สปป.ลาว นับเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย ปัจจุบันสินค้าไทยได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาไม่สูงเกินไป ประกอบกับชาวลาวสามารถเข้าใจและสื่อสารภาษาไทยได้เป็นอย่างดี จึงช่วยให้สินค้าไทยสามารถเจาะตลาด สปป.ลาว ได้ไม่ยากนัก นอกจากนี้ การที่ไทยและ สปป.ลาว มีอาณาเขตติดต่อกันยังเอื้อต่อการขนส่งสินค้าผ่านทางเส้นทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางหลักอย่างสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 1 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดหนองคายของไทยและนครหลวงเวียงจันทน์ของ สปป.ลาว) และสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 2 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดมุกดาหารของไทยและแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว) อีกทั้งยังมีการเปิดใช้เส้นทางใหม่ๆ หลายเส้นทาง อาทิ สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 3 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดนครพนมของไทยและแขวงคำม่วนของ สปป.ลาว) สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดเชียงรายของไทยและแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว) ซึ่งคาดว่าจะเปิดใช้ในปี 2556 และสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 5 (เชื่อมต่อระหว่างจังหวัดบึงกาฬของไทยและแขวงบอลิคำไซของ สปป.ลาว) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 ซึ่งหากแล้วเสร็จทุกแห่ง จะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทย - สปป.ลาว และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันมากขึ้น ทั้งนี้ สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกไป สปป.ลาว มีดังนี้
สินค้าทุนและสินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆไป สปป.ลาว ดังนี้
- รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไป สปป.ลาว มูลค่า 408 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 58) อันเป็นผลจากชาวลาวมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงมีความต้องการยานพาหนะเพื่อความสะดวกสบายในการเดินทางเพิ่มขึ้น อีกทั้งการที่รัฐบาล สปป.ลาว ห้ามนำ เข้ารถยนต์มือสองเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์นำเข้าจากไทยเพิ่มสูงขึ้น
- เครื่องจักรกล และส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าดังกล่าวไป สปป.ลาว มูลค่า 234 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 37) เนื่องจากธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูปของ สปป.ลาว ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก ทำให้ สปป.ลาว มีความต้องการเครื่องมือทางการเกษตรมากขึ้น อาทิ เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องสูบน้ำ และเครื่องพ่นยาฆ่าแมลง ประกอบกับนักลงทุนต่างชาติเข้าไปลงทุนทำ
- สินค้าเกี่ยวกับการก่อสร้าง อาทิ เหล็ก และปูนซีเมนต์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปจั จุบันรัฐบาล สปป.ลาว มีโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานหลายด้าน อาทิ ถนน ระบบไฟฟ้า และระบบชลประทาน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวลาวให้ดีขึ้น
- คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้ในปี 2555 ไทยส่งออกสินค้าประเภทคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยไป สปป.ลาว อย่างไรก็ตาม มูลค่าส่งออกสินค้าประเภทดังกล่าวกลับขยายตัวอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงปี 2553-2555 ขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 137 ต่อปี เนื่องจากหน่วยงานทัง้ ภาครัฐและภาคเอกชนของ สปป.ลาว เร่งปรับปรุงระบบบริหารจัดการ
ให้มีประสิทธิภาพด้วยการนำคอมพิวเตอร์มาใช้มากขึ้น
สินค้าอุปโภคบริโภค
สินค้าอุปโภคบริโภคเป็นสินค้าที่น่าสนใจสำหรับผู้ส่งออกไทย เนื่องจากปัจจุบัน สปป.ลาว ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้ไม่มากนัก เพราะยังขาดแคลนเทคโนโลยีที่จำเป็นและเงินลงทุนในการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมแปรรูปต่างๆ อาทิ น้ำมันพืช น้ำตาล อาหารกึ่งสำเร็จรูป และเครื่องใช้ในครัวเรือน นอกจากนี้ การที่ สปป.ลาว มีประชากรราว 7 ล้านคน ส่งผลให้การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อผลิตสินค้าสำหรับตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศอาจไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนเท่าใดนัก สปป.ลาว จึงมีความจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งนี้ สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่ได้รับความนิยม และ สปป.ลาว มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ ผงซักฟอก แชมพู สบู่ อาหารแปรรูป ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม ซึ่งจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ผู้บริโภคชาวลาว เนื่องจากร้านค้าส่วนใหญ่มักอยู่ในย่านชุมชนซึ่งชาวลาวคุ้นเคยเป็นอย่างดี และมีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทให้เลือก ทั้งนี้ ชาวลาวมักซื้อสินค้าบ่อยครั้ง แต่จะซื้อด้วยปริมาณไม่มากนักในแต่ละครั้ง ดังนั้นสินค้าที่จะวางจำหน่ายใน สปป.ลาว ควรแบ่งบรรจุลงในกล่อง ห่อ หรือซองที่มีขนาดกะทัดรัด เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวลาว และเป็นการเพิ่มยอดจำหน่ายได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ เครื่องปรุงรสต่างๆ จากไทยไม่ว่าจะเป็นน้ำปลา กะปิ และน้ำตาล ยังได้รับความนิยมในร้านอาหารและภัตตาคารใน สปป.ลาว เนื่องจากโดยทั่วไปอาหารลาวใช้วัตถุดิบที่คล้ายคลึงกับอาหารไทยขณะที่ผู้ประกอบการร้านอาหารไทยใน สปป.ลาว สามารถนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยได้อย่างสะดวก เนื่องจากพรมแดนที่ติดกันส่งผลให้การขนส่งใช้ระยะเวลาไม่นานนัก และค่าขนส่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ห่างไกลกัน
ผู้ประกอบการที่สนใจขยายตลาดไป สปป.ลาว ควรศึกษาข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียดรอบคอบ โดยเฉพาะเรื่องกฎระเบียบและมาตรการด้านการค้า มาตรการด้านภาษีศุลกากร หรือธรรมเนียมในการติดต่อธุรกิจ แม้ว่าการค้าขายกับ สปป.ลาว ทำได้สะดวกเพราะภาษาและวัฒนธรรมค่อนข้างคล้ายคลึงกับไทย แต่ผู้ส่งออกควรเตรียมพร้อมรับมือกับข้อจำกัดต่างๆ บางประการ อาทิ ระบบการค้าระหว่างประเทศของ สปป.ลาว ยังไม่เป็นสากล และมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายหรือกฎระเบียบบ่อยครั้ง โดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าทำให้บางครั้งผู้ส่งออกไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าไป สปป.ลาว ได้ตามสัญญาซื้อขายที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้สปป.ลาว ยังกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทผู้นำเข้าลาว ต้องมีสัดส่วนการนำเข้าต่อการส่งออกเท่ากับ 60 : 40 ทำให้ผู้นำเข้าบางรายนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง เนื่องจากไม่สามารถหาสินค้าส่งออกได้ครบตามสัดส่วนที่รัฐบาลกำหนด ผู้ส่งออกจึงควรขอรับคำปรึกษาจากหน่วยงานไทยที่เชี่ยวชาญด้านการค้า อาทิ กรมการค้าต่างประเทศกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อให้การค้ากับสปป.ลาว เป็นไปอย่างราบรื่นมากยิ่งขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2556--