บทความน่ารู้จาก Exim: เกาะติดโอกาสทางธุรกิจบนเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 4, 2013 14:46 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 (เชียงราย-บ่อแก้ว) มูลค่า 1,486.5 ล้านบาท เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาเส้นทางคมนาคมภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Geate Mek Subei : GMS) และเป็นสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งใหม่ ซึ่งก่อสร้างเพิ่มจากเดิมที่มีอยู่แล้ว 3 แห่ง คือ สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย - เวียงจันทน์) สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 2 (มุกดาหาร - สะหวันนะเขต) และสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม - คำม่วน) จากความร่วมมือของ 3 ประเทศ คือ ไทย จีน และ สปป.ลาว ตามแผนการพัฒนาเส้นทางคมนาคมขนส่งทางบกในแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (Nth-Suth Ecmic Ci : NSEC) เพื่อช่วยพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น อันจะช่วยเกื้อหนุนการค้า

การลงทุน และการท่องเที่ยวของทั้งสองประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Ecmic Cmmuity : AEC) ในปี 2558 นอกจากนี้ ยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายถนนจากภาคเหนือของไทยผ่าน สปป.ลาว ไปยังนครคุนหมิง เมืองหลวงของมณฑลยูนนาน ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของจีน และเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจ ทั้งนี้ เป็นที่คาดว่าการเปิดใช้สะพานดังกล่าวอย่างเป็นทางการจะช่วยขยายโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการไทยได้อีกมาก

ที่ตั้งและความคืบหน้าของโครงการ
  • ที่ตั้งโครงการ ตั้งอยู่ระหว่างบ้านดอนมหาวัน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ของไทย กับบ้านดอน เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว ตัวสะพานมีถนน 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.48 กิโลเมตร
  • ความคืบหน้าของโครงการ ปจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จราวร้อยละ 95 ของทั้งโครงการ มีกำหนดเปิดใช้สะพานอย่างเป็นทางการในวันที่ 11 ธันวาคม 2556
สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 : ขยายโอกาสทางธุรกิจแก่ผู้ประกอบการไทย

นอกจากเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ให้คล่องตัวยิ่งขึ้นแล้ว สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 ยังช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้นในการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้ รวมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวตามเส้นทางดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายการคมนาคมใน GMS และการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคอาเซียนกับจีนตอนใต้ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

  • โอกาสขยายการค้าสู่ตลาดจีนตอนใต้ การเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 จะเป็นจุดเชื่อมต่อที่สำคัญบนเส้นทางหมายเลข 3A (R3A) ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญในการคมนาคมขนส่งทางบกจากไทยสู่ตลาดจีนตอนใต้ในมณฑลยูนนานให้มีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องขนถ่ายสินค้าข้ามแพขนานยนต์เพื่อขนส่งข้ามแม่น้ำโขง อันจะช่วยรักษาความสดใหม่ของผลไม้ไทยที่ขนส่งผ่านเส้นทางดังกล่าว อีกทั้งยังมีส่วนช่วยกระตุ้นการค้าผ่านแดนระหว่างไทยและจีนตอนใต้ผ่านด่านเชียงของ จ.เชียงราย ให้เติบโตจากมูลค่าการค้าในปจจุบันซึ่งอยู่ที่ 7,784 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 25 ของมูลค่าการค้าผ่านแดนระหว่างไทยและจีนตอนใต้) โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้ เช่น มังคุด มะขาม กล้วย ลำไยแห้ง และทุเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไป สปป.ลาว และจีนตอนใต้ไปมณฑลตอนในของจีน

ทั้งนี้ การขนส่งผ่านเส้นทาง R3A เริ่มต้นจาก อ.เมืองเชียงราย ไปทาง อ.เชียงของ จ.เชียงราย ข้ามสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 4 ที่ อ.เชียงของ ไปเชื่อมกับเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ใน สปป.ลาว ผ่านเมืองบ่อเต็น แขวงหลวงน้ำทา ซึ่งติดกับชายแดนจีนตอนใต้ที่ด่านบ่อหานในมณฑลยูนนาน ต่อไปยังเมืองเชียงรุ่ง และเข้าสู่นครคุนหมิง รวมระยะทางราว 1,200 กิโลเมตร โดยนครคุนหมิงมีเครือข่ายคมนาคมพร้อมรองรับการกระจายสินค้าต่อไปยังมณฑลตอนในของจีน อาทิ เทศบาลนครฉงชิ่ง และเมืองเฉิงตูในมณฑลเสฉวน ซึ่งผู้บริโภคล้วนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การแข่งขันยังไม่รุนแรงนัก จึงเป็นตลาดการค้าที่น่าสนใจของไทย

  • โอกาสของธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง สะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 จะมีส่วนช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางและกระตุ้นธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจบริการนำเที่ยว ร้านอาหารไทย เป็นต้น ตามเส้นทางที่เชื่อมต่อถึงกัน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจหลายแห่งที่มีศักยภาพในการรองรับธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ หมู่บ้านอนุรักษ์วัฒนธรรมไทลื้อ วัดหลวงบ้านเชียงใจ และพระธาตุเมืองสิงห์ ในแขวงหลวงน้ำทา วัดหลวงเมืองลื้อ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในเมืองเชียงรุ่ง และเมืองโบราณลี่เจียงสถานที่ท่องเที่ยวอันเป็นมรดกโลกที่เลื่องชื่อของมณฑลยูนนาน เป็นต้น นอกจากนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวใน จ.เชียงราย ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนตอนใต้ และ สปป.ลาว ซึ่งมีกำลังซื้อเพิ่มสูงขึ้นตามระดับการพัฒนาประเทศ อันจะมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจของ จ.เชียงราย ในระยะถัดไป

แม้ว่าการเปิดใช้สะพานสะพานมิตรภาพไทย - สปป.ลาว แห่งที่ 4 จะสร้างโอกาสทางการค้าโดยช่วยให้การขนส่งสินค้าจากไทยไปจีนสะดวกรวดเร็วขึ้น แต่ในทางกลับกันก็เป็นโอกาสให้สินค้าราคาถูกจากจีน เช่น กระเทียม หอมแดงและหอมใหญ่ รวมทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า อาจทะลักเข้ามาตีตลาดสินค้าไทยผ่านเส้นทางดังกล่าว ซึ่งเป็นความท้าทายที่ผู้ประกอบไทยควรเตรียมรับมือเช่นกัน

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


แท็ก คมนาคม   ลาว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ