ส่วนวิจัยธุรกิจ 1 ฝ่ายวิจัยธุรกิจ
ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
คอลัมน์ “เลียบรั้ว เลาะโลก” ฉบับนี้ จะพาท่านผู้อ่านลงใต้ไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดเรามายาวนาน เพื่อทำความรู้จักกับเขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์ (Iskandar) ซึ่งมีความน่าสนใจและอาจนำมาเป็นแบบอย่างในการพัฒนาสำหรับประเทศไทย
เขตเศรษฐกิจพิเศษอิสกันดาร์อาจเรียกได้ไม่เต็มปากว่าเป็นเขตเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2549 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว แต่ปัจจุบันถือเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญและมีแนวโน้มเติบโตอย่างรวดเร็ว ตั้งอยู่ในรัฐยะโฮร์ทางตอนใต้ของมาเลเซีย ติดกับประเทศสิงคโปร์ มีพื้นที่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร(เทียบกับสิงคโปร์ที่มีพื้นที่ราว 700 ตารางกิโลเมตร) แบ่งออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่
Flagship A อยู่บริเวณใจกลางเมืองยะโฮร์บารู มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงิน รองรับการกระจายและเชื่อมโยงเส้นทางธุรกิจกับสิงคโปร์ ปัจจุบันมีบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาตั้งสำนักงานเป็นจำนวนมาก อาทิ Citigroup, HSBC, Kuwait Finance House, YKK, Lion Group, Sumitomo นอกจากนี้ ยังมีแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าเพื่อเชื่อมโยงกับส่วนอื่นๆ ในอิสกันดาร์อีกด้วย
Flagship B อยู่บริเวณเมืองนูร์ซาจายา (Nursajaya) ทางทิศตะวันตกจากเมืองยะโฮร์บารูมีเป้าหมายเป็นศูนย์ราชการ ศูนย์การแพทย์ แหล่งท่องที่ยว และโลจิสติกส์ฮับ โดยเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 The Middle Eastern Consortium ตัดสินใจเข้าไปลงทุนพัฒนาพื้นที่นี้ด้วยเงินลงทุนถึง 4.2 พันล้านริงกิต
Flagship C อยู่บริเวณท่าเรือตันจุงปาเปปัส (Port of Tanjung Pelepas) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากเมืองยะโฮร์บารู ซึ่งเป็นท่าเรือใหญ่เป็นอันดับสองของมาเลเซีย มีเป้าหมายเป็นประตูการค้ารองรับทัง้ สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม รวมถึงการขนส่งน้ำมัน นอกจากนี้ พื้นที่นี้ยังเป็นที่ตั้งของโรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าสำคัญอีกหลายแห่ง
Flagship D อยู่บริเวณเขตอุตสาหกรรมสำคัญของเมืองปาซาร์กูดัง (Pasir Gudang) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ อาหาร เกษตรแปรรูป รวมถึงปาล์มน้ำมัน โดยเป็นที่ตั้งของโรงงานปาล์มน้ำมันและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
Flagship E อยู่บริเวณท่าอากาศยานเซไน (Senai International Airport) ทางทิศเหนือจากเมืองยะโฮร์บารู ครอบคลุมทั้งอาคารผู้โดยสาร ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ตลอดจนคลังสินค้าและเขตปลอดภาษี (Free Zone)
ความน่าสนใจของอิสกันดาร์ คือ รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าหมายให้เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้เป็นสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงกับสิงคโปร์ที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยโอกาสจากที่ตั้งที่อยู่ติดกับสิงคโปร์ อีกทั้งเล็งเห็นข้อจำกัดด้านกายภาพของสิงคโปร์ที่ไม่สามารถขยายพื้นที่อุตสาหกรรมในประเทศได้มากนัก ล่าสุดผู้ประกอบการสิงคโปร์ที่ต้องเผชิญกับปญั หาค่าจ้างแรงงานสูงขึ้นต่างวางแผนย้ายฐานการผลิตไปยังอิสกันดาร์ที่มีค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าสิงคโปร์กว่าเท่าตัว จึงเริ่มเกิดเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ของผู้ประกอบการสิงคโปร์ โดยมีโรงงานผลิตอยู่ในอิสกันดาร์ ส่วนสำนักงานตั้งอยู่ในสิงคโปร์ ปัจจุบันมีโครงการลงทุนของสิงคโปร์ในอิสกันดาร์กว่า 300 โครงการ มูลค่าลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์
จะเห็นได้ว่าแนวทางการพัฒนาอิสกันดาร์เป็นไปอย่างครบวงจร ทั้งการเชื่อมโยงระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในหลายรูปแบบ การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม การจัดตั้งศูนย์กลางธุรกิจและการเงิน ตลอดจนการพัฒนาภาคบริการเพื่อรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและประชากร เสริมด้วยแรงจูงใจด้านภาษี ทำให้เพียงแค่ 7 ปีเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ดึงดูดมูลค่าเม็ดเงินลงทุนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 8 หมื่นล้านริงกิต หรือราว 2.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าไว้กว่าเท่าตัว และกลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากต่างประเทศ รวมถึงรองรับโอกาสการลงทุนของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ AEC ในปี 2558 อีกด้วย
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย อาจใช้อิสกันดาร์เป็นตัวอย่างหรือแบบอย่างในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่ โดยเฉพาะบริเวณชายแดน ซึ่งเรามีความได้เปรียบจากที่ตั้งที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่ง อย่างไรก็ตาม การพัฒนาจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาและแนวทางการพัฒนาที่ชัดเจน ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาไม่แพ้ประเทศอื่นๆ เช่นกัน
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เลขที่ 44/100 ถ.นนทบุรี1 ต. บางกระสอ อ. เมือง จ. นนทบุรี 11000
โทรศัพท์ (66) 2507-7444 แฟกซ์ (66) 2547-5630