ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ที่กำลังจะมาถึงในปลายปีหน้า ทำให้ผู้อ่านหลายท่าน โดยเฉพาะผู้ที่ทำธุรกิจระหว่างประเทศ เริ่มให้ความสนใจและทำการศึกษาข้อมูลของตลาดอาเซียนมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงค้นคว้าข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตและแหล่งข้อมูลต่างๆ เท่านั้น ผู้ประกอบการหลายท่านวางแผนที่จะเดินทางไปศึกษาลู่ทางในการทำตลาดหรือลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนมากขึ้น และส่วนใหญ่มักเดินทางด้วยเครื่องบิน เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็วกว่าการเดินทางรูปแบบอื่นๆ “เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้ จึงขอนำเสนอข้อมูลท่าอากาศยานและสายการบินในอาเซียน เพื่อให้ผู้อ่านทุกท่านใช้เป็นข้อมูลวางแผนก่อนเดินทาง ทั้งนี้ ขอยกตัวอย่างใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม กัมพูชา และพม่า
ประเทศอินโดนีเซีย
ท่าอากาศยาน
อินโดนีเซียมีท่าอากาศยานมากกว่า 200 แห่ง เนื่องด้วยภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเกาะ ทำให้การเดินทางทางอากาศได้รับความนิยมมากกว่าการเดินทางในรูปแบบอื่นๆ โดยท่าอากาศยานหลักประจำกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของประเทศ ได้แก่ Soekarno-Hatta International Airport ตั้งอยู่ที่จังหวัด Tangerang ห่างจากกรุงจาการ์ตา 20 กิโลเมตรรองรับผู้โดยสารได้ราว 60 ล้านคนต่อปี มีอาคารผู้โดยสาร 3 หลัง (อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 4 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) มีสายการบินที่ให้
บริการที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ถึงกว่า 50 สายการบิน โดยเส้นทางบินที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ มีระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเข้าออกท่าอากาศยาน ได้แก่ รถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ ขณะที่ระบบรถไฟยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุน ท่าอากาศยานที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอินโดนีเซีย ได้แก่ Kuala Namu International Airport ห่างจากเมืองเมดาน บนเกาะสุมาตรา ซึ่งเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของประเทศ 39 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วย Raillink หรือระบบรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานซึ่งมีเป็นแห่งแรกของอินโดนีเซียที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ ใช้ระยะเวลาเดินทางจากท่าอากาศยานถึงใจกลางเมืองเมดานเพียง 45 นาที สำหรับท่าอากาศยานที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ได้แก่ Juanda International Airport ห่างจากเมืองสุราบายา ซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจสำคัญอีกแห่งหนึ่งบนเกาะชวา 17 กิโลเมตร นอกจากนี้ ท่าอากาศยานที่สำคัญที่สุดด้านการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย ได้แก่ Ngurah Rai International Airport ตั้งอยู่ที่เมืองเดนปาซาร์ เกาะบาหลี
สายการบิน
อินโดนีเซียมีสายการบินมากถึง 34 สายการบิน โดยมีสายการบินประจำชาติ คือ Garuda Indonesia มีเครื่องบินในฝูงบิน 113 ลำ ให้บริการ 56 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 35 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 21 เส้นทาง ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำ (Low-cost Carrier: LCC) ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ได้แก่ Lion Air รองลงมา คือ AirAsia Indonesia และ Citilink (สายการบินลูกของ Garuda Indonesia)
การเดินทางไปอินโดนีเซีย
ปัจจุบันสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากไทยไปอินโดนีเซียแบบบินตรง (Direct Flight) ไปยัง 4 เมือง ได้แก่
1. กรุงจาการ์ตา ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย, Garuda Indonesia, Mandala Airlines) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai Lion Air, AirAsia Indonesia)
2. เมืองเมดาน ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง (AirAsia Indonesia) และจากท่าอากาศยานหาดใหญ่ (Thai Lion Air)
3. เมืองสุราบายา ออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง (AirAsia Indonesia)
4. เมืองเดนปาซาร์ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
ประเทศมาเลเซีย
ท่าอากาศยาน
มาเลเซียมีท่าอากาศยานถึง 62 แห่ง แต่มีเพียง 38 แห่งที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ ท่าอากาศยานสำคัญที่สุด ได้แก่ Kuala Lumpur International Airport ตั้งอยู่ที่เมืองเซปัง ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ราว 45 กิโลเมตร รองรับผู้โดยสารได้ไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคนต่อปี ประกอบด้วยอาคารผู้โดยสารหลัก 1 หลัง และอาคารผู้โดยสารเปลี่ยนเที่ยวบิน (Satellite Terminal) 1 หลัง รวมถึงอาคารผู้โดยสารสำหรับสายการบินต้นทุนต่ำ (LCC Terminal) อีก 1 หลัง (จะย้ายไปใช้อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 ในช่วงกลางปี 2557 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) มีสายการบินให้บริการที่ท่าอากาศยานแห่งนี้ถึง 60 สายการบิน โดยเส้นทางบินที่มีผู้โดยสารเดินทางมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ จาการ์ตา และ กรุงเทพฯ สำหรับระบบขนส่งสาธารณะเพื่อเดินทางจากท่าอากาศยานเข้าสู่ตัวเมืองมีค่อนข้างหลากหลาย ทั้งรถไฟด่วน KLIA Express เชื่อมต่อกับศูนย์ขนส่งกลางของกรุงกัวลาลัมเปอร์ (KL Sentral) ซึ่งผู้โดยสารสามารถใช้บริการเช็คอินล่วงหน้าที่ศูนย์ฯ แห่งนี้ได้ (KL City Air Terminal) รวมถึงรถโดยสารด่วน รถประจำทาง และรถแท็กซี่ ท่าอากาศยานที่มีขนาดใหญ่รองลงมา ได้แก่ Kota Kinabalu International Airport ตั้งอยู่ที่เมืองโกตากินะบะลู เมืองหลวงของรัฐซาบาห์ เกาะบอร์เนียว และ Penang International Airport ห่างจากเมืองจอร์จทาวน์ เมืองหลวงของรัฐปีนังราว 14 กิโลเมตร
สายการบิน
มาเลเซียมีสายการบินเพียง 7 สายการบิน โดยสายการบินประจำชาติ ได้แก่ Malaysia Airlines มีเครื่องบินในฝูงบิน 105 ลำ ให้บริการ 61 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 15 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 46 เส้นทาง ขณะที่สายการบิน AirAsia ซึ่งถือเป็นสายการบินต้นทุนต่ำที่ใหญ่ที่สุดสายการบินหนึ่งในเอเชีย มีศูนย์กลางขนส่ง (Hub) อยู่ที่ท่าอากาศยาน Kuala Lumpur International Airport (อาคาร LCC Terminal)
การเดินทางไปมาเลเซีย
ปัจจุบันสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากไทยไปมาเลเซียแบบบินตรงไปยัง 3 เมือง ได้แก่
1. กรุงกัวลาลัมเปอร์ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย, Malaysia Airlines, Ethiopian Airlines, Lufthansa) จากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia, AirAsia, Thai Lion Air/Malindo Air) จากท่าอากาศยานสมุย (Bangkok Airways) จากท่าอากาศยานภูเก็ต (AirAsia, Qatar Airways) จากท่าอากาศยานกระบี่ (AirAsia) และจากท่าอากาศยานหาดใหญ่ (AirAsia)
2. เมืองสุบัง รัฐสลังงอร์ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานหาดใหญ่ (Thai Lion Air)
3. เมืองปีนัง ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง(Thai AirAsia)
ประเทศเวียดนาม
ท่าอากาศยาน
ภูมิประเทศของเวียดนามสามารถแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่ ตอนเหนือ เป็นที่ตั้งของกรุงฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศตอนกลาง เป็นที่ตั้งของเมืองดานัง เมืองท่าสำคัญ รวมถึงเมืองฮอยอัน เมืองท่องเที่ยวสำคัญ และตอนใต้ เป็นที่ตั้งของเมืองโฮจิมินห์ ศูนย์กลางเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ ทำให้ท่าอากาศยานสำคัญของเวียดนามมีอยู่ 3 แห่งด้วยเช่นกัน จากจำนวนท่าอากาศยานทั่วประเทศ 23 แห่ง โดยท่าอากาศยานสำคัญที่ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศ ได้แก่ Noi Bai International Airport อยู่ห่างจากกรุงฮานอย 45 กิโลเมตร มีอาคารผู้โดยสาร 1 หลัง รองรับทั้งผู้โดยสารในประเทศและระหว่างประเทศจำนวน 8 ล้านคนต่อปี ขณะที่อาคารผู้โดยสารแห่งที่ 2 อยู่ระหว่างก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จปลายปี 2557 ซึ่งจะทำให้ท่าอากาศยานแห่งนี้มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารรวม 16 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการ 31 สายการบิน โดยเส้นทางที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ และ เสียมราฐ ระบบขนส่งสาธารณะจากท่าอากาศยานเข้าสู่ตัวเมืองมีเพียงรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ สำหรับท่าอากาศยานที่รองรับผู้โดยสารตอนกลางของประเทศ ได้แก่ Danang International Airport ตั้งอยู่ที่เมืองดานัง และห่างจากเมืองฮอยอัน ราว 30 กิโลเมตร ในอดีตเคยเป็นท่าอากาศยานสำคัญในสงครามเวียดนาม ปัจจุบันสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 4 ล้านคนต่อปี มีสายการบินให้บริการ 12 สายการบิน และท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศซึ่งตั้งอยู่บริเวณตอนใต้ของประเทศ ได้แก่ Tan Son Nhat International Airport อยู่ห่างจากเมืองโฮจิมินห์เพียง 6 กิโลเมตร มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 25 ล้านคนต่อปี มีอาคารผู้โดยสาร 2 หลัง แบ่งเป็น อาคารผู้โดยสารภายในประเทศและอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีสายการบินให้บริการรวม 44 สายการบิน โดยเส้นทางการบินที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุด ได้แก่ สิงคโปร์ กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์ ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีแผนก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ Long Thanh International Airport ซึ่งจะตั้งอยู่ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ราว 40 กิโลเมตร มีศักยภาพรองรับผู้โดยสารได้ถึง 100 ล้านคนต่อปี จะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 และเปิดให้บริการในปี 2563
สายการบิน
เวียดนามมีสายการบินรวม 4 สายการบิน โดยสายการบินประจำชาติ ได้แก่ Vietnam Airlines มีเครื่องบินในฝูงบิน 87 ลำ ให้บริการ 46 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 18 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 28 เส้นทาง ขณะที่สายการบินต้นทุนต่ำ ได้แก่ VietJet Air และ Jetstar Pacific Airlines
การเดินทางไปเวียดนาม
ปัจจุบันสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากไทยไปเวียดนามแบบบินตรงไปยัง 2 เมือง ได้แก่
1. กรุงฮานอย ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย, Qatar Airways, Vietnam Airlines, VietJet Air) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
2. เมืองโฮจิมินห์ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย, Qatar Airways, Vietnam Airlines, VietJetAir) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
ประเทศกัมพูชา
ท่าอากาศยาน
กัมพูชามีท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์เพียง 3 แห่ง ได้แก่ 1) Phnom Penh International Airport ตั้งอยู่ห่างจากกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของประเทศ 10 กิโลเมตร มีอาคารผู้โดยสาร 2 หลัง แบ่งเป็นอาคารผู้โดยสารในประเทศ และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ รองรับผู้โดยสารได้ 1.5 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการ 25 สายการบิน ระบบขนส่งสาธารณะยังไม่ค่อยสะดวกสบายนัก ผู้โดยสารต้องใช้รถแท็กซี่และรถจักรยานยนต์สามล้อในการเดินทางจากท่าอากาศยานเข้าสู่ตัวเมืองกรุงพนมเปญ 2) Siem Reap International Airport แม้ไม่ได้ตั้งอยู่ในเมืองหลวง แต่เป็นท่าอากาศยานที่มีผู้โดยสารใช้บริการมากที่สุดในกัมพูชา เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้กับนครวัด (ห่างกันเพียง 8 กิโลเมตร) แหล่งท่องเที่ยวสำคัญที่สุดของประเทศ มีสายการบินให้บริการ 31 สายการบิน และ 3) Sihanoukville International Airport ตั้งอยู่ห่างจากจังหวัดสีหนุวิลล์ 18 กิโลเมตร มีสายการบินเพียง 1 สายการบินที่ให้บริการ ได้แก่ Cambodia Angkor Air ในเส้นทางกรุงพนมเปญและเสียมราฐ
สายการบิน
กัมพูชามีสายการบิน 5 สายการบิน โดยสายการบินประจำชาติ ได้แก่ Cambodia Angkor Air (รัฐบาลกัมพูชาถือหุ้น 51% และสายการบิน Vietnam Airlines ถือหุ้นอีก 49%) มีเครื่องบินในฝูงบิน 7 ลำ ให้บริการ10 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 2 เส้นทางและเส้นทางระหว่างประเทศ 8 เส้นทาง
การเดินทางไปกัมพูชา
ปัจจุบันสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากไทยไปกัมพูชาแบบบินตรงไปยัง 2 เมือง ได้แก่
1. กรุงพนมเปญ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย, Bangkok Airways, Cambodia Angkor Air) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
2. เมืองเสียมราฐ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Bangkok Airways, Cambodia Angkor Air) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
ประเทศพม่า
ท่าอากาศยาน
แม้พม่าเพิ่งจะเริ่มเปิดประเทศรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศมาไม่นาน แต่ปัจจุบันพม่ามีท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ถึง 25 แห่ง จากท่าอากาศยานทั่วประเทศจำนวน 50 แห่ง โดยท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ได้แก่ Mandalay International Airport ตั้งอยู่ห่างจากเมืองมัณฑะเลย์ 35 กิโลเมตร รองรับผู้โดยสารได้ 3 ล้านคนต่อปี มีอาคารผู้โดยสาร 1 หลัง มีสายการบินให้บริการรวม 14 สายการบิน ทั้งนี้ ท่าอากาศยานแห่งนี้ใช้เป็นฐานการบินเชื่อมต่อไปยังเมืองสำคัญของจีนตอนใต้ อาทิ คุนหมิง เชียงรุ่ง สำหรับท่าอากาศยานที่มีขนาดใหญ่รองลงมา ได้แก่ Yangon International Airport ตั้งอยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้ง 15 กิโลเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 2.7 ล้านคนต่อปี มีอาคารผู้โดยสาร 2 หลัง แบ่งเป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศ และอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ มีสายการบินให้บริการรวม 35 สายการบิน โดยเส้นทางที่มีผู้โดยสารเดินทางมากที่สุด ได้แก่ กรุงเทพฯ สิงคโปร์ และกัวลาลัมเปอร์ และท่าอากาศยานสำหรับเมืองหลวงแห่งใหม่ของพม่า ได้แก่ Naypyidaw International Airport อยู่ห่างจากกรุงเนปิดอว์ 16 กิโลเมตร เพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2554 ท่าอากาศยานแห่งนี้รองรับผู้โดยสารได้ 2.7 ล้านคนต่อปี ปัจจุบันมีสายการบินให้บริการรวม 11 สายการบิน ทั้งนี้ ระบบขนส่งมวลชนเพื่อเข้าสู่ตัวเมืองของท่าอากาศยานทั้ง 3 แห่ง ยังไม่สะดวกนัก มีเพียงรถประจำทางและรถแท็กซี่เท่านั้น (ส่วนใหญ่เป็นรถมือสองสภาพเก่า)
สายการบิน
พม่ามีสายการบินรวม 9 สายการบิน ส่วนใหญ่ให้บริการเฉพาะเส้นทางภายในประเทศ สำหรับสายการบินประจำชาติ ได้แก่ Myanmar Airways International มีเครื่องบินในฝูงบิน 9 ลำ ให้บริการ 18 เส้นทาง แบ่งเป็นเส้นทางในประเทศ 2 เส้นทาง และเส้นทางระหว่างประเทศ 16 เส้นทาง
การเดินทางไปพม่า
ปัจจุบันสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากไทยไปพม่าแบบบินตรงไปยัง 3 เมือง ได้แก่
1. กรุงเนปิดอว์ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Bangkok Airways) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
2. เมืองย่างกุ้ง ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (การบินไทย, Bangkok Airways) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
3. เมืองมัณฑะเลย์ ออกเดินทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Thai Smile, Bangkok Airways) และจากท่าอากาศยานดอนเมือง (Thai AirAsia)
จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการสามารถเดินทางด้วยเครื่องบินจากไทยไปเมืองหลวงและเมืองเศรษฐกิจสำคัญในอาเซียนได้แล้วเกือบทั้งหมด โดยเฉพาะเส้นทางบินไปเมืองสำคัญในอินโดนีเซียและพม่าที่มีสายการบินหลายแห่งเปิดให้บริการ ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจและการขยายตัวของเมืองในประเทศดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยขยายตลาดการค้าและการลงทุนสู่ทั้งสองประเทศได้มากขึ้น นอกจากนี้ คาดว่าหลังการเปิด AEC อย่างสมบูรณ์ในช่วงปลายปี 2558 ไม่เพียงเฉพาะเส้นทางการบินระหว่างเมืองหลวงที่จะมีปริมาณการเดินทางมากขึ้น แต่จะเกิดการเชื่อมโยงและการเดินทางระหว่างเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญรองลงมามากขึ้นด้วย อาทิ สุราบายา เมดาน (อินโดนีเซีย) มัณฑะเลย์ (พม่า) ดานัง (เวียดนาม) เสียมราฐ (กัมพูชา) เซบู (ฟิลิปปินส์) และโกตากินะบะลู (มาเลเซีย) ทั้งนี้ ในครั้งแรกผู้ประกอบการอาจร่วมเดินทางกับหน่วยงานราชการที่จัดคณะไปสำรวจโอกาสการค้าการลงทุนในอาเซียน เพื่อศึกษาลู่ทางและเรียนรู้ประสบการณ์การเดินทางก่อน หลังจากนั้นเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น และกำหนดเป้าหมายในการศึกษาข้อมูลอย่างชัดเจน รวมถึงวางแผนการเดินทางอย่างรอบคอบแล้ว ก็อาจเริ่มต้นเดินทางด้วยตนเอง ซึ่งจะช่วยให้เห็นโอกาส ศักยภาพ และพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่นได้อย่างละเอียดและรอบด้านมากขึ้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย พฤษภาคม 2557--