รู้ลึกลุ่มน้ำโขง: ระบบภาษี…เรื่องต้องรู้เมื่อคิดลงทุนในพม่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday October 30, 2014 13:35 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

หลังจากการเปิดประเทศ พม่าก็หวนคืนสู่เวทีนานาชาติอีกครั้ง พร้อมประตูการลงทุนที่เปิดกว้างมากขึ้น ดังเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลพม่าเร่งปรับปรุงกฎหมายการลงทุนให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัยเพื่อปูทางสู่ความเป็นสากล และตอบรับความต้องการลงทุนจากนักลงทุนทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะนักลงทุนสำคัญลำดับต้นๆ ในพม่าอย่างจีน ไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ ซึ่งล้วนมีส่วนในการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจต่างๆ ในพม่า ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรและเกษตรแปรรูป ประมงและแปรรูป การท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง และอื่นๆ อีกมาก อันจะนำไปสู่การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต และสอดรับกับแผนพัฒนาประเทศของพม่าปี 2555-2559 ที่ตั้งเป้าขยายตัวไว้ร้อยละ 7.7 ต่อปี

การจะเข้าไปลงทุนในพม่า สิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ คือ ระบบภาษี เนื่องจากภาษีถือเป็นต้นทุนสำคัญประการหนึ่งที่นักลงทุนต้องแบกรับในการประกอบธุรกิจ ล่าสุดในเดือนมีนาคม 2557 รัฐบาลพม่าได้อนุมัติให้มีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดบางประการเกี่ยวกับภาษี อาทิ หมวดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและหมวดภาษีการค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 ทั้งนี้ ภาษีสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนในพม่าที่ควรทราบมีดังนี้

  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Tax) พม่าเรียกเก็บภาษีดังกล่าวในอัตราร้อยละ 25 สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด รวมทั้งมีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติบางส่วนหรือทั้งหมด ซึ่งอยู่ภายใต้ Myanmar Companies Act, Myanmar Foreign Investment Law ขณะที่สาขาของบริษัทจะเสียภาษีในอัตราร้อยละ 35 จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราภาษีที่แตกต่างกันส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ในพม่าเลือกที่จะจัดตั้งบริษัทใหม่มากกว่าการเปิดเป็นสาขา

นอกจากนี้ รัฐบาลพม่าให้สิทธิพิเศษด้านภาษีภายใต้ Myanmar Foreign Investment Law เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ

  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ Myanmar Investment Commission (MIC) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลการลงทุนในพม่า
  • ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการนำผลกำไรกลับไปลงทุนใหม่ภายใน 1 ปี
  • ธุรกิจส่งออกได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 ของกำไรที่ได้จากการส่งออก
  • ได้รับสิทธิ์ในการหักลดหย่อนภาษีจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนา
  • MIC อาจพิจารณายกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับโครงการลงทุนในพื้นที่ห่างไกลและยังไม่พัฒนา

นอกจากนี้ การลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone) ยังจะได้รับสิทธิพิเศษด้านภาษีตาม Special Economic Zone Law 2014 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2557 อาทิ

ทั้งนี้ การบังคับใช้กฎหมาย Special Economic Zone Law 2014 ส่งผลให้กฎหมาย Special Economic Zone Law 2011 และ Dawei Special Economic Zone Law 2011 ถูกยกเลิก

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax) ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 พม่าปรับปรุงอัตราภาษีประเภทดังกล่าว จากเดิมที่เก็บในอัตราก้าวหน้าเพิ่มขึ้นขั้นละร้อยละ 1 ของรายได้สุทธิก่อนหักภาษี เป็นร้อยละ 5 และอัตราสูงสุดเพิ่มจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติที่ไม่มีถิ่นพำนักในพม่า (Non-Resident Foreigner) หรือชาวต่างชาติที่ทำงานในพม่าน้อยกว่า 183 วันในแต่ละปี ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 35 ทั้งนี้ รายละเอียดของอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีดังนี้
  • ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (Withholding Tax) ชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักในพม่า และไม่มีถิ่นพำนักในพม่าจะถูกเรียกเก็บในอัตราแตกต่างกัน ดังนี้
  • ภาษีการค้า (Commercial Tax) เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากธุรกิจนำเข้าสินค้า ผลิตสินค้า การค้าและบริการ โดยมีอัตราภาษีอยู่ที่ร้อยละ 5-100 ขึ้นอยู่กับประเภทของสินค้าและบริการ สำหรับธุรกิจทั่วไป อาทิ ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง โรงแรม ร้านอาหาร และการพิมพ์ จะเก็บในอัตราร้อยละ 5 ขณะที่ธุรกิจขายไม้ที่มีมูลค่าหรือผลิตภัณฑ์ไม้อยู่ที่ร้อยละ 25 (ปรับลดจากร้อยละ 50) หยกและหินที่มีค่าอยู่ที่ร้อยละ 15 (ปรับลดจากร้อยละ 30) ทั้งนี้ ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นในธุรกิจบริการบางประเภท อาทิ เช่าบ้าน จอดรถ ประกันชีวิต การศึกษา ธนาคาร และการขนส่งสินค้า เป็นต้น

พม่ามีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบ่อยครั้ง โดยนอกจากการปรับปรุงกฎหมายด้านภาษีดังที่ได้กล่าวมาแล้ว พม่ายังเตรียมประกาศใช้กฎหมายลงทุนฉบับใหม่ในปี 2558 ซึ่งเป็นการควบรวมกฎหมาย Myanmar Foreign Investment Law และกฎหมาย Myanmar Citizens Investment Law เพื่อสร้างความเท่าเทียมกันระหว่างนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีการปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ อีกในอนาคต ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนในพม่าจึงควรศึกษาและติดตามประเด็นเรื่องกฎหมายอย่างใกล้ชิด เพื่อใช้เป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จต่อไป

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนตุลาคม 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ