รัฐบาลพม่าเล็งเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในฐานะแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ จึงกำหนดเป้าหมายให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของพม่าให้ได้ร้อยละ 7 ต่อปี อีกทั้งช่วยลดความยากจนและกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศผ่านการจ้างงาน โดยได้จัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวปี 2556-2563 (Myanmar Tourism Master Plan 2013-2020) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพม่าให้มีมาตรฐานระดับสากล ซึ่งรัฐบาลพม่าได้เสนอแผนแม่บทดังกล่าวในการประชุม World Economic Forum on East Asia ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเนย์ปิดอว์ เมืองหลวงของพม่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2556
การจัดทำแผนแม่บทการท่องเที่ยวปี 2556-2563 มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพม่า เพื่อก้าวไปสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่น่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น โดยเร่งพัฒนาบุคลากร หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ และระบบคมนาคมขนส่ง รวมทั้งสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ ทั้งนี้ ภายใต้แผนแม่บทดังกล่าวประกอบด้วยโครงการพัฒนาจำนวน 38 โครงการ มูลค่ารวม 486.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยรัฐบาลพม่าจะได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากรัฐบาลนอร์เวย์และธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์หลัก ดังนี้
การปรับปรุงด้านกฎระเบียบ อาทิ
- ทบทวนกฎหมายการท่องเที่ยวของพม่าปี 2536 เพื่อให้ทันสมัยและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
- ปรับปรุงกระบวนการออกวีซา (Visa) เข้าประเทศให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
- ปรับปรุงขั้นตอนการออกใบอนุญาตการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร บริษัททัวร์ และไกด์นำเที่ยว
- จัดตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านการท่องเที่ยว (Tourism Executive Coordination Board) เพื่อเป็นศูนย์กลางการประสานงานระหว่างกระทรวง หน่วยงาน และสมาคม
การพัฒนาทรัพยากรบุคคล อาทิ
- ริเริ่มการเรียนการสอนหลักสูตรการท่องเที่ยวในระดับมัธยมศึกษา
- สร้างพันธมิตรกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาของประเทศต่างๆ ในอาเซียน
- จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมการท่องเที่ยวเคลื่อนที่
การสร้างความแข็งแกร่งของระบบรักษาความปลอดภัย อาทิ
- จัดตั้งหน่วยตำรวจท่องเที่ยวเพื่อดูแลเรื่องการให้บริการและดูแลด้านความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว
- อบรมและให้ความรู้เพื่อป้องกันการค้าเด็กและการท่องเที่ยวเพื่อประเวณี
- กำหนดแผนป้องกันภัยพิบัติและแผนอพยพสำหรับนักท่องเที่ยว
การส่งเสริมผลิตภัณฑ์และบริการด้านการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ อาทิ
- กำหนดแนวทางการท่องเที่ยวเชิงนิเวศในพื้นที่คุ้มครอง
- กำหนดแผนการเดินทางสำหรับการท่องเที่ยวในแต่ละรูปแบบ เช่น การท่องเที่ยวแบบผจญภัย การท่องเที่ยวเชิงอาสาสมัคร การเดินทางแสวงบุญ และการท่องเที่ยวเพื่อการประชุม (MICE) เป็นต้น
- กำหนดให้โครงการก่อสร้างโรงแรมเป็นโครงการเร่งด่วน
- ให้สิทธิประโยชน์สำหรับโครงการท่องเที่ยวที่ใช้เทคโนโลยีสีเขียวและโครงการท่องเที่ยวที่ปราศจากอุปสรรคสำหรับคนทั้งมวล (Barrier-free tourism) ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่และตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวที่เป็นผู้สูงอายุและคนพิการ
การยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ
- ขยายสนามบินในกรุงเนย์ปิดอว์และเมืองมัณฑะเลย์ เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น
- พัฒนาเส้นทางสายรองในพื้นที่การท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เมืองพุกาม (Bagan) ทะเลสาบ Inle เมือง Kyaington และชายหาด Ngapali
- ก่อสร้างศูนย์การจัดนิทรรศการและการประชุม (MICE) ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ อาทิ เมืองย่างกุ้ง เมืองมัณฑะเลย์ เมืองพุกาม และทะเลสาบ Inle
- ปรับปรุงสะพานเทียบเรือในแม่น้ำพุกามเพื่อรองรับเรือท่องเที่ยวให้มากขึ้น
- ปรับปรุงด้านการจัดการอนามัยบริเวณโดยรอบทะเลสาบ Inle
- ปรับปรุงสภาพแวดล้อมในเมือง Kyaikhto ซึ่งเป็นที่ตั้งของพระธาตุอินทร์แขวน
- ปรับปรุงเส้นทางเข้าสู่ชายหาด Ngapali ซึ่งรวมถึงการก่อสร้างถนนเข้าสู่หมู่บ้าน Lontha และถนนเชื่อมต่อสนามบิน Thandwe และหมู่บ้าน Ngapali
- ปรับปรุงเส้นทางเชื่อมเมืองย่างกุ้งกับเมืองสำคัญอื่นๆ อาทิ เมือง Pathein เมือง Chaungtha และเมือง Ngwesaung
การสร้างอัตลักษณ์ตราสินค้าด้านการท่องเที่ยวของพม่า อาทิ
- วางยุทธศาสตร์การตลาดใหม่และการวางตำแหน่งทางการตลาดของการท่องเที่ยวพม่าในตลาดโลก
- ปลุกจิตสำนึกให้คนในชาติตระหนักถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการให้บริการด้านการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ
นอกจากโครงการพัฒนาทั้ง 38 โครงการที่ครอบคลุม 6 ยุทธศาสตร์หลักข้างต้นแล้ว การดำเนินการต่างๆ ภายใต้แผนแม่บทการท่องเที่ยวของพม่าปี 2556-2563 รัฐบาลพม่าจะให้ความสำคัญใน 7 ประเด็นหลัก คือ ความเท่าเทียมกันทางเพศ ความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน การนำนวัตกรรมทางการเงินไปใช้อย่างเหมาะสม ความร่วมมือในระดับภูมิภาค การให้บริการผู้ด้อยโอกาสและผู้พิการ และการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วม โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาพม่าเป็น 3 ล้านคนในปี 2558 และ 7.5 ล้านคนในปี 2563 นอกจากนี้ยังตั้งเป้าเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของพม่าที่มีแนวโน้มสดใสทำให้นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่ามากขึ้น ซึ่งรวมถึงเครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ของโลก อาทิ Accor, Best Western, Hilton และ Shangri-La ที่ได้เข้าไปลงทุนในพม่าแล้ว ปัจจุบันโครงการลงทุนในธุรกิจโรงแรมของนักลงทุนต่างชาติในพม่ามีทั้งสิ้น 39 โครงการ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว 30 โครงการ และอีก 6 โครงการกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ขณะที่อีก 3 โครงการเพิ่งได้รับใบอนุญาตการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของพม่า (Myanmar Investment Commission: MIC) โครงการลงทุนส่วนใหญ่เป็นของนักลงทุนสิงคโปร์จำนวน 14 โครงการ รองลงมาคือ ไทย 10 โครงการ ญี่ปุ่น 6 โครงการ ฮ่องกง 4 โครงการ มาเลเซีย 2 โครงการ ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดของ Ministry of Hotels and Tourism ของพม่าระบุว่า ในปี 2556 ที่พักในพม่าซึ่งรวมถึงโรงแรม โมเต็ล และเกสต์เฮาส์ มีทั้งสิ้น 923 แห่ง มีห้องพักรวมกันทั้งสิ้น 34,834 ห้อง โดยที่พักส่วนใหญ่อยู่ในเมืองย่างกุ้งจำนวน 232 แห่ง มีห้องพักรวม 10,175 ห้อง รองลงมาคือ เมืองมัณฑะเลย์จำนวน 104 แห่ง มีห้องพักรวม 4,439 ห้อง กรุงเนย์ปิดอว์ จำนวน 50 แห่ง มีห้องพักรวม 4,030 ห้อง และเมืองพุกามจำนวน 77 แห่ง มีห้องพักรวม 2,386 ห้อง โดยที่พักทั้ง 923 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาวจำนวน 6 แห่ง โรงแรมระดับ 4 ดาวจำนวน 17 แห่ง โรงแรมระดับ 3 ดาว จำนวน 83 แห่ง โรงแรมระดับ 2 ดาวจำนวน 116 แห่งโรงแรมระดับ 1 ดาวจำนวน 102 แห่ง และ Certificated Hotel จำนวน 599 แห่ง จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าพม่ายังขาดแคลนที่พักระดับบน ทำให้ในฤดูกาลท่องเที่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนมีนาคม ห้องพักในโรงแรมที่ได้มาตรฐานมักไม่เพียงพอกับความต้องการของนักท่องเที่ยว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้าไปลงทุนทำธุรกิจโรงแรมที่มีคุณภาพดีและให้บริการครบวงจร รวมทั้ง Boutique Hotel ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความชำนาญเป็นอย่างดี
ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจโรงแรมและบริการที่เกี่ยวเนื่องในพม่าควรศึกษากฎระเบียบด้านการลงทุนให้รอบด้าน ซึ่งภายใต้กฎหมายลงทุนต่างชาติฉบับใหม่ (New Foreign Investment Law) กำหนดระยะเวลาการเช่าที่ดินได้นานถึง 50 ปี และสามารถต่ออายุได้ 2 ครั้ง ครั้งละ 10 ปี อีกทั้งยังกำหนดให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100% ในกลุ่มโรงแรมระดับ 3-5 ดาวเท่านั้น ส่วนการลงทุนในกลุ่มโรงแรมระดับ 1-2 ดาวต้องลงทุนในรูปแบบ Joint Venture กับชาวพม่า ขณะที่การลงทุนในธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ธุรกิจสปาต้องเปิดดำเนินการในโรงแรมระดับ 3-5 ดาว รวมทั้ง Boutique Hotel นอกจากนี้ ผู้ประกอบการควรศึกษาและให้ความสนใจกับประเด็นต่างๆ อย่างละเอียดรอบคอบ อาทิ กฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ความหลากหลายของชนชาติและวัฒนธรรมในพม่า ความเสี่ยงด้านต้นทุนโดยเฉพาะราคาที่ดินในเมืองเศรษฐกิจสำคัญที่อยู่ในระดับสูง และความพร้อมของระบบสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้าและน้ำประปา เพื่อให้การเข้าไปลงทุนในพม่าประสบความสำเร็จ
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2557--