อุตสาหกรรมรองเท้าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญของกัมพูชา ด้วยมูลค่าส่งออกราว 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี และเป็นแหล่งจ้างงานราว 7 หมื่นคน ขณะเดียวกันยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยเกื้อหนุนหลายประการที่ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำและสิทธิพิเศษทางภาษี จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการขยายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมรองเท้าไปกัมพูชา เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดด้านต้นทุนค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และภาวะแรงงานตึงตัว อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ยังต้องเผชิญกับการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีจากสหภาพยุโรป (European Union : EU) อีกด้วย
อุตสาหกรรมรองเท้าเป็นภาคการผลิตสำคัญที่มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในกัมพูชาอย่างต่อเนื่องรองจากอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในปี 2556 มีโครงการลงทุนผลิตรองเท้าที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของกัมพูชา (Cambodian Investment Board : CIB) จำนวน 14 โครงการมากเป็นอันดับ 2 รองจากการลงทุนผลิตสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีจำนวน 73 โครงการ ส่งผลให้ปจั จุบัน กัมพูชามีโรงงานผลิตและส่งออกรองเท้าราว 60 โรงงาน ตลาดส่งออกสำคัญ คือ EU ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ทั้งนี้ การลงทุนในอุตสาหกรรมรองเท้าส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนจากไต้หวัน มีสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนโครงการลงทุนผลิตรองเท้าของต่างชาติทั้งหมดในกัมพูชา รองลงมา คือ จีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ขณะที่นักลงทุนไทยที่ได้รับอนุมัติโครงการลงทุนมีจำนวน 4 ราย คือ บริษัท Combo Shoes บริษัท Dance Supply บริษัท Aerosoft Summit Footwear และบริษัท DSL2 Enterprise โรงงานผลิตรองเท้าส่วนใหญ่มักตั้งโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยเฉพาะในกรุงพนมเปญ และพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอบ เนื่องจากสามารถขนส่งสินค้าต่อไปยังท่าเรือสีหนุวิลล์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 230 กิโลเมตร เพื่อส่งออกไปต่างประเทศได้สะดวก ขณะที่การลงทุนบางส่วนอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ติดชายแดนเวียดนาม อาทิ เขตเศรษฐกิจพิเศษ Manhattan Special Economic Zone ในจังหวัดสวายเรียง ซึ่งสามารถส่งออกไปต่างประเทศผ่านท่าเรือน้ำลึก Cai Mep ในจังหวัด Ba Ria-Vung Tau ของเวียดนาม ซึ่งอยู่ห่างออกไปราว 80 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามกัมพูชายังไม่มีความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค รวมทั้งเส้นทางคมนาคมยังไม่ค่อยสะดวก ถนนหลายช่วงยังเป็นถนนไม่ได้ลาดยาง ดังนั้น การเลือกลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมหรือเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีระบบสาธารณูปโภคค่อนข้างพร้อมและห่างจากท่าเรือขนส่งสินค้าไม่มากนักจะช่วยขจัดอุปสรรคดังกล่าวได้
- กัมพูชามีความได้เปรียบด้านค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำ แม้ว่ารัฐบาลกัมพูชาปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขัน้ ต่ำในอุตสาหกรรมสิ่งทอและรองเท้าเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2557 มาอยู่ที่ระดับ 95 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ซึ่งเมื่อรวมกับเงินช่วยเหลือด้านสุขภาพอีก 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ทำให้ค่าจ้างแรงงานรวมอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,250 บาท) ต่อเดือน แต่อัตราค่าจ้างดังกล่าวยังต่ำมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชีย รวมทั้งไทยที่กำหนดอัตราค่าจ้างขัน้ ต่ำไว้ที่ 300 บาทต่อวัน อีกทั้งไทยยังประสบปญั หาขาดแคลนแรงงานด้วย
- กัมพูชาได้รับสิทธิพิเศษในการส่งออกไปตลาดสำคัญ โดยได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่ วไป (Generalized System of Preferences : GSP) จากประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหรัฐฯ EU ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย เป็นต้น เนื่องจากกัมพูชาจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (Least Developed Countries : LDCs) โดยเฉพาะ EU ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีภายใต้ Everything But Arms (EBA) ส่งผลให้รองเท้าที่ส่งออกจากกัมพูชาได้รับยกเว้นภาษีนำเข้าและไม่มีการกำหนดโควตานำเข้าจาก EU ขณะที่ EU ได้ประกาศตัดสิทธิ GSP ของสินค้าไทยทุกรายการ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558 ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกรองเท้าจากไทยไป EU ต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราที่สูงขึ้น อาทิ รองเท้าแตะและรองเท้าใส่ภายในบ้านจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 8.0 จากอัตราเดิมที่ได้รับสิทธิ GSP ที่ร้อยละ 4.5 และรองเท้าผ้าใบจะเสียภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 17.8 จากอัตราเดิมที่ได้รับสิทธิ GSP ที่ร้อยละ 7.8 เป็นต้น ดังนั้น กัมพูชาจึงเป็นประเทศที่น่าสนใจของผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขยายฐานการผลิตรองเท้าเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าว
- รัฐบาลกัมพูชาให้การสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมรองเท้า เพื่อสร้างการจ้างงานด้วยการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ อาทิ ยกเว้นภาษีนำ เข้าวัตถุดิบและส่วนประกอบของรองเท้า และลดหย่อนภาษีสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตเพื่อส่งออก เป็นต้น โดยนักลงทุนต่างชาติสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ดังกล่าวได้จาก CIB นอกจากนี้ รัฐบาลกัมพูชายังอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถเป็นเจ้าของกิจการผลิตรองเท้าได้ทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องร่วมทุนกับชาวกัมพูชาเหมือนบางอุตสาหกรรม เช่น โรงสีข้าว การผลิตและแกะสลักไม้และหิน และกิจการด้านวิทยุและโทรทัศน์ เป็นต้น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย สิงหาคม 2557--