- เศรษฐกิจของกัมพูชาขยายตัวดีต่อเนื่อง EIU คาดว่าเศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัวร้อยละ 6.9 ในปี 2556 และขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ต่อปีในช่วงปี 2556-2560 เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีต่อเนื่องทำให้ชาวกัมพูชา มีรายได้สูงขึ้น และมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ขณะที่กัมพูชายังไม่สามารถผลิตสินค้าให้มีปริมาณและคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการใช้ในประเทศ ทำให้กัมพูชาจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเป็นหลักรวมถึงสินค้าจากไทย
- ชาวกัมพูชาคุ้นเคยกับสินค้าอุปโภคและบริโภคของไทยเป็นอย่างดี เพราะเคยเข้ามาทำงาน เยี่ยมญาติหรือติดต่อค้าขายตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา อีกทั้งชาวกัมพูชาเห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพดี ราคาสมเหตุสมผลและมีอายุการใช้งานนานกว่าสินค้าจีนและเวียดนาม จึงง่ายที่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาจะตัดสินใจซื้อสินค้าไทยซ้ำ
- กัมพูชามีอาณาเขตติดต่อกับไทยถึง 803 กิโลเมตร ครอบคลุม 7 จังหวัด ตั้งแต่ภาคอีสานตอนใต้ลงมาถึงภาคตะวันออก จึงเอื้อต่อการส่งออกสินค้าผ่านชายแดน ปัจจุบันสินค้าส่งออกของไทยไปกัมพูชาราวร้อยละ 70 เป็นการขนส่งผ่านชายแดนทางจุดผ่านแดนต่างๆ อาทิ จุดผ่านแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว(ตลาดโรงเกลือ) และจุดผ่านแดนบ้านหาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นต้น
ลักษณะของผู้บริโภคชาวกัมพูชา แบ่งตามกำลังซื้อ ดังนี้
- ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง มักเป็นกลุ่มนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง นักธุรกิจที่มีรายได้สูงจากการทำธุรกิจที่ดิน ค้าน้ำมัน หรือวัสดุก่อสร้าง ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมเดินทางไปซื้อสินค้าแบรนด์เนมชั้นนำของโลกจากต่างประเทศ
- ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อปานกลาง อาทิ นักธุรกิจทั่วไป เจ้าหน้าที่สถานทูต พนักงานองค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงดารา นักร้อง ผู้บริโภคกลุ่มนี้มักเลือกซื้อสินค้าโดยพิจารณาจากคุณภาพเป็นหลัก
- ผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อต่ำ ผู้บริโภคกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงชาวกัมพูชาที่มีรายได้จากเงินช่วยเหลือจากญาติที่ทำงานในต่างประเทศ มักเลือกซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลัก โดยใช้ราคาเป็นเกณฑ์สำคัญในการตัดสินใจซื้อมากกว่าคุณภาพสินค้า
นิยมเลือกซื้อสินค้าจากตลาดสดและร้านค้าปลีก
สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงพนมเปญ เปิดเผยว่าชาวกัมพูชาราวร้อยละ 70 นิยมซื้อสินค้าใน ตลาดสด เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของอาหารสด อาหารแห้ง ผัก ผลไม้ และร้านอาหาร อีกทั้งตลาดสดบางแห่งยังมีเสื้อผ้า เครื่องประดับ และเครื่องใช้ไฟฟ้าให้เลือกซื้ออีกด้วย ขณะที่วัยแรงงานที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะกรุงพนมเปญ และเสียมราฐนิยมซื้อสินค้าใน ร้านค้าปลีก ที่ตั้งอยู่ในย่านชุมชน เพราะสะดวกและมีสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นให้เลือกซื้อหลากหลาย ทั้งนี้ การที่ชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อไม่สูงนัก และมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าบ่อยครั้ง แต่ปริมาณการซื้อแต่ละครั้งไม่มาก สินค้าที่จะนำมาวางจำหน่ายในกัมพูชาจึงควรบรรจุห่อหรือซองขนาดเล็ก และตั้งราคาย่อมเยา
เกร็ดน่ารู้ : แม้ว่าปัจจุบันกัมพูชามีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ อาทิ Paragon Cambodia และ Sorya Shopping Center ตั้งอยู่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งเป็นศูนย์รวมแหล่งบันเทิงครบวงจร อาทิ โรงภาพยนตร์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหารแฟรนไชส์จากต่างประเทศ เช่น พิซซ่า ไอศกรีม แต่ยังตอบสนองเฉพาะผู้บริโภคชาวกัมพูชาที่มีกำลังซื้อสูง และนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น ขณะที่ผู้บริโภคชาวกัมพูชาที่มีกำลังซื้อปานกลาง-ต่ำยังนิยมเลือกซื้อสินค้าในตลาดสดและร้านค้าปลีก
- สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นสินค้าที่ชาวกัมพูชายังต้องการอยู่มาก โดยสินค้าที่ไทยมีโอกาสส่งออกสูง ได้แก่ สินค้าที่ใช้บริโภค โดยเฉพาะน้ำตาลทราย ซอสปรุงรส ปลากระป๋อง และซอสพริกที่มีรสเผ็ดน้อย เครื่องดื่มบำรุงกำลัง และสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น สบู่ ยาสีฟัน แชมพู ผงซักฟอก ครีมบำรุงผิว และชุดเครื่องครัวทำด้วยพลาสติก จำพวกถ้วย ชาม จาน ถาด และฝาชี
เกร็ดน่ารู้ :
สินค้าที่จะนำไปจำหน่ายในกัมพูชาควรมีลักษณะเหมือนกับสินค้าที่วางจำหน่ายในไทย ทั้งขนาด สี กลิ่นน้ำหนัก และลักษณะบรรจุภัณฑ์ภายนอก เพื่อป้องกันการเข้าใจผิด และง่ายแก่การจดจำเพื่อกลับมาซื้อซ้ำอีก
การขายตรงและการจำหน่ายสินค้าเงินผ่อนมักไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากชาวกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่ไม่มีเงินเดือนประจำหรือมีรายได้ไม่แน่นอน
- สินค้าที่ใช้ในธุรกิจท่องเที่ยวยังมีแนวโน้มสดใส ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาในกัมพูชาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจากกัมพูชามีแหล่งโบราณสถานสำคัญ โดยเฉพาะปราสาทนครวัด (Angkor Wat) ซึ่งเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลก ประกอบกับรัฐบาลกัมพูชายังพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อาทิ กรุงสีหนุวิลล์ ซึ่งเน้นการท่องเที่ยวทางทะเล ล่าสุดกระทรวงการท่องเที่ยวกัมพูชา (Ministry of Tourism of Cambodia) คาดว่าปี 2556 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในกัมพูชาราว 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 จากปี 2555 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวร้อยละ 10 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2550-2556 ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวนับเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าที่จำเป็นต้องใช้ในธุรกิจโรงแรม อาทิ ผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอน ผ้าห่ม ปลอกหมอน ของใช้ในห้องน้ำ อาทิ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม และหมวกคลุมผม รวมถึงสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว อาทิ ขนมขบเคี้ยว น้ำอัดลม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และหมากฝรั่ง
- เครื่องจักรกลการเกษตรยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากรัฐบาลกัมพูชามีนโยบายสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจเกษตรและเกษตรแปรรูป จึงกระตุ้นให้เกิดการขยายการลงทุนเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะข้าวและยางพารา จึงเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกรถไถนาเดินตาม รถเกี่ยวข้าว เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ่นยาฆ่าแมลง โดยเครื่องจักรกลเกษตรที่จะนำมาจำหน่ายในกัมพูชาควรมีลักษณะใช้งานง่าย และสามารถถอดซ่อมบำรุงได้เอง
- ชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อใช้เป็นอะไหล่ทดแทน (Replacement Equipment Manufacturing : REM) เพื่อป้อนให้กับอู่ซ่อมรถยนต์
และร้านจำหน่ายอะไหล่รถยนต์ในกัมพูชา เนื่องจากรถยนต์ที่ใช้ในกัมพูชาส่วนใหญ่เป็นรถยนต์มือสองนำเข้าจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ มีอายุการใช้งานมายาวนาน ประกอบกับถนนในกัมพูชาหลายเส้นทางยังมีสภาพทรุดโทรมเป็นหลุมเป็นบ่อ ทำให้ชิ้นส่วนรถยนต์มีอายุการใช้งานสั้นลง จึงเป็นโอกาสส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ REM อาทิ เพลาลูกปืน ไส้กรองอากาศ โช้คอัพ คลัตช์ ยางรถยนต์ เป็นต้น
- โทรทัศน์และป้ายโฆษณาขนาดใหญ่เป็นสื่อการตลาดที่เข้าถึงชาวกัมพูชาได้แพร่หลาย เนื่องจากชาวกัมพูชาสามารถรับชมรายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศจากประเทศไทย และชาวกัมพูชาชื่นชอบรายการละครโทรทัศน์ไทย เพราะมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมและความเชื่อที่ใกล้เคียงกัน จึงมีส่วนช่วยกระตุ้นยอดจำหน่ายสินค้าให้เพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งการประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ บริเวณแยกถนนตามเมืองสำคัญเป็นสื่อการตลาดอีกประเภทหนึ่งที่เรียกความสนใจจากผู้บริโภคชาวกัมพูชาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้การขายสินค้าแปลกใหม่ที่ไม่เคยวางจำหน่ายในกัมพูชามาก่อน ควรสาธิตและแนะนำวิธีการใช้ ควบคู่กับแจกสินค้าตัวอย่างให้ชาวกัมพูชานำกลับไปทดลองใช้ที่บ้านเพื่อสร้างความคุ้นเคย
แม้ว่ากัมพูชาเป็นตลาดส่งออกที่มีศักยภาพในการขยายตัวอีกมาก แต่ผู้ส่งออกที่สนใจส่งออกสินค้าไปกัมพูชาพึงระลึกเสมอว่าการทำการค้ากับกัมพูชายังมีข้อจำกัดบางประการ อาทิ ระบบสาธารณูปโภคยังไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะถนนซึ่งยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ และถนนบางเส้นทางยังมีสภาพเป็นหลุมเป็นบ่อจนอาจทำให้การขนส่งสินค้าล่าช้าหรือสร้างความเสียหายให้กับสินค้าได้ นอกจากนี้ ความอ่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนนำมาสู่การปิดชายแดน ก็เป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยากก็อาจทำให้การส่งออกสินค้าผ่านชายแดนต้องสะดุดลง และ อุปสรรคด้านภาษา เนื่องจากชาวกัมพูชาส่วนใหญ่มักใช้ภาษาเขมรในการติดต่อธุรกิจ จึงต้องระวังความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากความเข้าใจไม่ตรงกันในการติดต่อธุรกิจ
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2556--