ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในประเทศ ทั้งเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานฟอสซิล ได้แก่ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน รวมถึงเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิล อันเป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะโลกร้อน ทั้งนี้ การลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้นก่อให้เกิดความต้องการใช้สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้ จากเดิมที่ประเทศพัฒนาแล้วมักเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและเป็นผู้ส่งออกสินค้าและบริการประเภทดังกล่าวมายังประเทศกำลังพัฒนา แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมด้านพลังงานหมุนเวียนในประเทศกำลังพัฒนามีการพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นโอกาสของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศในการส่งออกสินค้าและบริการด้านพลังงานหมุนเวียน โดยแนวโน้มสินค้าและบริการที่น่าสนใจในปัจจุบัน มีดังนี้
เทคโนโลยีของเครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล ส่วนใหญ่มาจากผู้ผลิตในประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี และญี่ปุ่น ดังนั้น ที่ผ่านมาโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศต่างๆ จึงต้องพึ่งพาการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์จากประเทศดังกล่าวเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในทศวรรษที่ผ่านมาอุตสาหกรรมเครื่องจักรและอุปกรณ์ในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว จนปัจจุบันบางประเทศมีศักยภาพในการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านพลังงาน ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่
- จีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกแผงโซลาร์รายใหญ่ที่สุดของโลก โดยคาดว่าจีนจะส่งออกแผงโซลาร์ราว 22-23 กิกะวัตต์ในปี 2556 จากความต้องการนำเข้าทั่วโลกที่ราว 35 กิกะวัตต์ ทั้งนี้ ความสำเร็จของจีนมาจากการที่จีนมีอุตสาหกรรมผลิตโพลีซิลิกอน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตโซลาร์เซลล์ ประกอบกับจีนมีผู้ผลิตแผงโซลาร์ถึงกว่า 400 แห่ง อีกทั้งนโยบายด้านพลังงานในประเทศให้ความสำคัญกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสง
“กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเป็น 101 กิกะวัตต์ในปี 2555 โดยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นมากในปี 2555 มาจากจีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น”
- อินเดียเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมรายสำคัญของโลก ครองส่วนแบ่งตลาดส่งออกอุปกรณ์ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมราวร้อยละ 12 ขณะที่บริษัท Suzlon Energy ของอินเดีย ถือเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านพลังงานลมอันดับ 3 ของโลก ความสำเร็จของอินเดียมาจากการพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 70 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทั้งหมดในประเทศ ทั้งนี้
นอกจากจีนและอินเดียที่ประสบความสำเร็จในการส่งออกเครื่องจักรและอุปกรณ์ด้านพลังงานหมุนเวียนแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ก็มีโอกาสที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวเช่นเดียวกัน อาทิ มองโกเลียเริ่มส่งออกแผงโซลาร์ไปญี่ปุ่นในปี 2555 โดยบริษัท Sankou Solar Mongolia ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2554 ขณะที่พลังงานสะอาดอื่นๆ เช่น เทคโนโลยีอนาคตอย่างเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) สำหรับใช้ในยานยนต์ ก็ถือเป็นโอกาสของประเทศพัฒนาหลายประเทศ อาทิ บราซิลซึ่งมีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และตั้งเป้าส่งออกรถบรรทุกที่ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในอนาคตอันใกล้ ขณะที่แอฟริกาใต้มีโอกาสส่งออกแร่แพลตินัมที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเซลล์เชื้อเพลิง เนื่องจากแอฟริกาใต้เป็นแหล่งแร่แพลตินัมสำคัญสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของปริมาณแร่แพลตินัมทั่วโลก
พลังงานไฟฟ้ากลายเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีภูมิประเทศเหมาะสมกับการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ ตัวอย่างที่สำคัญ ได้แก่ สปป.ลาว ซึ่งในปี 2554 ส่งออกพลังงานไฟฟ้าเป็นสัดส่วนร้อยละ 9 ของมูลค่าส่งออกทั้งประเทศ โดยการส่งออกดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นการป้อนพลังงานไฟฟ้าให้ไทยกว่า 1 หมื่นกิกะวัตต์ชั่วโมง เช่นเดียวกับภูฏานที่สร้างรายได้เข้าประเทศถึงร้อยละ 30 จากการส่งออกไฟฟ้าจากเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำไปอินเดีย และยังมีแผนก่อสร้างเขื่อนอีก 8 แห่ง เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้เข้าประเทศเป็นร้อยละ 40 ภายในปี 2561 สำหรับทวีปแอฟริกา คองโกเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของประเทศที่มีศักยภาพในการส่งออกพลังงานไฟฟ้า โดยปัจจุบันมีโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ Grand Inga แบ่งเป็นโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 6 แห่ง (Inga III-XIII) กำลังการผลิตรวม 4 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จจะกลายเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก และจะกลายเป็นฐานการผลิตไฟฟ้าสำคัญสำหรับทวีปแอฟริกา ปัจจุบันโครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก (Inga III) กำลังการผลิต 4.8 พันเมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งออกไฟฟ้าไปแอฟริกาใต้ 2.5 พันเมกะวัตต์ ที่เหลือเป็นการป้อนให้กับอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในประเทศ คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าป้อนเข้าระบบได้ในปี 2563 ทั้งนี้ บางประเทศอาจมีโอกาสส่งออกไฟฟ้าจากพลังงานประเภทอื่นด้วยเช่นกันในอนาคต อาทิ ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และไฟฟ้าจากพลังงานลมจากประเทศมองโกเลีย และไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพจากเคนยา เป็นต้น
เชื้อเพลิงชีวภาพที่ผลิตจากผลผลิตทางการเกษตร อาทิ เอทานอล และไบโอดีเซล ถือเป็นพลังงานสำคัญที่ช่วยลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงหลักอย่างน้ำมัน ประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกพืชพลังงาน เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และพืชน้ำมัน และไม่มีปัญหาการขาดแคลนพื้นที่เพาะปลูกพืชอาหาร จึงมีโอกาสส่งออกเชื้อเพลิงชีวภาพดังกล่าวไปยังประเทศอื่นที่มีนโยบายใช้เชื้อเพลิงชีวภาพ ปัจจุบันบราซิลเป็นประเทศผู้ส่งออกเอทานอลรายสำคัญที่สุดของโลก เนื่องจากเป็นผู้ผลิตอ้อยรายใหญ่สุดของโลก โดยส่งออกเอทานอลถึง 3.05 พันล้านลิตรในปี 2555 ขณะที่ตลาดไบโอดีเซล ประเทศผู้ส่งออกรายสำคัญของโลก ได้แก่ อาร์เจนตินา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยอาร์เจนตินาใช้ถั่วเหลืองเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล ขณะที่มาเลเซียและอินโดนีเซียใช้ปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบ
บริการด้านพลังงานหมุนเวียนส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและก่อสร้างโครงการ ซึ่งในระยะเริ่มแรกผู้ให้บริการส่วนใหญ่มักเป็นเจ้าของเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน หรือเป็นผู้พัฒนาโครงการในประเทศพัฒนาแล้วที่มีประสบการณ์ แต่ปัจจุบันผู้พัฒนาโครงการในประเทศกำลังพัฒนาหลายรายมีประสบการณ์มากขึ้นจนสามารถที่จะให้บริการนอกประเทศได้ ตัวอย่างในกรณีของไทย เช่น ผู้พัฒนาโครงการประเภทชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และพลังงานแสงอาทิตย์ เริ่มหาตลาดในการรุกประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น ขณะที่กลุ่มผู้รับเหมาก่อสร้างที่เชี่ยวชาญด้านโรงไฟฟ้าพลังน้ำ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ก็มีโอกาสรับงานในประเทศเพื่อนบ้านเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
การที่ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนของไทยขยายตัวสูงในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะสร้างโอกาสให้กับผู้ให้บริการด้านพลังงานหมุนเวียนของไทยสะสมประสบการณ์จนสามารถรุกตลาดเพื่อนบ้านได้แล้ว ผู้ประกอบการไทยยังมีศักยภาพในการส่งออกเอทานอลและไบโอดีเซล เนื่องจากมีความพร้อมทั้งวัตถุดิบทางการเกษตร ได้แก่ อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน อีกทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่โอกาสด้านการส่งออกไฟฟ้านั้นมีจำกัด เนื่องจากยังมีความต้องการนำเข้ามากกว่าที่จะเหลือส่งออก
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย มกราคม 2557--