แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของจีนที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว คาดว่าจะทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยด้วยสัดส่วนราว 12% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ แนวทางแรก ที่จีนเริ่มดำเนินการคือ การปฏิรูปภาคการเงิน โดยการลดอัตราอ้างอิงเงินหยวนลง 0.18% มาอยู่ที่ 6.1312 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ และประกาศขยายช่วงความเคลื่อนไหวค่าเงินหยวนจาก 1% เป็น 2% ซึ่งตรงกับช่วงที่เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอลง ส่งผลให้เงินหยวน อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตรงจุดนี้ นอกจากเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนให้นานาชาติเห็นว่าจีนได้เริ่มปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างจริงจังแล้ว จีนยังได้รับอานิสงส์จากเงินหยวนที่อ่อนค่าในการกระตุ้นการส่งออกซึ่งหดตัวมากถึง 18.1% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2557 เพื่อช่วยประคับประคองเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลงท่ามกลางปญหาหนี้ที่เกิดจากสถาบันการเงินนอกระบบ (Shadow Banking) ที่เร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ เงินหยวนที่อ่อนค่าลงราว 2.6% (27 มีนาคม 57 เทียบกับ 1 มกราคม 57) เมื่อเทียบกับเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นราว 0.6% ในช่วงเวลาเดียวกัน ส่งผลให้กำลังซื้อของผู้นำเข้าจีนลดลง สอดคล้องกับมูลค่าส่งออกของไทยไปจีนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ที่หดตัวที่ 0.8% อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวหากจีนสามารถปฏิรูปภาคการเงินได้อย่างเต็มรูปแบบทั้งระบบอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยระบบประกันเงินฝาก และสามารถควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้มีคุณภาพมากขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจและการเงินจีน มีเสถียรภาพมากขึ้นและเงินหยวนมีแนวโน้มกลับมาแข็งค่าขึ้นซึ่งจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไป
ในส่วนของ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยหันมาพึ่งพาการบริโภคในประเทศมากขึ้นแทนการส่งออกและ การลงทุนคงไม่สามารถทำได้รวดเร็วเหมือนการปฏิรูปภาคการเงิน เนื่องจากปัจจุบันการบริโภคภาคเอกชนของจีนมีสัดส่วนเพียง 37% ต่อ GDP ถือว่าต่ำมากเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับ 70% จากการที่เป็นสังคมการบริโภคแบบเต็มตัว นอกจากนี้ รายได้ต่อหัวของจีนที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ ถึง 9 เท่าและการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคที่ต่ำกว่าสหรัฐฯ 15 เท่าถือเป็นอุปสรรคสำคัญ ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม จีนเริ่มให้ความสำคัญกับการบริโภคในประเทศมากขึ้นเป็นลำดับ สังเกตได้จาก มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำราว 18% ใน 26 เขตเทศบาลรวมถึงมณฑลขนาดใหญ่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา อีกทั้งยังอนุญาตให้เอกชนหรือเกษตรกรสามารถโอนหรือเช่าที่ดินเพื่อทำการเกษตรเชิงพาณิชย์และเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น มีการพัฒนาความเป็นเมือง ประกอบกับรัฐบาลจีนได้ผลักดันให้มีการผ่อนคลายกฎระเบียบการลงทุนภาคเอกชนมากขึ้น เพื่อหวังจะให้รายได้ต่อหัวของชาวจีนเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปี 2563 ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคจีนค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้นในระยะยาว ซึ่งอาจทำให้ โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในอนาคตเปลี่ยนไปจากปัจจุบันที่สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบและ กึ่งสำเร็จรูป รวมทั้งสินค้าเกษตร อาทิ ยางพารา เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ อาจเปลี่ยนมาส่งออก สินค้าสำเร็จรูปที่มีมูลค่ามากขึ้น อาทิ สินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ
กล่าวโดยสรุป การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินของจีนอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้างในระยะสั้นจากผลของเงินหยวน ที่อ่อนค่าลง อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปเศรษฐกิจและการเงินของจีนในครั้งนี้จะทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนมีเสถียรภาพและมีคุณภาพ มากขึ้นในระยะยาว ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งออกของไทยในระยะถัดไป ในส่วนของผู้ประกอบการไทยควรเตรียมเครื่องมือในการป้องกัน ความเสี่ยงจากเงินหยวนที่จะผันผวนมากขึ้น อีกทั้งยังต้องพยายามปรับกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สอดคล้องกับกำลังซื้อที่สูงขึ้นของชาวจีน นอกเหนือไปจากการส่งออกเฉพาะสินค้าประเภทวัตถุดิบต้นน้ำหรือกึ่งสำเร็จรูปที่มีศักยภาพ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการต้องศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของชาวจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป เพื่อจะได้เจาะตลาดจีนได้ตรงจุดและทันเวลา
Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--