ผลกระทบที่ผู้ส่งออกไทยอาจเผชิญ หลังญี่ปุ่นขึ้น VAT เป็น 8%

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 21, 2014 16:10 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทยมาอย่างยาวนาน ด้วยมูลค่าส่งออกสูงถึง 10% ของมูลค่าส่งออกรวมของประเทศ ดังนั้น ภาวะแวดล้อมหรือนโยบายเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เปลี่ยนไป ย่อมส่งผลต่อภาคส่งออกของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ในปี 2557 มีเหตุการณ์สำคัญที่ผู้เขียนคิดว่าควรให้ความสนใจเป็นพิเศษ นั่นคือการที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 5% เป็น 8% ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่เรื้อรังมานาน

ผู้เขียนประเมินผลกระทบต่อการส่งออกของไทยจากการดำเนินนโยบายการคลังดังกล่าวของญี่ปุ่นออกเป็น 2 ด้าน ได้แก่ ผลกระทบต่อราคา (Price Effect) เนื่องจากการปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ย่อมทำให้ราคาจำหน่ายปลีกสินค้าในญี่ปุ่นสูงขึ้น และผลกระทบต่อรายได้ (Income Effect) ซึ่งผลของการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะบั่นทอนกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากค่าครองชีพต่างๆ อาทิ ค่าโดยสารรถสาธารณะ ค่าน้ำมัน ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และค่าอาหาร จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งผลกระทบทั้งสองด้านอาจฉุดให้ยอดจำหน่ายสินค้าของญี่ปุ่นลดลง และกระทบต่อเนื่องมายังการนำเข้าสินค้าจากไทยให้ชะลอตาม ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 ที่รัฐบาลญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 3% เป็น 5% ส่งผลให้มูลค่านำเข้ารวมของญี่ปุ่นปี 2540-2541 หดตัว 3% และ 17% ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นหดตัว 6% และ 16% ตามลำดับ แม้ว่าในช่วงดังกล่าวการส่งออกของไทยได้รับแรงหนุนจากการที่เงินบาทอ่อนค่าลงมากถึง 18% เมื่อเทียบกับเงินเยน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกไทยอาจต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านราคาจากการที่ผู้นำเข้าญี่ปุ่นต้องการให้คงราคาจำหน่ายสินค้าในญี่ปุ่นไว้เท่าเดิม โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าที่ผู้นำ เข้ามีอำนาจตลาดเหนือผู้ส่งออกไทย หรือเป็นสินค้าที่มีการแข่งขันสูงในตลาด ทั้งนี้ เราเริ่มเห็นสัญญาณการเร่งนำเข้าของญี่ปุ่นก่อนที่จะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 4 ปี 2556 มูลค่านำเข้าของญี่ปุ่นขยายตัว 4.9% เทียบกับไตรมาส 3 ปี 2556 (ข้อมูลปรับผลของฤดูกาลแล้ว) และคาดว่าจะยิ่งสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 1 ปี 2557

สำหรับสินค้าส่งออกที่ควรติดตามผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มสินค้าคงทน อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า (มีสัดส่วน 15% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทยไปญี่ปุ่น) รถยนต์ (6%) คอมพิวเตอร์ (4%) และเครื่องจักรกล (3%) เนื่องจากสินค้ากลุ่มนี้มักมีราคาสูง จึงได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีมาก และสินค้าในกลุ่มนี้หลายประเภทก็มีการเร่งนำเข้าไปก่อนหน้านี้แล้ว รวมถึงสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ เครื่องสำอาง (3%)อัญมณีและเครื่องประดับ (2%) ซึ่งผู้บริโภคอาจชะลอการจับจ่ายลง ขณะที่สินค้าที่ไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นสินค้าจำเป็นและมีความอ่อนไหวต่อราคาไม่มากนัก อาทิ ไก่แปรรูป (5%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป (5%) ตลอดจนสินค้ากลุ่มวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตของหลายๆ อุตสาหกรรม

อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันไม่ให้การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มในครั้งนี้ฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นรัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดยังคงมาตรการซื้อคืนพันธบัตร รวมถึงเพิ่มมาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ภาคเอกชนและผู้บริโภค แต่ผู้เขียนมองว่าการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการเงินดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงจะเริ่มเห็นผล แต่ผลจากนโยบายการคลังด้วยการปรับขึ้นภาษีโดยตรง ย่อมส่งผลทันที ดังนั้น ผู้ส่งออกไทยอาจต้องเริ่มปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว ทั้งการมองหาตลาดใหม่อื่นๆ ไว้บ้าง เพื่อทดแทนตลาดญี่ปุ่น เพราะมีแนวโน้มว่ารัฐบาลญี่ปุ่นอาจปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเป็น 10% ภายในปี 2558 และอาจเพิ่มขึ้นอีกในระยะถัดไป เนื่องจากอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มของญี่ปุ่นยังต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ OECD ซึ่งอยู่ที่ 18% ท่ามกลางปัญหาหนี้สาธารณะของญี่ปุ่นที่ยังคงต้องใช้เวลาแก้ปัญหาไปอีกนาน หรือหากผู้ส่งออกไทยต้องการรักษาตลาดญี่ปุ่นไว้ ก็อาจต้องปรับตำแหน่งสินค้าของตนให้อยู่ในระดับสูง เพื่อไม่ให้ราคามีผลต่อการตัดสินใจซื้อมากนักซึ่งการจะทำอย่างนั้นได้ผู้ส่งออกต้องปรับปรุงคุณภาพสินค้าและลักษณะสินค้าให้ตรงและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคญี่ปุ่นได้อย่างแท้จริง

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อ ให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อ การส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


แท็ก ญี่ปุ่น  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ