รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว เชื่อมโอกาสการค้าที่เติบโตไม่หยุดยั้ง

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 28, 2014 14:39 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ในยุคที่เศรษฐกิจตลาดหลักของไทยอย่างสหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่นยังอยู่ในภาวะไม่แน่นอน การค้ากับประเทศเพื่อนบ้านนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการค้าชายแดนซึ่งมีสัดส่วนราวร้อยละ 80 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยกับประเทศในกลุ่ม CLM ทั้งหมด (กัมพูชา สปป.ลาว และพม่า) ทั้งนี้ สปป.ลาว เป็นตลาดส่งออกสำคัญที่สุดของไทยในประเทศกลุ่มดังกล่าว โดยมีปัจจัยเกื้อหนุนจากพรมแดนที่ติดกันเป็นระยะทางยาวถึงราว 1,800 กิโลเมตร นอกจากนี้ สินค้าไทยยังได้รับความนิยมค่อนข้างมาก เนื่องจากมีคุณภาพดีและราคาไม่สูงเกินไป ประกอบกับรสนิยมของชาวลาวมีความคล้ายคลึงกับคนไทย โดยชาวลาวอาจเคยทดลองใช้สินค้าไทยระหว่างเข้ามาทำงานหรือเยี่ยมญาติในประเทศไทย ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้คุ้นเคยกับสินค้าไทยเป็นอย่างดี

ไทยมีสัดส่วนมูลค่าส่งออกผ่านชายแดนไป สปป.ลาว สูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่ม CLM อยู่ที่ร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกผ่านชายแดนทั้งหมด โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ามาโดยตลอด เนื่องจาก สปป.ลาว ต้องนำเข้าเชื้อเพลิง รวมทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น รถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเครื่องดื่ม ขณะที่สินค้าส่งออกของ สปป.ลาว มาไทย ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทวัตถุดิบ อาทิ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ไม้แปรรูป ผักและของปรุงแต่งจากผัก

สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว

คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การค้าชายแดนกับ สปป.ลาว ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะได้รับอานิสงส์จากการพัฒนาเส้นทางคมนาคมทางบกระหว่างไทยและ สปป.ลาว ในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขนส่งผ่านสะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ดังนี้

  • สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 1 เชื่อมระหว่างจังหวัดหนองคายของไทยและนครหลวง
เวียงจันทน์ของ สปป.ลาว เปิดใช้เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537

โอกาสทางการค้า การส่งออกไป สปป.ลาว ผ่านด่านศุลกากรหนองคายมีมูลค่ามากที่สุด และถือเป็นด่านการค้าที่สามารถเข้าถึงพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญอย่างนครหลวงเวียงจันทน์ได้โดยตรง รวมถึงผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นจุดกระจายสินค้าเพื่อส่งต่อไปยังแขวงต่างๆ ใน สปป.ลาว ได้ นอกจากนี้ สะพานดังกล่าวยังอยู่ไม่ไกลจากพื้นที่ที่จะกลายเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนของ สปป.ลาว ในอนาคต อาทิ Longthanh-Vientiane Specific Economic Zone รวมทั้งโครงการ Vientiane New World โครงการ The World Trade Centre และโครงการ Vientiane Complex ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารพาณิชย์ สิ่งอำนวยความสะดวกซึ่งมีความทันสมัยและเอื้อต่อการทำธุรกิจ รวมทั้งที่อยู่อาศัยระดับบน โครงการก่อสร้างดังกล่าวนอกจากจะส่งผลให้ความต้องการสินค้าก่อสร้างและสินค้าพลังงานซึ่งถือเป็นสินค้าส่งออกสำคัญของด่านศุลกากรหนองคาย อาทิ เหล็กเส้น รถบดถนน รถขุดถนนและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องแล้ว ความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมายังพื้นที่ดังกล่าว

  • สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 2 เชื่อมระหว่างจังหวัดมุกดาหารของไทยและแขวงสะหวันนะเขตของ สปป.ลาว เปิดใช้เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2549

โอกาสทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าไปยังเขตเศรษฐกิจพิเศษสะหวันเซโน ซึ่งตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต เพื่อตอบสนองความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร ร้านค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ธุรกิจอาหารแปรรูป และธุรกิจประกอบชิ้นส่วนยานยนต์ จึงนับเป็นโอกาสในการเพิ่มการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมันเชื้อเพลิง อุปกรณ์ก่อสร้าง และเครื่องจักร ขณะเดียวกันผู้ประกอบการยังสามารถส่งออกสินค้าผ่าน สปป.ลาว ไปยังเวียดนามได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากสะพานดังกล่าวเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังเส้นทางหมายเลข 9 (R9) ซึ่งถือเป็นเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC) เชื่อมโยงไทย-พม่า-สปป.ลาว-เวียดนาม นอกจากนี้ การท่องเที่ยวที่ขยายตัวตามการเปิดสะพานและพัฒนาถนนตามแนว EWEC ยังถือเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักลงทุนไทยในการเข้าไปทำธุรกิจด้านการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่องใน สปป.ลาว อันจะช่วยให้ความต้องการสินค้าสำหรับก่อสร้างสาธารณูปโภคเพื่อดึงดูดและรองรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นตามไปด้วย

  • สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 เชื่อมระหว่างจังหวัดนครพนมของไทยและแขวงคำม่วนของสปป.ลาว เปิดใช้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554

โอกาสทางการค้า สะพานดังกล่าวช่วยให้การลำเลียงสินค้าทางบกจากไทยสู่ตลาดจีนตอนใต้มีระยะทางสั้นที่สุดและสะดวกกว่าเส้นทางทางบกอื่นๆ โดยสามารถใช้เส้นทางหมายเลข 12 (R12) ใน สปป.ลาว ต่อไปยังกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม เข้าสู่ด่าน Pingxiang และเมืองหนานหนิงในเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน ซึ่งมีเครือข่ายคมนาคมพร้อมรองรับการกระจายสินค้าไปยังมณฑลตอนในของจีน รวมถึงมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งเป็นศูนย์รวมผู้บริโภคที่มั่งคั่งของจีน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการสามารถใช้เส้นทางดังกล่าวขนส่งผลไม้ไปจีน เนื่องจากประหยัดเวลา โดยใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1 วัน และช่วยรักษาความสดใหม่ของผลไม้ได้ดีกว่าการขนส่งทางเรือเดินทะเลที่ใช้เวลาราว 5-7 วัน รวมทั้งเส้นทางทางบกอื่นๆ ที่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 วัน นอกจากนี้ สะพานดังกล่าวยังถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับขนส่งสินค้าจากไทยออกสู่ทะเลเพื่อไปยังภูมิภาคอื่นๆ อาทิ เอเชียตะวันออก ออสเตรเลีย/โอเชียเนีย และอเมริกา อีกด้วย

  • สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 เชื่อมระหว่างจังหวัดเชียงรายของไทยและแขวงบ่อแก้วของ สปป.ลาว เปิดใช้เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2556

โอกาสทางการค้า การเปิดสะพานดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นการค้าผ่านแดนระหว่างไทยและจีนตอนใต้ผ่านด่านเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะการส่งออกน้ำมันเชื้อเพลิง สินค้าอุปโภคบริโภค และผลไม้ เช่น มังคุด มะขาม กล้วย ลำไยแห้ง และทุเรียน เส้นทางดังกล่าวจะช่วยให้การคมนาคมขนส่งมีความสะดวกและคล่องตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่ต้องขนถ่ายสินค้าข้ามแพขนานยนต์เพื่อขนส่งข้ามแม่น้ำโขง อันจะช่วยรักษาความสดใหม่ของผลไม้ไทยที่ขนส่งผ่านเส้นทางดังกล่าว นอกจากนี้ สะพานดังกล่าวยังเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญบนเส้นทางหมายเลข 3A (R3A) [เป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญในการคมนาคมขนส่งทางบกจากไทยไป สปป.ลาว สู่จีนตอนใต้ในมณฑลยูนนาน และถือเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางเศรษฐกิจตามแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC)] ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าให้แก่ตลาดทั้ง 3 ประเทศ และเป็นจุดเชื่อมโยงการขนส่งสำคัญของอนุภูมิภาคในอนาคต ทั้งนี้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติประเมินว่า หลังการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 4 การค้าที่ด่านอำเภอเชียงของมีแนวโน้มขยายตัวกว่าร้อยละ 10 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 17,000 ล้านบาทต่อปี

  • สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมระหว่างจังหวัดบึงกาฬของไทยและแขวงบอลิคำไซของ สปป.ลาว คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2559

โอกาสทางการค้า ปัจจุบันการข้ามแดนที่จังหวัดบึงกาฬไปยัง สปป.ลาว ต้องอาศัยบริการเรือข้ามฟาก ซึ่งหากการก่อสร้างสะพานดังกล่าวแล้วเสร็จจะช่วยอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างไทยกับ สปป.ลาว และเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของด่านศุลกากรบึงกาฬ อาทิ เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องใช้ไฟฟ้า

เป็นที่น่าสังเกตว่าการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว ช่วยเพิ่มมูลค่าส่งออกผ่านแต่ละด่านการค้าอย่างมาก โดยเฉพาะด่านศุลกากรนครพนมซึ่งหลังจากการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 3 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ขณะที่ด่านศุลกากรบึงกาฬซึ่งยังไม่เปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-สปป.ลาว แห่งที่ 5 มีมูลค่าส่งออกอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับด่านการค้าอื่นๆ

แม้ว่าการค้าชายแดนกับ สปป.ลาว รวมทั้งการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคได้รับความสะดวกสบายมากขึ้นจากการสร้างสะพานเชื่อมระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและอุปสรรคบางประการที่ผู้ประกอบการควรเตรียมรับมือ อาทิ การชำระเงินซึ่งยังขาดสถาบันการเงินมารองรับการทำธุรกรรมการเงินระหว่างประเทศ และปัญหาด้านการขนส่งสินค้าจากการที่ถนนหลายสายยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร นอกจากนี้ การสร้างเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างประเทศยังเปรียบเสมือนดาบสองคม ซึ่งไม่เพียงช่วยขยายตลาดของผู้ประกอบการไทย แต่ขณะเดียวกันยังส่งผลให้สินค้าราคาถูกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีนอาจทะลักเข้าสู่ไทยผ่านเส้นทาง ดังกล่าวเช่นกัน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่ รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ