EXIM BANK แถลงผลการดำเนินงานปี 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday February 5, 2014 15:53 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

นายคนิสร์ สุคนธมาน กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) แถลงผลการดำเนินงานประจำปี 2556 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2557 ณ EXIM BANK สำนักงานใหญ่ โดยในปี 2556 EXIM BANK มีกำไรสุทธิ 1,303 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากกำไรสุทธิ 1,100 ล้านบาทในปี 2555 ในขณะที่มียอดคงค้างสินเชื่อ ณ สิ้นปี จำนวน 67,527 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากยอดคงค้าง 66,676 ล้านบาทในปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากสินเชื่อใหม่ที่เบิกจ่ายเพิ่มขึ้นในปีจำนวน 17,174 ล้านบาท และการชำระคืนของสินเชื่อเดิมจำนวน 16,670 ล้านบาท ทั้งนี้ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคาร (NPLs Ratio) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 4.36 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,942 ล้านบาท และมีเงินสำรองหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 4,757 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ร้อยละ 162 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 146 ณ สิ้นปี 2555

ภารกิจสำคัญในปี 2556 ธนาคารเน้นการดำเนินงานตามนโยบายด้านการสนับสนุน SMEs ซึ่งได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม และสมาคมต่างๆ ทำให้ EXIM BANK สามารถเพิ่มจำนวนลูกค้า SMEs รายใหม่ได้ 263 ราย ปัจจุบัน EXIM BANK มีจำนวนลูกค้าสินเชื่อที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs ถึงร้อยละ 80 ของลูกค้าทั้งหมด มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 48,412 ล้านบาท และมีปริมาณธุรกิจสะสมระหว่างปีจำนวน 74,676 ล้านบาท ขณะที่ยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs ณ สิ้นปีมีจำนวน 19,111 ล้านบาท

ในส่วนของการสนับสนุนด้านสินเชื่อพาณิชยนาวี ในปี 2556 EXIM BANK มียอดคงค้างสินเชื่อรวม 9,043 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จาก 6,998 ล้านบาท ในปี 2555 โดยในปีที่ผ่านมา EXIM BANK ได้อนุมัติวงเงินสินเชื่อพาณิชยนาวีเพิ่มขึ้น 3,093 ล้านบาท สำหรับเรือ 15 ลำ รวมเป็นจำนวนเรือที่ธนาคารให้การสนับสนุนทั้งสิ้นในปัจจุบัน 46 ลำ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10 ของกองเรือไทยที่มีขนาด 1,000 DWT (Deadweight Ton) ขึ้นไปซึ่งมีอยู่จำนวน 480 ลำ

สำหรับการสนับสนุนการเข้าตลาด AEC โดยเฉพาะใน CLMV นั้น ปัจจุบัน EXIM BANK มีวงเงินสินเชื่อโครงการลงทุนระหว่างประเทศรวม 34,845 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินสำหรับโครงการลงทุนใน CLMV ถึง 22,612 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 65 ของสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศทั้งหมด ในขณะเดียวกัน EXIM BANK ยังได้ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันความเสี่ยงเพื่อผลักดันให้การค้าระหว่างประเทศกับ CLMV ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีวงเงินป้องกันความเสี่ยงให้กับผู้ประกอบการอยู่ที่ 10,110 ล้านบาท

อีกบทบาทที่สำคัญของ EXIM BANK คือการให้บริการประกันการส่งออก ซึ่งในปี 2556 EXIM BANK มีปริมาณธุรกิจส่งออกภายใต้การรับประกันสะสม 129,402 ล้านบาท ลดลงจากยอดรวม 135,073 ล้านบาท ในปี 2555 โดยสาเหตุหลักเกิดจากลูกค้าของ EXIM BANK ได้รับผลกระทบจากยอดการส่งออกสินค้าเกษตรกรรมที่ลดลง รวมทั้งปัญหาลูกค้าเดิมไม่ทำการต่ออายุกรมธรรม์เนื่องจากยอดส่งออกลดลงตามภาวะการส่งออกที่ชะลอตัวลง และต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะลูกค้า SMEs ซึ่งมีสัดส่วนถึงร้อยละ 75 ของจำนวนลูกค้าประกันการส่งออกทั้งหมด โดยผู้เอาประกันที่เป็น SMEs มีมูลค่าการส่งออกภายใต้การรับประกันสะสมเพียง 14,768 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 11 จากมูลค่าธุรกิจรับประกันรวมเท่านั้น

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2557 EXIM BANK จะยังคงบทบาทอย่างต่อเนื่องในการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งการขยายการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของไทยกับประเทศใน AEC โดยเฉพาะ CLMV จากการบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการขยายการบริการทางด้านรับประกันเพิ่มขึ้นจากบริการประกันการส่งออกระยะสั้นที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงทางด้านการค้าและการเมืองที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าภายหลังการส่งออกไม่เกิน 180 วัน เป็นการประกันการส่งออกระยะกลางและระยะยาวที่ให้ความคุ้มครองถึงการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและการบริการ ทั้งก่อนและหลังการส่งออกซึ่งมีอายุสัญญาได้ถึง 5 ปี ตลอดจนการประกันความเสี่ยงการลงทุนที่ให้ความคุ้มครองความเสี่ยงทางการเมืองแก่โครงการลงทุนที่ได้รับความเสียหายจากการดำเนินการใดๆ ของรัฐบาลประเทศที่นักลงทุนไทยไปลงทุน ตั้งแต่เริ่มโครงการถึงระยะเวลาสิ้นสุดโครงการไม่เกิน 15 ปี

ทั้งนี้ กรรมการผู้จัดการ กล่าวโดยสรุปว่า EXIM BANK จะยังคงมุ่งเน้นการสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยให้ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และนักลงทุนไทยแข่งขันได้ในเวทีการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ท่ามกลางโอกาสการกลับมาขยายตัวเป็นบวกของภาคการส่งออกไทยในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรป เริ่มฟื้นตัวจากผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงผลจากฐานการส่งออกที่ต่ำในปี 2556 อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้บริการของ EXIM BANK เพื่อประโยชน์ในการเสริมสภาพคล่อง ปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการจากคู่ค้าในต่างประเทศ ตลอดจนความเสี่ยงจากการไปลงทุนในต่างประเทศ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ส่วนประชาสัมพันธ์ สำนักบริหาร ธสน. สำนักงานใหญ่ โทร. 0 2271 3700, 0 2278 0047, 0 2617 2111 ต่อ 1140-7

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ