เก็บตกจากต่างแดน: ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักร

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 1, 2013 14:01 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

สินค้าเกษตรอินทรีย์เป็นหนึ่งในทางเลือกของผู้บริโภคที่ใส่ใจในสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่มีราคาแพงกว่าสินค้าปกติ ผู้บริโภคที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้า ดังกล่าวจึงเป็นผู้บริโภคที่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่มีขนาดใหญ่มักอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก สหราชอาณาจักรถือเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่ผู้บริโภคมีความตื่นตัวในการเลือกซื้อสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม โดยราว 4 ใน 5 ของครัวเรือนในสหราชอาณาจักรบริโภคและใช้สินค้าเกษตรอินทรีย์ ขณะที่ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหราชอาณาจักรใหญ่เป็นอันดับ 3 ของ EU รองจากเยอรมนี และฝรัง่ เศส อย่างไรก็ตาม ในปี 2555 ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหราชอาณาจักรหดตัวลงร้อยละ 1.5 จากปีก่อนหน้า เหลือ 1.64 พันล้านปอนด์ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรที่ชะลอตัว ทำให้ซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ประมาณการยอดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ว่าอาจมีแนวโน้มลดลง จึงลดพื้นที่จำหน่ายสินค้าประเภทดังกล่าว ประกอบกับผลผลิตสินค้าเกษตรของสหราชอาณาจักร รวมถึงสินค้าเกษตรอินทรีย์ มีปริมาณลดลง เนื่องจากประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร และต้นทุนวัตถุดิบ อาทิ อาหารสัตว์และราคาน้ำมัน ปรับสูงขึ้น ทั้งนี้ แม้ภาพรวมของมูลค่าตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรในปี 2555 หดตัวลง แต่ยอดจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ในบางช่องทางกลับขยายตัว รวมถึงการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์บางประเภทยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

การเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านช่องทางออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น โดยยอดจำหน่ายของร้านค้าออนไลน์ที่เน้นสินค้าเกษตรอินทรีย์รายสำคัญ 3 แห่ง ได้แก่ Ocado, Abel&Cole และ Riverford เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 ในปี 2555 สวนทางกับยอดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านหน้าร้านซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านค้าปลีกรายใหญ่ อาทิ Tesco, Asda และ Sainsbury ที่หดตัวร้อยละ 3.8 แสดงให้เห็นถึงความนิยมของการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่มีเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีสินค้าให้เลือกหลากหลาย และได้รับความสะดวกสบายจากบริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน ขณะที่พื้นที่จัดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีกทั่วไปมีค่อนข้างจำกัด ทำให้มีสินค้าเกษตรอินทรีย์ไม่หลากหลายและมีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้แนวโน้มดังกล่าวทำให้ร้านค้าปลีกรายใหญ่ให้ความสนใจในการทำตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่จัดจำหน่ายที่มีจำกัด รวมถึงเป็นช่องทางเพื่อติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

วัยรุ่นและวัยทำงานเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ต้องให้ความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยทั่วไปราวครึ่งหนึ่งของผู้ที่เลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์ในสหราชอาณาจักรเป็นกลุ่มคนเกษียณอายุ และกลุ่มวัยทำงานที่ไม่มีภาระในการเลี้ยงดูลูกแล้ว กลุ่มผู้บริโภคดังกล่าวใส่ใจในสุขภาพค่อนข้างมากและมีกำลังซื้อมากพอ อย่างไรก็ตาม กระแสความเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นปัจจัยผลักดันให้กลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับการศึกษาดีทั้งกลุ่มนักศึกษาและวัยทำงาน หันมาเลือกซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจากการสำรวจของร้าน Planet Organic ร้านจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ชื่อดังในกรุงลอนดอน พบว่าลูกค้ากลุ่มนักศึกษาใช้จ่ายซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15 เทียบกับยอดจำหน่ายรวมของร้านที่ขยายตัวราวร้อยละ 5 เท่านั้น

ความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านร้านอาหารและผู้ให้บริการด้านอาหารมีแนวโน้มขยายตัว Soil Association องค์กรด้านเกษตรอินทรีย์สำคัญของสหราชอาณาจักร ประเมินว่าการจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ผ่านทางร้านอาหารและผู้ให้บริการด้านอาหารในสหราชอาณาจักรมีมูลค่า 15.9 ล้านปอนด์ ในปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการ “Food for Life” ซึ่งผลักดันให้สถานศึกษา รวมถึงโรงพยาบาล ในอังกฤษ เปลี่ยนมาใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ในการประกอบอาหารสำหรับนักเรียนและคนไข้ โดยใช้ตรา “Food for Life Catering” เป็นเครื่องหมายรับรองผู้ให้บริการอาหารดังกล่าว ปจั จุบันราว 1 ใน 5 ของโรงเรียนในอังกฤษ รวมถึงมหาวิทยาลัยและโรงพยาบาลหลายแห่ง เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมโครงการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ การใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ในการประกอบอาหารเพื่อแสดงถึงความใส่ใจต่อสุขภาพของลูกค้าเริ่มถูกนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่ของร้านอาหารทัว่ ไปเช่นเดียวกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของ McDonald ในสหราชอาณาจักร ซึ่งใช้วัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ประกอบอาหารชุดสำหรับเด็ก “Happy Meal” รวมถึงใช้นมอินทรีย์สำหรับผสมในกาแฟและชาของร้าน

อุตสาหกรรมสิ่งทออินทรีย์มีแนวโน้มขยายตัวดี สังเกตได้จากรายได้ของผู้ผลิตสิ่งทออินทรีย์ในสหราชอาณาจักรที่ได้มาตรฐาน Global Organic Textiles Standards (GOTS) ขยายตัวถึงร้อยละ 10 ในปี 2555 ขณะที่จำนวนผู้ผลิตสิ่งทออินทรีย์ทั่วโลกที่ได้รับมาตรฐาน GOTS เพิ่มขึ้นเป็น 2,995 ราย ในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 10 จากปีก่อนหน้า ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทออินทรีย์ ส่วนใหญ่เน้นใช้วัตถุดิบที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์ (รวมถึงปศุสัตว์) อาทิ ฝ้าย ขนสัตว์ และไหม ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องมีตั้งแต่ผู้ผลิตเส้นใย เส้นด้าย ผ้าผืน ไปจนถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป นอกจากนี้ ยังรวมถึงผู้ประกอบการฟอกย้อมและพิมพ์ผ้าที่ใช้วัตถุดิบอินทรีย์อีกด้วย

ความต้องการใช้สินค้าอินทรีย์ที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามยังขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ Soil Association ประเมินว่าตลาดสินค้าอินทรีย์ที่เกี่ยวกับสุขภาพและความงามในสหราชอาณาจักรมีมูลค่า 31.8 ล้านปอนด์ ในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 5.6 จากปีก่อนหน้า โดยแบรนด์ที่ครองส่วนแบ่งตลาดมากที่สุด คือ “Neil’s Yard Remedies” มียอดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสินค้าอินทรีย์ในปี 2555 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 12.9 ปจั จุบันมีร้านกว่า 40 แห่งในสหราชอาณาจักร และร้านในประเทศอื่นกว่า 80 แห่งทั่วโลก

แม้ตลาดสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสหราชอาณาจักรจะหดตัวในปี 2555 จากภาวะเศรษฐกิจและปญั หาด้านอุปทาน แต่สถานการณ์การจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์และความต้องการใช้สินค้าอินทรีย์หลายประเภทที่ขยายตัว แสดงให้เห็นว่าสินค้าเกษตรอินทรีย์ยังมีแนวโน้มดีในระยะข้างหน้า โดยเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากยอดจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มอินทรีย์ของสหราชอาณาจักรในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2556 ที่กลับมาขยายตัว สหราชอาณาจักรจึงถือเป็นตลาดสำคัญของผู้ส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่ยังต้องให้ความสำ คัญ โดยสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่จะส่งออกไปยังสหราชอาณาจักรต้องผ่านการตรวจรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของสหภาพยุโรป ซึ่งหน่วยงานของไทยที่สามารถรับรองมาตรฐานดังกล่าวได้ คือ สำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้ ปจั จุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยที่มีศักยภาพในตลาดส่งออก อาทิ ข้าวอินทรีย์ ผักอินทรีย์ น้ำมันมะพร้าวอินทรีย์ และไหมอินทรีย์ เป็นต้น

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ตุลาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ