ในปี 2557 และจะขยายตัวดีต่อเนื่องเฉลี่ยร้อยละ 5 ในช่วงปี 2558-2561 ทำให้ชาวมาเลเซียมีกำลังซื้อสูงขึ้น อีกทั้งอัญมณีและเครื่องประดับถือเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคชาวมาเลเซียนิยมเลือกซื้อ ทั้งเพื่อการออมและเป็นของขวัญให้แก่ตนเองและผู้อื่น นอกจากนี้ การที่รัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าหมายยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีรายได้สูง (High Income Country หมายถึง ประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีตั้งแต่ 12,616 ดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปตามนิยามของธนาคารโลก) ภายในปี 2563 ทำให้คาดว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคชาวมาเลเซียจะยิ่งเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป ปัจจัยเกื้อหนุนดังกล่าวคาดว่าจะมีส่วนกระตุ้นให้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของมาเลเซียขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง
“เก็บตกจากต่างแดน” ฉบับนี้จึงขอนำท่านผู้ประกอบการที่สนใจส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับมาทำความรู้จักกับพฤติกรรมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวมาเลเซีย ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับวางแผนการผลิตและส่งออกให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคชาวมาเลเซีย โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
รสนิยมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของชาวมาเลเซียค่อนข้างหลากหลาย ตามความแตกต่างทางเชื้อชาติและศาสนา ทั้งนี้ สามารถแบ่งกลุ่มผู้ซื้ออัญมณีและเครื่องประดับในมาเลเซียออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
- ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายู เป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดของมาเลเซีย มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรทั้งหมด สุภาพสตรีชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูนิยมเลือกซื้อเครื่องประดับทองและเข็มกลัดสำหรับใช้ประดับเสื้อและผ้าคลุมศีรษะ “ฮิญาบ”
ข้อควรระวัง : ชาวมาเลเซียเชื้อสายมลายูส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม การออกแบบอัญมณีและเครื่องประดับที่จะส่งออกไปจำหน่ายให้กับลูกค้ากลุ่มนี้จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดกับข้อควรปฏิบัติตามหลักศาสนา อาทิ ไม่ควรออกแบบเป็นรูปสัตว์ เนื่องจากตามหลักศาสนาอิสลาม ห้ามชาวมุสลิมสวมใส่อัญมณีและเครื่องประดับที่มีรูปสัตว์
- ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีน มีสัดส่วนราวร้อยละ 20 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ผู้บริโภคกลุ่มนี้เป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อค่อนข้างสูง ทั้งนี้ ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนสูงอายุนิยมซื้อเครื่องประดับทองเพื่อการออม นอกจากนี้ ยังนิยมใส่เครื่องประดับที่ทำด้วยหยก อาทิ แหวนและกำไลหยก ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวจีนที่เชื่อว่า การใส่หยกจะช่วยปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับผู้สวมใส่ ขณะที่ชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ซึ่งเปิดรับวัฒนธรรมการบริโภคตามแบบตะวันตกนิยมซื้อเครื่องประดับที่ตัวเรือนทำด้วยทองคำขาวประดับด้วยเพชรดีไซน์ทันสมัย เพราะสามารถสวมใส่ได้หลายโอกาส ทั้งใส่เข้ากับชุดทำงานในวันทำงานและสวมใส่เข้ากับชุดลำลองในวันหยุด นอกจากนี้ นักธุรกิจชายชาวมาเลเซียเชื้อสายจีนบางส่วนยังนิยมสวมใส่พระเครื่องไทยเลี่ยมทอง เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจและเสริมสิริมงคลให้ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ
- ชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดีย มีสัดส่วนร้อยละ 7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด นิยมเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่ออกแบบและแกะสลักลวดลายดั้งเดิมของชาวอินเดีย และเครื่องประดับที่ตัวเรือนทำด้วยทองประดับด้วยเพชร ทับทิม และมรกต
รสนิยมการเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับของนักท่องเที่ยวในมาเลเซีย โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางซึ่งมีกำลังซื้อสูง และนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลชั้นนำในมาเลเซียแล้วซื้ออัญมณีและเครื่องประดับกลับไปเป็นของฝาก ผู้บริโภคกลุ่มนี้นิยมเลือกซื้อเครื่องประดับทองที่ออกแบบหรูหราตามสมัยนิยม ประดับด้วยเพชรและพลอยหลากสี ทั้งนี้ ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับนักท่องเที่ยวในมาเลเซียมีแนวโน้มสดใส ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่นิยมเดินทางเข้ามาในมาเลเซีย สังเกตได้จากปี 2556 มาเลเซียเป็นประเทศที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 2 ของอาเซียนด้วยจำนวนสูงถึง 25.7 ล้านคน อีกทั้งล่าสุดรัฐบาลมาเลเซียตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็น 36 ล้านคนภายในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้นเฉลี่ยราวร้อยละ 4 ต่อปี (CAGR) ในช่วงปี 2556-2563 ทำให้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับสำหรับนักท่องเที่ยวในมาเลเซียมีความน่าสนใจมากขึ้น จากตลาดที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
ข้อสังเกต : ชาวมาเลเซียในวัยทำงานนิยมเลือกซื้อเครื่องประดับเงินที่ออกแบบสวยงามทันสมัย จึงเป็นโอกาสให้เครื่องประดับเงินส่งออกของไทยที่ได้รับการยอมรับทั้งด้านการออกแบบ ความประณีต และมีราคาจำหน่ายไม่สูงมากนัก มีโอกาสที่จะเจาะตลาดมาเลเซียได้มากขึ้น ทั้งนี้ การที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 65 ของจำนวนประชากรทั้งหมด และเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อสูง นิยมติดตามเทรนด์แฟชั่นโลก กล้าทดลองใช้สินค้าใหม่ๆ มักเลือกซื้อสินค้าตามสมัยนิยมได้เร็วกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ จึงเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเติบโตสูง
ห้างสรรพสินค้าเป็นช่องทางจำหน่ายสำคัญ โดยเฉพาะห้างสรรพสินค้าที่ตั้งอยู่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมืองหลวงของมาเลเซีย อาทิ ห้าง Suria KLCC ในตึกแฝด Petronas Twin Towers และ ห้าง Sunway Pyramid ซึ่งทั้งสองแห่งเป็นสถานที่จำหน่ายสินค้านานาชนิด รวมถึงอัญมณีและเครื่องประดับ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ชาวมาเลเซียและนักท่องเที่ยวต่างชาตินิยม ดังนั้น การติดต่อหาลู่ทางจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในห้างสรรพสินค้าจึงเป็นช่องทางการกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพ
อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสารการตลาดที่เข้าถึงลูกค้าได้แพร่หลาย เนื่องจากชาวมาเลเซียคุ้นเคยกับการใช้อินเทอร์เน็ตในชีวิตประจำวันเป็นอย่างดี สังเกตได้จากปัจจุบันประชากรมาเลเซียมีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึงร้อยละ 60 และมีแนวโน้มขยายตัวสูงขึ้นตามพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มคนวัยทำงานรุ่นใหม่ที่นิยมค้นหาสินค้าที่ต้องการผ่านทางอินเทอร์เน็ต การโฆษณาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับผ่านช่องทางดังกล่าวจึงมีส่วนช่วยให้เข้าถึงผู้บริโภคชาวมาเลเซียได้มากขึ้น
งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของมาเลเซีย ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับที่สนใจเจาะตลาดมาเลเซียควรนำสินค้าเข้าร่วมงาน Malaysia International Jewellery Fair (MIJF) ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญของมาเลเซีย จัดขึ้นปีละ 2 ครั้งที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ในราวเดือนมกราคมและเดือนกรกฎาคมของทุกปี ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและความน่าเชื่อถือให้กับสินค้าแล้ว การได้พบปะกับผู้ค้าและผู้บริโภคชาวมาเลเซียโดยตรงยังช่วยเปิดโอกาสให้ได้รับคำสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นด้วย
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2557--