กัมพูชา ป้จจุบันมี SEZ ที่ได้รับอนุมัติจัดตั้งจาก Cambodian Special Economic Zone Board (CSEZB)และเปิดดำเนินการแล้ว 11 แห่ง โดย SEZ ที่อยู่ติดกับชายแดนไทยมี 2 แห่ง ได้แก่ Poi Pet O’Neang SEZ ตั้งอยู่ในจังหวัดบันเตียเมียนจัย มีพื้นที่รวม 2,919 ไร่ สามารถเชื่อมโยงเข้ากับ SEZ ของไทยที่อำเภออรัญประเทศจังหวัดสระแก้ว ซึ่งกลุ่มธุรกิจที่มีโอกาสสร้างคลัสเตอร์ระหว่างกันได้ อาทิ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้าเครื่องหนัง และสินค้าอุปโภคบริโภค และ Neang Kok Koh Kong SEZ ตั้งอยู่ที่จังหวัดเกาะกง มีพื้นที่รวม 2,096 ไร่ เชื่อมโยงกับ SEZ ไทยที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ซึ่งเป็นบริเวณที่เหมาะกับการลงทุนในธุรกิจอาหารทะเลและการท่องเที่ยว
สปป.ลาว ป้จจุบันมี SEZ (รวมถึงเขตเศรษฐกิจเฉพาะ) รวม 9 แห่ง โดย SEZ ที่อยู่ติดกับชายแดนไทยได้แก่ Savan-Seno SEZ ถือเป็น SEZ แห่งแรกของ สปป.ลาว ตั้งอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต สามารถเชื่อมโยงการค้าการลงทุนระหว่างไทย สปป.ลาว และเวียดนาม ผ่านถนนหมายเลข 9 ภายใต้ระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) โดยจะเชื่อมโยงกับ SEZ ของไทยที่จังหวัดมุกดาหาร ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีศักยภาพ ได้แก่ ธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการท่องเที่ยว เนื่องจากมีจุดเด่นที่สามารถเดินทางข้ามไปมาระหว่าง 3 ประเทศได้ภายในวันเดียว
พม่า ปัจจุบันจัดตั้ง SEZ แล้ว 15 แห่งจากเป้าหมาย 19 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2558 โดยมี SEZสำคัญ 4 แห่ง ได้แก่ Thilawa SEZ, Kyaukphyu SEZ, Dawei SEZ รวมถึง Myawaddy SEZ ซึ่งคาดว่าจะเป็น SEZ สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่มีแนวโน้มเติบโตสูง เนื่องจากเป็นด่านการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างไทยกับพม่าทำให้อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ในการจัดตั้ง SEZ ของไทย โดยบริเวณนี้ควรมุ่งเน้นสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากอำเภอแม่สอดกับเมืองย่างกุ้งห่างกันเพียง 450 กิโลเมตร จึงสามารถใช้ SEZ อำเภอแม่สอด เป็นฐานการผลิตเพื่อกระจายสินค้าต่อไปยังเมืองย่างกุ้งที่เป็นเมืองเศรษฐกิจอันดับ 1 ของพม่า
มาเลเซีย มี SEZ หลายแห่ง แต่ SEZ ที่สำคัญและสามารถเชื่อมโยงกับ SEZ ของไทยที่อำเภอสะเดาจังหวัดสงขลา ได้แก่ SEZ ในรัฐ Kedah โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม Bukit Kayu Hitam ที่รัฐบาลมาเลเซียจัดตั้งเป็นศูนย์กลางพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งใหม่ รวมถึงเมือง Kota Putra ที่จะเป็นแหล่งพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตร โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งอาจเชื่อมโยงกับโครงการ Rubber City ในจังหวัดสงขลาได้
แม้การพัฒนา SEZ ของไทยอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง แต่หากแนวทางการพัฒนามีความชัดเจนทั้งในด้านสิทธิประโยชน์การลงทุน ธุรกิจเป้าหมายที่จะสนับสนุน และแผนปฏิบัติการที่มีส่วนร่วมจากทั้งส่วนกลางและท้องถิ่น ก็เชื่อได้ว่า SEZ จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ไทยใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างประเทศใน AEC ได้อย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนเป็นบันไดอีกขั้นให้ไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อีกด้วย
Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--