ถนนสู่ AEC: สิงคโปร์…โอกาสขยายตลาดอัญมณีและเครื่องประดับแท้ในยุคตลาดหลักผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday August 28, 2013 14:45 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปัจจุบันผู้ส่งออกไทยให้ความสนใจส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้ไปอาเซียนไม่มากนัก เนื่องจากตลาดผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวยังมีขนาดค่อนข้างเล็ก ประกอบกับประชากรมีกำลังซื้อไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดส่งออกหลักอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (European Union : EU) อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ และหลายประเทศใน EU เผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจและการเงินครั้งรุนแรง ส่งผลให้ความต้องการสินค้าฟุ่มเฟือย รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับแท้ลดลง และส่งผลกระทบอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าวของไทย การแสวงหาตลาดส่งออกใหม่ๆ อาทิ อาเซียน ซึ่งเศรษฐกิจขยายตัวดี และกำลังก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community :AEC) จึงมีส่วนสำคัญในการลดความเสี่ยงจากพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดหลักได้ในระดับหนึ่ง ทั้งนี้ ตลาดใหม่ในอาเซียนที่น่าสนใจ ได้แก่ สิงคโปร์ ซึ่งตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางแห่งอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคเอเชีย ส่งผลให้สิงคโปร์มีความต้องการนำเข้าสินค้าดังกล่าวเพิ่มขึ้น ทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปประเทศต่างๆ ทัว่ โลก ในปี 2555 ไทยส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปสิงคโปร์สูงที่สุดในอาเซียนคิดเป็นมูลค่า 38.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของมูลค่าส่งออกสูงถึงร้อยละ 35.6 ต่อปี ในช่วงปี 2553-2555 จึงนับเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และยังเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจได้เป็นอย่างดีในช่วงที่เศรษฐกิจตลาดหลักผันผวน

ปัจจัยเกื้อหนุนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้ไปสิงคโปร์
  • เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวอย่างมีเสถียรภาพ โดยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 4.4 ต่อปี ในช่วงปี 2551-2555 ขณะที่
ประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวในปี 2555 สูงถึง 51,400 ดอลลาร์สหรัฐมากเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน (เทียบกับไทยที่ 5,320 ดอลลาร์สหรัฐ)
ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์มีกำลังซื้อสูง และใช้จ่ายค่อนข้างมากไปกับการซื้อเครื่องแต่งกาย รวมทั้งเครื่องประดับเพื่อเสริมภาพลักษณ์ ขณะที่ความต้องการสินค้ารวมถึงเครื่องประดับของกลุ่มสตรีโสดมักขึ้นอยู่กับความพึงพอใจเป็นหลัก และไม่เปลี่ยนแปลงตามภาวะเศรษฐกิจ อัญมณีและเครื่องประดับแท้จึงเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในสิงคโปร์
  • สิงคโปร์เป็นเมืองท่าสำคัญของภูมิภาคและเป็นศูนย์กลางบริการทางการเงินระดับโลก นอกจากนี้รัฐบาลสิงคโปร์ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวภายใต้นโยบายYourSingapore ทำให้มีนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจจากทั่วทุกมุมโลกซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูงเดินทางมาสิงคโปร์อย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ นอกจากสินค้าแฟชัน่ และเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้วนักท่องเที่ยวยังนิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับแท้กลับไปเป็นของฝากอีกด้วย
  • ชาวสิงคโปร์นิยมซื้ออัญมณีและเครื่องประดับแท้ให้เป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ อาทิ เครื่องประดับทองเป็นของขวัญที่ได้รับความนิยมในช่วงเทศกาลตรุษจีน วันปีใหม่ของชาวมุสลิมและชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ นอกจากนี้ ชาวสิงคโปร์มีประเพณีในการมอบของขวัญเป็นเครื่องประดับทองให้แก่เด็กแรกเกิดและในวันเกิดอีกด้วย ขณะที่ในช่วงเทศกาลวาเลนไทน์ เทศกาลคริสต์มาส และปีใหม่ เครื่องประดับเงินที่ประดับด้วยเพชรและพลอยค่อนข้างได้รับความนิยมมากกว่า
เกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับตลาดอัญมณีและเครื่องประดับแท้ในสิงคโปร์
  • พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวสิงคโปร์ ประชากรสิงคโปร์ประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ (ชาวจีนมีจำนวนมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 77 ของประชากรทัง้ หมด รองลงมา คือ ชาวมาเลย์ร้อยละ 14 และชาวอินเดียร้อยละ 8) ส่งผลให้ชาวสิงคโปร์มีรสนิยมในการเลือกใช้อัญมณีและเครื่องประดับที่ค่อนข้างหลากหลาย โดยชาวสิงคโปร์เชื้อสายจีน นิยมเครื่องประดับทองประดับเพชรและอัญมณีราคาแพง ชาวสิงคโปร์เชื้อสายมาเลย์นิยมเครื่องประดับทองและเงินที่สลักลวดลายสวยงามและประดับด้วยอัญมณี ชาวสิงคโปร์เชื้อสายอินเดีย นิยมเครื่องประดับทองที่สลักลวดลายแบบอินเดียและประดับด้วยพลอยหลากสี นอกจากนี้ สตรีชาวสิงคโปร์ที่ยังโสดมักเลือกซื้อเครื่องประดับ อาทิ กำไล จี้ สร้อยคอ ต่างหู หรือเครื่องประดับครบชุด โดยคำนึงถึงรูปแบบและการประยุกต์ให้เข้ากับเสื้อผ้าและการแต่งหน้าเป็นสำคัญ ขณะที่สตรีที่แต่งงานแล้วให้ความสำคัญกับคุณค่าของวัสดุที่นำมาผลิต
เครื่องประดับ และนิยมเครื่องประดับราคาสูง ทั้งนี้ สินค้าที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดสิงคโปร์ อาทิ เครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ที่ประดับด้วยอัญมณี เพชร หรือพลอยสี โดยเน้นการออกแบบที่ทันสมัยหรือรูปลักษณ์แบบยุโรป หรือออกแบบในลักษณะเครื่องประดับนำโชค
  • ย่านการค้าอัญมณีและเครื่องประดับแท้ที่สำคัญของสิงคโปร์
  • Orchard Road เป็นศูนย์รวมของห้างสรรพสินค้า ร้านค้า และโรงแรมระดับบนที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ ซึ่งได้รับความนิยมมากจากชาวสิงคโปร์และนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนกระทัง่ มีคำกล่าวไว้ว่าหากไปสิงคโปร์แล้วไม่ได้มาเยือน Orchard Road ถือว่ามาไม่ถึงสิงคโปร์ ทั้งนี้ ย่านการค้าดังกล่าวประกอบด้วยร้านจำหน่ายเครื่องประดับต่างๆ ที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ Cartier, Tiffany & Co.,Jewels Galleria และ Pandora
  • China Town เป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของผู้อพยพชาวจีนในสิงคโปร์ แหล่งช้อปปิ้งขนาดใหญ่ในย่านนี้ อาทิ Chinatown Point, People’s Park Complex และ Chinatown Complex ซึ่งเป็นศูนย์รวมสินค้าชั้นดี ไม่ว่าจะเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้า กระเป๋าเดินทาง เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง และอัญมณีและเครื่องประดับเงินและเครื่องประดับทองที่เน้นการประดับด้วยหยก ซึ่งชาวจีนมองว่าเป็นอัญมณีที่มีค่า อีกทั้งยังเสริมสิริมงคลแก่ผู้ครอบครอง
  • Little India เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและร้านค้าของชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ในสิงคโปร์ โดยในย่านการค้านี้นักท่องเที่ยวสามารถเพลิดเพลินกับการเลือกซื้อสินค้ามากมายจากอินเดีย อาทิ เครื่องประดับพื้นเมืองจำพวกทอง และเงินที่ประดับด้วยพลอยหลากสี รวมทัง้ ส่าหรีสีสันสวยงาม อาหารและเครื่องเทศ ทั้งนี้ ร้านค้าที่จำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในย่านดังกล่าวมีจำนวนมากกว่าใน China Town

ทั้งนี้ ย่านการค้าแต่ละแห่งมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างกัน ผู้ประกอบการจึงควรเลือกแหล่งจำหน่ายสินค้าโดยพิจารณาถึงความสอดคล้องของรูปลักษณ์ของอัญมณีและเครื่องประดับที่ต้องการเจาะตลาด และความต้องการของกลุ่มผู้ซื้อในย่านดังกล่าว อาทิ Orchard Road มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาเยือนจำนวนมากเครื่องประดับที่วางจำหน่ายจึงควรมีลักษณะที่ค่อนข้างเป็นสากลและมีความหลากหลาย เพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของนักท่องเที่ยวจากประเทศต่างๆ ขณะที่ China Town และ Little India อัญมณีและเครื่องประดับที่วางจำหน่ายอาจเน้นที่รสนิยมของชาวจีนและชาวอินเดียเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ในย่านดังกล่าว

ช่องทางการเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับแท้ในสิงคโปร์

ผู้ประกอบการควรเข้าร่วมงานแสดงสินค้า อาทิ Singapore International Jewellery Show(SIJS) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีโดย Singapore Jewellers Association (SJA) ซึ่งเป็นสมาคมตัวแทนกลุ่มผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์ เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้แก่ตราสินค้า รวมทั้งเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์สินค้าด้วย นอกจากนี้ แม้ว่าสิงคโปร์ไม่มีกฎหมายควบคุมความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่า และไม่เข้มงวดเกี่ยวกับเครื่องหมายรับรองคุณภาพ แต่สินค้าที่วางจำหน่ายควรได้รับการรับรองคุณภาพจากสถาบันรับรองที่ได้รับการยอมรับ อาทิ Singapore Assay Office (SAO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบค่าความบริสุทธิ์ของโลหะมีค่าตามที่ผู้ประกอบการระบุไว้ หลังจากผ่านการตรวจสอบแล้ว เครื่องประดับจะถูกสลักเครื่องหมาย SAO Hallmark ซึ่งมีลักษณะเป็นรูปหัวสิงโตในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าสำหรับเครื่องประดับทอง รูปหัวสิงโตในกรอบวงกลมสำหรับเครื่องประดับเงิน และรูปหัวสิงโตในกรอบสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด สำหรับเครื่องประดับแพลทินัม ทั้งนี้ อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหนึ่งที่สำคัญในการเจาะตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากปัจจุบันชาวสิงคโปร์ส่วนใหญ่เข้าถึงข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตสูงกว่าสื่ออื่นๆ โดยมีสัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ตสูงที่สุดในอาเซียน คิดเป็นร้อยละ 67 ของจำนวนประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปีทั้งหมดของสิงคโปร์ (เทียบกับไทยที่ร้อยละ 31) นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังมีสัดส่วนการใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการเข้าถึงข้อมูลสินค้าค่อนข้างสูง โดยอยู่ที่ร้อยละ 56

นอกจากปัจจัยเกื้อหนุนการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับแท้ไปสิงคโปร์ตามที่ได้กล่าวข้างต้นแล้วการที่สิงคโปร์ไม่มีมาตรการกีดกันทางการค้าทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี ยังช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกไปสิงคโปร์ได้อย่างเสรีอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไปสิงคโปร์ต้องขออนุญาตจาก International Enterprise (IE) Singapore และ Department of Customs ทุกครัง้ ที่ส่งออกสินค้าดังกล่าวและประการสำคัญ ก่อนที่ผู้ประกอบการจะส่งออกสินค้าไปสิงคโปร์ ควรศึกษาธรรมเนียมในการติดต่อธุรกิจประกอบกับเดินทางไปสำรวจตลาดเพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการที่แท้จริงของชาวสิงคโปร์ พร้อมทั้งหาช่องทางในการเจาะตลาด นอกจากนี้ ควรสร้างพันธมิตรและเครือข่ายกับผู้นำเข้าและผู้จำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับของสิงคโปร์ เพื่อความสะดวกในการกระจายสินค้า โดยผู้ส่งออกสามารถตรวจสอบรายชื่อบริษัทจำหน่ายอัญมณีและเครื่องประดับในสิงคโปร์ที่เป็นสมาชิกของ SJA ได้ที่ www.sja.org.sg

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ