ปัจจุบันพม่านำเข้าสินค้าจากจีนมากเป็นอันดับ 1 มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 40 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของพม่า ขณะที่ไทยเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญอันดับ 2 มีสัดส่วนร้อยละ 23 ของมูลค่านำเข้าทั้งหมดของพม่า ทั้งนี้สินค้าไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของชาวพม่า เนื่องจากชาวพม่ามองว่าสินค้าไทยเป็นสินค้าระดับบน มีคุณภาพสูง รูปลักษณ์สวยงามและทันสมัย ซึ่งมีส่วนช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์และบุคลิกภาพให้แก่ผู้ใช้ เมื่อประกอบกับทำเลที่ตั้งของไทยกับพม่าที่มีพรมแดนติดต่อกันถึง 2,401 กิโลเมตรจึงเอื้อประโยชน์ต่อการค้าระหว่างกันตามแนวชายแดน สะท้อนได้จากมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างไทยกับพม่าในปี 2555 มีสัดส่วนถึงร้อยละ 85 ของมูลค่าการค้าทั้งหมดระหว่างไทยกับพม่า นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังมีความคุ้นเคยและค้าขายกับพม่ามายาวนาน อีกทั้งการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2558 จะทำให้ผู้ประกอบการไทยได้รับสิทธิประโยชน์ด้านการค้าการลงทุนเหนือประเทศนอกกลุ่ม ซึ่งล้วนเป็นปจั จัยสะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบในการขยายการส่งออกสินค้าไปพม่า สำหรับสินค้าส่งออกของไทยที่มีศักยภาพในการเจาะตลาดพม่า ที่สำคัญ มีดังนี้
สินค้าอุปโภคบริโภค
ชาวพม่ามีความคุ้นเคยเป็นอย่างดีกับสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย เนื่องจากส่วนหนึ่งเคยใช้สินค้าไทยในขณะที่ตนเองหรือญาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย จึงมีความเชื่อมัน่ และถือว่าสินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยเป็นสินค้าคุณภาพดี ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยเกือบทุกชนิดเป็นที่ต้องการในพม่า โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน อาทิ น้ำตาลทราย น้ำปลา น้ำมันพืช ซอสปรุงรสและผงชูรส เป็นต้น ขณะที่อาหารสำเร็จรูปและอาหารพร้อมรับประทานเริ่มได้รับความนิยมจากชาวพม่ามากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะชาวพม่าที่อยู่ในเมืองเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ กรุงเนปิดอว์ เมืองย่างกุ้ง และเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อให้สอดรับกับวิถีชีวิตที่เร่งรีบขึ้น ทั้งนี้ พม่าเป็นตลาดส่งออกบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปและอาหารสำเร็จรูปอันดับ 4 ของไทย รองจากสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ พม่ายังเป็นตลาดส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ (Soft Drink) อันดับ 1 ของไทยซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครื่องดื่มประเภทเครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มเกลือแร่ นมถั่วเหลือง และชาพร้อมดื่ม ทั้งนี้มูลค่าส่งออกเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ของไทยไปพม่ามีอัตราการขยายตัวสูงในระดับ 2 หลักมาอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมูลค่าส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทเครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ซึ่งมีอัตราการขยายตัวในระดับ 2 หลักเช่นกัน เนื่องจากชาวพม่าโดยเฉพาะกลุ่มสตรีวัยทำงาน ซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 35 ของประชากรทั้งหมดในพม่า ให้ความสำคัญกับการรักษาความงามของร่างกายและผิวพรรณให้ดูดีอยู่เสมอ เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากสื่อไทย ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มดังกล่าวเพิ่มขึ้น
สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ยังเป็นการจัดจำหน่ายผ่านธุรกิจค้าปลีกแบบดั้งเดิมซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 80 ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมดในพม่า อย่างไรก็ตาม ธุรกิจค้าปลีก สมัยใหม่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเมืองเศรษฐกิจสำคัญอย่างเมืองย่างกุ้ง ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่สำคัญในอนาคต
สินค้าทุน เครื่องจักร และวัสดุก่อสร้าง
ปัจจุบันพม่าอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน อาทิ ถนน ท่าเรือ สนามบิน และโรงไฟฟ้า เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศที่หลัง่ ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงการท่าเรือน้ำลึกและนิคม อุตสาหกรรมทวาย ซึ่งเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทัว่ โลก รวมถึงการก่อสร้างโรงแรมและที่พักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวของพม่ารายงานว่าในปี 2555 พม่ามีห้องพัก 28,291 ห้อง จากโรงแรมและที่พักทั้งหมด 787 แห่งทั่วประเทศในจำนวนนี้เป็นโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปเพียง 23 แห่ง หรือราวร้อยละ 3 ของจำนวนโรงแรมและที่พักทั้งหมด อีกทั้งในฤดูกาลท่องเที่ยว (พฤศจิกายน-มีนาคม) ห้องพักทั่วประเทศถูกจองเต็มเกือบทั้งหมด ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง อาทิ เครื่องจักรกล ปูนซีเมนต์ และเหล็ก มากขึ้น เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างต่างๆ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2556 พม่าจะนำเข้าวัสดุก่อสร้างจากไทยเพิ่มขึ้นเป็น 350-364 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 20 ของมูลค่านำเข้าวัสดุก่อสร้างทั้งหมด ทั้งนี้ ในปี 2555 พม่าเป็นตลาดส่งออกปูนซีเมนต์ อันดับ 1 ของไทย
สำหรับการส่งออกสินค้าประเภทอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตร อาทิ เครื่องสีข้าวขนาดเล็กรถไถนาเดินตาม เครื่องใส่ปุ๋ย เครื่องสูบน้ำ และเครื่องพ่นย่าฆ่าแมลงแบบโยกด้วยมือ ก็มีโอกาสขยายตัวเช่นกัน เนื่องจากชาวพม่าส่วนใหญ่ยังประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ มีสัดส่วนถึงร้อยละ 60 ของ GDP ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าอุปกรณ์และเครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะกับตลาดพม่าควรมีเทคโนโลยีไม่ซับซ้อน ใช้งานง่าย สามารถซ่อมแซมหรือบำรุงรักษาได้ด้วยตัวเองและราคาไม่สูงนัก เนื่องจากเกษตรกรชาวพม่าส่วนใหญ่ยังขาดทักษะ และมีข้อจำกัดด้านเงินทุน
ตลาดพม่าเริ่มเป็นที่จับตามองมากขึ้น หลังจากหลายประเทศทยอยยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรพม่าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ส่งออกและนักลงทุนของประเทศนั้นสามารถดำเนินธุรกรรมต่างๆ กับพม่าได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการไทยอาจต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเตรียมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ด้วยการหาพันธมิตรที่เป็นคนท้องถิ่นที่ไว้ใจได้เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ และให้ข้อมูลด้านการค้าการลงทุนเชิงลึกยิ่งขึ้น รวมถึงการเดินทางไปสำรวจและศึกษาตลาดในพม่าด้วยตนเองเพื่อให้รู้จักรสนิยมของผู้บริโภคชาวพม่า และนำไปปรับปรุงผลิตภัณฑ์ของตนให้สอดคล้องกับความต้องการของชาวพม่ามากขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการทีมี่บุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2556--