เก็บตกจากต่างแดน: นั่งรถไฟทัวร์อาเซียน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 1, 2013 15:03 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

เป็นที่ทราบกันดีว่าการขนส่งทางระบบรางหรือรถไฟ เป็นการขนส่งที่มีต้นทุนค่อนข้างต่ำและปลอดภัย ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วส่วนใหญ่ที่มีเส้นทางรถไฟครอบคลุมทั่วประเทศ นิยมขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้าทางรถไฟเป็นหลัก สำหรับประเทศไทยแม้มีเส้นทางรถไฟยาวถึง 4,041 กิโลเมตร แต่ส่วนใหญ่เป็นรางเดี่ยวและค่อนข้างทรุดโทรมตามกาลเวลา ส่งผลให้การขนส่งต้องใช้ระยะเวลานานกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่ายินดีที่ภาครัฐให้ความสำคัญและเตรียมยกระดับระบบขนส่งทางรางครั้งใหญ่ โดยเฉพาะการพัฒนารถไฟความเร็วสูงและรถไฟรางคู่ เพื่อลดต้นทุน

โลจิสติกส์และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พร้อมรับมือกับการเปิดเสรีภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) “เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้ จึงขอพาท่านผู้อ่านไปสำรวจเส้นทางรถไฟในอาเซียน ซึ่งมีระยะทางถึง 12,600 กิโลเมตร เพื่อให้ทราบข้อมูลและสถานะการขนส่งทางระบบรางของประเทศเพื่อนบ้านสำคัญ ตลอดจนมองเห็นภาพรวมการเชื่อมโยงของเส้นทางรถไฟในภูมิภาคที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เส้นทางรถไฟในมาเลเซียและสิงคโปร์

มาเลเซียมีเส้นทางรถไฟยาว 1,699 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1) เส้นทางในคาบสมุทรมลายู ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นสายชายฝงั่ ทะเลตะวันตก เริ่มต้นที่ชายแดนไทย-มาเลเซียที่ด่านปาดังเบซาร์ สู่กรุงกัวลาลัมเปอร์ และเมืองยะโฮร์บารู ก่อนจะไปสิ้นสุดที่ Woodland Train Checkpoint สถานีรถไฟเพียงแห่งเดียวของสิงคโปร์ ขณะที่สายชายฝั่งทะเลตะวันออก เริ่มต้นที่เมืองตุมปัต (Tumpat) ไปจนถึงเมืองเกมาส (Gemas)และ 2) เส้นทางในรัฐซาบะห์ (Sabah) เชื่อมโยงระหว่างเมืองตันจุงอารู (Tanjung Aru)กับเมืองเตนอม (Tenom) ทั้งนี้ เส้นทางรถไฟในส่วนที่เชื่อมต่อกันระหว่างไทยกับมาเลเซียนับเป็นช่องทางการค้าและการขนส่งที่สำคัญ สินค้าที่ขนส่งส่วนใหญ่เป็นยางพาราและสินค้าอุปโภคบริโภค นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียและสิงคโปร์มีแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงกรุงกัวลาลัมเปอร์กับใจกลางประเทศสิงคโปร์ มูลค่าลงทุน ไม่ต่ำกว่า 8 พันล้านริงกิต คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 ซึ่งจะลดระยะเวลาการเดินทางด้วยรถไฟเหลือเพียง 1.5 ชั่วโมง จากเดิมไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง

เส้นทางรถไฟในอินโดนีเซีย

แม้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่ประกอบด้วยหมู่เกาะจำนวนมาก แต่ก็มีเส้นทางรถไฟยาวถึง 3,000 กิโลเมตร เส้นทางหลักส่วนใหญ่อยู่บนเกาะชวา ซึ่งเป็นที่ตั้งของกรุงจาการ์ตา แบ่งเป็น 2 สายเชื่อมโยงและครอบคลุมเกือบทั้งเกาะ ตั้งแต่เมืองเมรัก(Merak) ทางฝั่งตะวันตกไปจนถึงเมืองบันยูวาหงิ (Banyuwangi) ทางฝั่งตะวันออกขณะที่เส้นทางบนเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่และสำคัญทางตอนเหนือของอินโดนีเซีย ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางเก่าที่ก่อสร้างขึ้นโดยชาวดัชต์ในสมัยอาณานิคม ทั้งนี้สินค้าที่นิยมขนส่งทางรถไฟของอินโดนีเซียส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ การขนส่งน้ำมันระหว่างโรงกลั่นกับท่าเรือบนเกาะชวา การขนส่งทรายควอตซ์บริเวณตอนกลางของเกาะชวา การขนส่งถ่านหินบริเวณตอนใต้ของเกาะสุมาตรา การขนส่ง ปูนซีเมนต์จากโรงงานในเมืองอินดารัง (Indarung) ทางตะวันตกของเกาะสุมาตราการขนส่งปาล์มน้ำมันและยางพาราบริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ขณะที่การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ส่วนใหญ่จะอยู่บนเส้นทางกรุงจาการ์ตากับเมืองสุราบายา

เส้นทางรถไฟใน CLMV (กัมพูชา สปป.ลาว พม่า และเวียดนาม)

การขนส่งด้วยรถไฟในกลุ่มประเทศ CLMV ยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาและไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างเส้นทางรถไฟ ส่วนใหญ่ใช้ขนส่งผู้โดยสารเป็นหลัก ยกเว้นเวียดนามที่มีเส้นทางรถไฟยาว 2,557 กิโลเมตร เชื่อมโยงตั้งแต่กรุงฮานอยทางตอนเหนือของประเทศ ผ่านเมืองดานังทางตอนกลาง ไปจนถึงนครโฮจิมินห์ทางตอนใต้ นอกจากนี้ เส้นทางจากกรุงฮานอยไปตอนเหนือของประเทศยังแบ่งออกเป็น 3 สาย ได้แก่ 1) กรุงฮานอย-ท่าเรือไฮฟง 2) กรุงฮานอย-เมืองลาวไค(Lao Cai) เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของจีนไปยังเมืองคุนหมิง แต่ปจั จุบันเส้นทางเมืองลาวไค-เมืองคุนหมิงยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ และ 3) กรุงฮานอย- ด่านดองดัง(Dong Dang) เพื่อเชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟของจีนไปยังเมืองหนานหนิง ซึ่งปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว สำหรับตอนใต้ของเวียดนามมีจุดเชื่อมต่อสำคัญระหว่างนครโฮจิมินห์ กับกรุงพนมเปญของกัมพูชา ระยะทาง 126 กิโลเมตร ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งจุดนี้นับเป็น Missing Link สำคัญของเส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์ สำหรับเส้นทางรถไฟในพม่า ก่อสร้างตั้งแต่สมัยอาณานิคมอังกฤษ โดยมี 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ เมืองย่างกุ้ง-กรุงเนปิดอว์-เมืองมัณฑะเลย์ และเมืองย่างกุ้ง-เมืองพุกาม-เมืองมัณฑะเลย์ ขณะที่เส้นทางรถไฟในกัมพูชา ปัจจุบันเปิดให้บริการรวมระยะทาง 256 กิโลเมตร ส่วน สปป.ลาว เปิดให้บริการเพียง 3.5 กิโลเมตร จากชายแดนไทยบริเวณจังหวัดหนองคาย-สถานีท่านาแล้งในนครหลวงเวียงจันทน์

เส้นทางรถไฟสายคุนหมิง-สิงคโปร์

การขนส่งระบบรางในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวตามการค้าการลงทุนที่จะเชื่อมโยงกันมากขึ้นภายใต้ AEC โดยที่ผ่านมามีแนวคิดเชื่อมโยงระบบรางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับตอนใต้ของจีนในเส้นทางสายคุนหมิง-สิงคโปร์ ระยะทางราว 4,000 กิโลเมตร แบ่งเป็น 2 เส้นทาง ได้แก่ 1) เมืองคุนหมิง (จีน) - นครหลวงเวียงจันทน์ (สปป.ลาว) - กรุงเทพฯ (ไทย) - กรุงกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) - สิงคโปร์ และ 2) เมืองคุนหมิง (จีน) - กรุงฮานอย (เวียดนาม) - นครโฮจิมินห์ (เวียดนาม) - กรุงพนมเปญ (กัมพูชา) - กรุงเทพฯ (ไทย) - กรุงกัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย) - สิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม ทั้งสองเส้นทางยังมี Missing Link อยู่หลายจุดและหลายเส้นทาง อีกทั้งในบางเส้นทางจะปรับปรุงเป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูง จึงคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกพอสมควรในการพัฒนา แต่หากเส้นทางรถไฟสายนี้สามารถเปิดดำเนินการได้ จะลดระยะเวลาเดินทางในภูมิภาคได้อีกมาก ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าหากสามารถพัฒนาไปสู่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงทั้งระบบจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางจาก คุนหมิง-สิงคโปร์เหลือเพียง 10 ชั่วโมง จากปัจจุบันใช้ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 72 ชัว่ โมงในการเดินทางด้วยรถไฟจากสิงคโปร์ไปจนถึงนครหลวงเวียงจันทน์

การพัฒนาระบบขนส่งทางรางในภูมิภาคอาเซียนนับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่จะสร้างความสำเร็จในการจัดตั้ง AEC ด้วยการเป็นเครื่องมือเชื่อมโยงเศรษฐกิจ สังคมและประชากรในภูมิภาคเข้าด้วยกัน ดังเช่นที่เกิดขึ้นในสหภาพยุโรปหรือ EU ทุกท่านจึงควรติดตามความคืบหน้าและเตรียมความพร้อมเพื่อรับโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังโครงการพัฒนาระบบรางในภูมิภาคแล้วเสร็จในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กันยายน 2556--


แท็ก อาเซียน   รถไฟ  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ