู้เกี่ยวกับพฤติกรรมผู้บริโภคของชาวลาวแล้ว ผู้ส่งอกควรทำความรู้จักกับเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับการติดต่อธุรกิจกับ สปป.ลาว ไปพร้อมๆ กัน มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
  • การทักทายและการสนทนา เมื่อพบปะกับคู่สนทนาควรพนมมือไหว้แบบไทยด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกล่าวคำทักทายว่า “สะบายดี”
(แปลว่า สวัสดี) หลีกเลี่ยงการสวมกอดหรือจูบเพราะเป็นกิริยาที่ชาวลาวเห็นว่าไม่สุภาพ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสามารถจับมือทักทายตามธรรมเนียม
สากลได้ หากเป็นการพบกันครั้งแรกควรมีการแลกนามบัตร ซึ่งควรยื่นด้วยมือทั้งสองข้างขณะแลกนามบัตรเพื่อแสดงความนับถือ หลังจากได้นามบัตร
ควรอ่านรายละเอียดเพื่อแสดงถึงความเอาใจใส่ และหลีกเลี่ยงการพูดถึงประวัติศาสตร์และการเมืองระหว่างสองประเทศซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวใน
สปป.ลาว
  • การแต่งกาย การติดต่อกับหน่วยงานราชการ ผู้ชายอาจสวมเสื้อซาฟารีสีสุภาพ และผู้หญิงควรสวมเสื้อและกระโปรงที่ไม่สั้นเพื่อแสดง
ความเคารพต่อสถานที่ราชการ ขณะที่การประชุมหรือการเจรจาทางธุรกิจทั้งสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีควรแต่งกายด้วยชุดสุภาพ ภูมิฐาน และน่าเชื่อถือ สำหรับสุภาพบุรุษนิยมสวมใส่เสื้อเชิ้ตและผูกเนคไท
  • ภาษาที่ใช้ในการสื่อสาร ชาวลาวใช้ภาษาลาวเป็นภาษาราชการ ทั้งนี้ นักธุรกิจไทยมีความได้เปรียบนักธุรกิจชาติอื่น เนื่องจากภาษาไทยมีความคล้ายคลึงกับภาษาลาวมาก โดยเฉพาะภาษาไทยอีสาน แต่ควรระวังคำบางคำที่อาจคล้ายคลึงกันแต่มีความหมายแตกต่างกัน เพื่อป้องกันการ
เข้าใจผิด
  • การนัดหมาย เวลาทำการของหน่วยงานภาครัฐของ สปป.ลาว อยู่ระหว่าง 8.00-16.00 น. และภาคเอกชนอยู่ระหว่าง 8.00-17.00 น. ขณะที่ธนาคารจะเปิดทำการในช่วง 8.00-16.00 น. ทั้งนี้ ผู้ประกอบการควรหลีกเลี่ยงการนัดหมายในช่วงเวลาพักกลางวันของชาวลาวในช่วง 12.00-13.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พนักงานมักกลับไปรับประทานข้าวหรือทำธุระที่บ้าน นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการนัดเจรจาธุรกิจในวันหยุดสำคัญของชาวลาว อาทิ วันสถาปนากองทัพประชาชนลาว (20 มกราคมของทุกปี) วันตั้งพรรคประชาชนปฏิวัติลาว (22 มกราคม) วันประกาศ
เอกราช (12 ตุลาคม) และวันชาติ (2 ธันวาคม)

แม้ว่า สปป.ลาว จะเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในการขยายตัวได้อีกมาก แต่ผู้ส่งออกที่สนใจส่งออกสินค้าไป สปป.ลาว ควรทราบว่า นโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการค้าของสปป.ลาว มักเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งและหลายครั้งมีการเปลี่ยนแปลงโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า จนอาจทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ทันตามสัญญา และระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึง จากการที่ยังมีถนนไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และถนนบางเส้นทางมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อ จนอาจทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าหรือสร้างความเสียหายให้กับสินค้าส่งออกได้ พร้อมกับหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับลักษณะการติดต่อธุรกิจกับ สปป.ลาว เพื่อให้การค้าเป็นไปด้วยความราบรื่นและประสบความสำเร็จ

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เมษายน 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ