สำหรับบทบาทด้านการรับประกันการส่งออก EXIM BANK สามารถเพิ่มปริมาณการรับประกันได้ร้อยละ 10 คิดเป็นมูลค่า 80,318 ล้านบาท เนื่องจากสามารถรักษาฐานลูกค้าเดิมได้และมีปริมาณการรับประกันเพิ่มขึ้นตามมูลค่าการค้าระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มอาเซียน ขณะที่การชดเชยความเสียหายมีจำนวนไม่มากนัก
ในปี 2556 EXIM BANK ได้รับมอบหมายให้ดำเนินภารกิจภายใต้นโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการที่อยู่ในวงจรการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) โดย EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เพิ่มขึ้น จำนวน 114 ราย เป็นวงเงินทั้งสิ้น 5,200 ล้านบาท และ EXIM BANK ได้ร่วมมือกับ 5 กระทรวง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอีก 5 แห่ง ในความพยายามที่จะเพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ SMEs
นอกจากนี้ ในการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในด้านการขนส่งทางเรือ EXIM BANK สนับสนุนธุรกิจพาณิชยนาวี จำนวน 11 ลำ คิดเป็นวงเงินสินเชื่อรวม 1,683 ล้านบาท
ท่ามกลางข้อจำกัดของการค้าระหว่างประเทศ เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ยังอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง ส่งผลกระทบต่อภาวะการส่งออกของประเทศไทย ทำให้การสนับสนุนสินเชื่อการค้าระหว่างประเทศของ EXIM BANK มีแนวโน้มลดลง
สำหรับระยะถัดไป EXIM BANK จะเพิ่มบทบาทที่จะสนับสนุนผู้ประกอบการไทยที่จะไปดำเนินธุรกิจทางด้านการค้า การให้บริการ และการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน ที่ปัจจุบันมีสภาพแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย โดย EXIM BANK ซึ่งเป็นสถาบันการเงินของรัฐ จะทำหน้าที่ในการลดความเสี่ยงให้แก่ผู้ประกอบการด้วยบริการประกันความเสี่ยงทางการค้าและการเมือง รวมทั้งประกันความเสี่ยงการลงทุนในต่างประเทศ อีกทั้ง EXIM BANK ยังจะช่วยอำนวยความสะดวกและเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้แก่ผู้ประกอบการ
ในส่วนของโครงการที่เป็นประโยชน์กับประเทศไทย โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหรือพลังงานทดแทน โลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน และสาธารณูปโภค EXIM BANK ยังจะคงทำหน้าที่ในการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร EXIM BANK สำนักงานใหญ่
โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-6
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--