หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่ 5 อันดับแรก ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันกว่า 83% ของเศรษฐกิจยูโรโซน พบว่ามีเพียง 2 ประเทศที่เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดี นั่นคือ เยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 1 และ 2 ของยูโรโซนและมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 50% ของเขตเศรษฐกิจดังกล่าว ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศที่เหลือส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอิตาลี สเปนและเนเธอร์แลนด์ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยในยูโรโซนยังคงหดตัว นอกจากนี้ อัตราว่างงานของประเทศต่างๆ ในยูโรโซนยังอยู่ในระดับสูง มีเพียงเยอรมนีประเทศเดียวที่อัตราว่างงานลดต่ำลงมาอยู่ในระดับ 5.3% ขณะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับเกินกว่าเลขสองหลัก ซึ่งส่งผลให้อัตราว่างงานโดยรวมของยูโรโซนล่าสุดในเดือนกรกฎาคม ยังอยู่ที่ 12.1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่มีการรวมกลุ่มเศรษฐกิจเพื่อใช้เงินสกุลยูโรในปี 2542 ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาถึงการขาดดุลการคลังและมีหนี้สาธารณะซึ่งเป็นปญหาเชิงโครงสร้างที่สำคัญของยูโรโซนพบว่าเกือบทุกประเทศยังคงมีระดับการขาดดุลการคลังและมีหนี้สาธารณะ เกินกว่าเกณฑ์ในสนธิสัญญา Maastricht ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกขาดดุลการคลังและมีหนี้สาธารณะต่อ GDP ได้ไม่เกิน 3% และ 60% ตามลำดับ
ทั้งนี้ หากพิจารณาตัวเลขการส่งออกของไทยไปยูโรโซน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 6.8% ของมูลค่าส่งออกรวม พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 มูลค่าส่งออกของไทยไปยูโรโซนขยายตัว 5.3% โดยการขยายตัวดังกล่าวมีแรงขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกไปเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์ที่ขยายตัว 11.3% และ 10.4% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาดยูโรโซนอื่นๆ ที่เหลือยังหดตัว 0.6%
แม้เศรษฐกิจยูโรโซนจะมีทิศทางดีขึ้น แต่โดยรวมแล้วเป็นผลจากการขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจเยอรมนีเป็นหลัก ขณะที่เศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ยังมีปญหารุมเร้า สอดคล้องกับตัวเลขการส่งออกของไทยไปเยอรมนีที่ขยายตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปเนเธอร์แลนด์แม้ในช่วง 8 เดือนแรกจะขยายตัวดีแต่ยังมีความ ไม่แน่นอนสูง เนื่องจากเศรษฐกิจเนเธอร์แลนด์ยังคงหดตัวติดต่อกันถึง 4 ไตรมาส ประกอบกับรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องลดการขาดดุลการคลังในระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนในระยะถัดไป ขณะที่ประเทศอื่นๆ ที่เหลือยังเผชิญกับปญหาการว่างงานและปญหาเชิงโครงสร้างที่ยังแก้ไม่ตก ตรงจุดนี้ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของผู้ส่งออกไทยในระยะถัดไป จึงยังไม่สามารถวางใจได้กับตัวเลขเศรษฐกิจ ยูโรโซนที่ดูดีขึ้น
Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย