มาเลเซียเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกอาเซียนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากรัฐบาลดำเนินนโยบายในด้านต่างๆ อย่างครอบคลุมและมีประสิทธิภาพเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ประกอบกับการเมืองมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ ขณะเดียวกันรัฐบาลยังให้ความสำคัญต่อการผลักดันการพัฒนาประเทศเพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2563 ผ่านการดำเนินงานภายใต้แนวคิดต้นแบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economic Model : NEM) ซึ่งประกาศใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2554 ทั้งนี้ ปัจจุบันมาเลเซียมีประชากรราว 30 ล้านคน ซึ่งแม้ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ ได้แก่ มาเลย์ (ร้อยละ 50.4ของประชากรทั้งหมด) จีน (ร้อยละ 23.7) อินเดีย (ร้อยละ 7.1) และอื่นๆ (ร้อยละ 18.8) แต่ประชากรส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 60 นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้มาเลเซียเป็นตลาดอาหารฮาลาลขนาดใหญ่และมีมาตรฐานสินค้าอาหาร ฮาลาลที่กลุ่มประเทศสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Cooperation :OIC) ซึ่งมีสมาชิกจำนวน 57 ประเทศให้การยอมรับ จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปขยายตลาดอาหารฮาลาลในมาเลเซียโดยใช้ประโยชน์จากการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) และต่อยอดเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตลาดฮาลาลขนาดใหญ่อื่นๆ ต่อไป
อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การส่งออกที่รัฐบาลมาเลเซียให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวรอบด้าน จนทำให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของมาเลเซียมีศักยภาพสูง ส่งผลให้มาเลเซียก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกอาหารฮาลาลระดับแนวหน้าของเอเชีย สะท้อนจากมูลค่าส่งออกอาหารฮาลาลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 23.1 พันล้านริงกิตในปี 2553 เป็น 36.4 พันล้านริงกิตในปี 2554 และ 38 พันล้านริงกิต (ราว 12 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2555สูงกว่าเป้าหมายการส่งออกอาหารฮาลาลปี 2555 ที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 37 พันล้านริงกิต สินค้าอาหารฮาลาลส่งออกที่สำคัญ คือ วัตถุดิบที่ใช้ประกอบอาหาร มูลค่าส่งออก 12 พันล้านริงกิต อาหารและเครื่องดื่ม 11.9 พันล้านริงกิต และผลิตภัณฑ์จากน้ำมันปาล์ม 7 พันล้านริงกิต ขณะที่ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน มูลค่าส่งออก 4.1 พันล้านริงกิต รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ 3.3 พันล้านริงกิต และสิงคโปร์ 2.9 พันล้านริงกิต
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยตั้งเป้าให้มาเลเซียเป็นศูนย์กลางฮาลาลของโลก (Global Halal Hub) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาได้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล(Halal Parks) จำนวน 20 แห่งทั่วประเทศ สามารถดึงดูดทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลได้เป็นจำนวนมาก ดังเห็นได้จากในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2555 มาเลเซียสามารถดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลเป็นมูลค่า 1.2 พันล้านริงกิต (ราว 390 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)สูงกว่าเป้าหมายของทั้งปี 2555 ที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ 1 พันล้านริงกิต ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลจะได้รับการสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและบริการต่างๆ โดยมี Halal Industrial Development Corporation ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐของมาเลเซียให้ความช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอีกทั้งยังได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน อาทิ การยกเว้นภาษีรายได้จากการส่งออกเป็นเวลา 5 ปี การได้รับสิทธิ์หักค่าลดหย่อน 2 เท่าสำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการขอรับใบรับรองมาตรฐานฮาลาล และสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ในนิคอุตสาหกรรมฮาลาล เช่น การยกเว้นภาษีนำเข้าอุปกรณ์ห้องเย็น เป็นต้น
โอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายตลาดสินค้าอาหารฮาลาลในมาเลเซีย
ด้านการค้า ผู้ประกอบการไทยสามารถขยายตลาดสินค้าอาหารฮาลาลได้ทั้งในลักษณะอาหารสำเร็จรูป และวัตถุดิบอาหาร โดยมีปัจจัยเกื้อหนุน ดังนี้
- มาเลเซียเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง แม้มาเลเซียมีประชากรราว 30 ล้านคน แต่ประชากรส่วนใหญ่มีรายได้สูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2555 รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีอยู่ที่ 10,350 ดอลลาร์สหรัฐ(เทียบกับรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีของไทยที่ 5,310 ดอลลาร์สหรัฐ) และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 13,680 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 ขณะที่รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีเป็น 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2563 ประกอบกับโครงสร้างประชากรส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานโดยกว่าร้อยละ 40 ของประชากรทัง้ หมดมีอายุระหว่าง 25-54 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและพร้อมทดลองสินค้าใหม่ๆ อีกทั้งวิถีชีวิตที่เร่งรีบขึ้นทำให้ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่ไม่นิยมทำอาหารรับประทานเองและต้องการสินค้าอาหารที่สะดวกสบายในการรับประทาน จึงนับเป็นโอกาสของสินค้าอาหารฮาลาลของไทยโดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to eat) ที่จะเข้าไปขยายตลาดในมาเลเซียซึ่งยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อีกมาก
- มาเลเซียนิยมสินค้าอาหารฮาลาลของไทย ชาวมาเลเซียส่วนใหญ่รู้สึกว่าอาหารไทยมีกลิ่นและรสชาติคล้ายคลึงกับอาหารพื้นเมืองของมาเลเซียที่ใช้สมุนไพร เครื่องเทศ และกะทิ ในการประกอบอาหารนอกจากนี้ มาเลเซียยังมีวัฒนธรรมการบริโภคที่คล้ายคลึงกับไทย โดยมื้อเช้านิยมรับประทานอาหารประเภทโจ๊กและข้าวต้ม ส่วนมื้อกลางวันและมื้อเย็นนิยมรับประทานเป็นสำรับกับข้าวเช่นเดียวกับของไทย ทำให้ชาวมาเลเซียนิยมบริโภคอาหารฮาลาลของไทยมาก ประกอบกับชาวมาเลเซียส่วนใหญ่อยู่ในวัยทำงานและมีกำลังซื้อสูง จึงนิยมบริโภคสินค้าอาหารนำเข้าซึ่งแม้ว่าจะมีราคาสูงกว่าสินค้าอาหารที่ผลิตในประเทศ แต่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่และเป็นทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ไม่จำเจ
- มาเลเซียขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตอาหารฮาลาล ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ทำให้มาเลเซียมีวัตถุดิบในการผลิตอาหารฮาลาลไม่เพียงพอจึงจำเป็นต้องพึ่งพาวัตถุดิบนำเข้าหลายชนิด ประกอบกับปัจจุบันรัฐบาลกำลังมุ่งเน้นการพัฒนาในส่วนของวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหาร (Ingredient Segment) ในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล โดยสนับสนุนให้หลายประเทศเช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และไทย ป้อนวัตถุดิบให้อุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ขณะที่ไทยได้รับประโยชน์จากภาษีนำเข้าที่มาเลเซียเรียกเก็บภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area :AFTA) ส่วนใหญ่ในอัตราร้อยละ 0 ซึ่งนับเป็นโอกาสที่เอื้ออำนวยให้สินค้าอาหารฮาลาลของไทยสามารถขยายตลาดในมาเลเซียได้อีกมาก
ด้านการลงทุน ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการลงทุนในธุรกิจอาหารฮาลาลในมาเลเซีย เนื่องจากมาเลเซียมีแนวคิดที่จะร่วมมือกับไทยเพื่อพัฒนาและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลโดยอาศัยจุดแข็งของทั้งสองประเทศเพื่อแสวงหาโอกาสร่วมกันในการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล กล่าวคือ ไทยมีจุดแข็งด้านขั้นตอนการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีวัตถุดิบที่มีคุณภาพ รวมถึงมีผู้ประกอบการที่มีศักยภาพจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ยังขาดกลยุทธ์การทำการตลาดที่จะทำให้ตลาดกลุ่มประเทศมุสลิมยอมรับเท่ากับอาหารฮาลาลที่ผลิตจากกลุ่มประเทศมุสลิมด้วยกัน ขณะที่มาเลเซียมีจุดแข็งในด้านการทำการตลาด การกระจายสินค้าผ่านระบบโลจิสติกส์ และสินค้าได้รับการยอมรับสูง ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุนผลิตอาหารฮาลาลในมาเลเซีย โดยหาพันธมิตรท้องถิ่นเพื่อผนวกจุดแข็งร่วมกันในการรุกตลาดอาหารฮาลาลใประเทศมุสลิมอื่นๆ นอกเหนือจากการขยายตลาดสินค้าดังกล่าวในมาเลเซีย
มาตรฐานฮาลาลของมาเลเซียเคร่งครัดกว่ามาตรฐานฮาลาลของประเทศมุสลิมอื่นๆ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยที่สนใจส่งออกอาหารฮาลาลไปมาเลเซียจึงควรศึกษากฎระเบียบและมาตรการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าฮาลาลของมาเลเซียให้ละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเครื่องหมายฮาลาล(Halal Logo) บนผลิตภัณฑ์ ล่าสุด Department of Islam Development Malaysia (JAKIM) ซึ่งเป็นหน่วยงาน ที่ให้การรับรองด้านฮาลาลของมาเลเซีย ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป สินค้าทุกชนิดที่นำเข้ามาในมาเลเซียที่ระบุว่าเป็นฮาลาลต้องมีเครื่องหมายฮาลาลและได้รับการรับรองจากหน่วยงานของประเทศผู้ผลิตที่ได้รับการยอมรับจาก JAKIM สำหรับไทยมีคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย(Central Islamic Committee of Thailand) เป็นหน่วยงานเดียวที่ JAKIM ให้การยอมรับเครื่องหมายฮาลาลของไทย นอกจากนี้ ยังห้ามใช้เครื่องหมายฮาลาลหรือถ้อยคำที่ทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภคชาวมุสลิมในมาเลเซียทั้งนี้ บุคคลหรือบริษัทที่ใช้เครื่องหมาย ฮาลาลอื่น นอกเหนือจากที่ออกโดย JAKIM จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย
โอกาสทางการค้าและการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลของมาเลเซียยังเปิดกว้างอยู่มากผู้ประกอบการไทยจึงควรใช้ประโยชน์จาก AEC ในการขยายตลาดอาหารฮาลาลในมาเลเซีย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยยังสามารถอาศัยจุดแข็งของมาเลเซียในการแสวงหาโอกาสร่วมกันเพื่อขยายตลาดอาหารฮาลาลไปยังกลุ่มประเทศมุสลิมอื่นๆ ทั้งในอาเซียนและประเทศมุสลิมทั่วโลก อาทิ อินโดนีเซีย อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตุรกี และอียิปต์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจด้วยจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลกประมาณ 1.8 พันล้านคน คิดเป็นร้อยละ 25 ของจำนวนประชากรทัง้ โลกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแตะระดับ 2.2 พันล้านคนภายในปี 2573 สะท้อนตลาดอาหารฮาลาลเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและมีบทบาทมากขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมทั่วโลก
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--