ถนนสู่ AEC: เวียดนามกับการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ของเอเชีย

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday December 1, 2014 15:03 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศเป้าหมายของนักลงทุนจากทั่วโลกโดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ จนได้รับการยอมรับในฐานะการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งใหม่ของเอเชีย โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคประเภทโทรศัพท์มือถือ สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคชั้นนำของโลกต่างแสวงหาโอกาสในการขยายการลงทุน และเมื่อประกอบกับศักยภาพของเวียดนามในหลายด้านโดยเฉพาะอัตราค่าจ้างแรงงานที่อยู่ในระดับต่ำและแรงงานที่มีคุณภาพ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเวียดนาม ทำให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคชั้นนำของโลกหลายราย อาทิ Samsung, LG, Panasonic, Nokia, Fuji Xerox และ Intel ตัดสินใจเลือกลงทุนในเวียดนามเพื่อใช้เป็นฐานการผลิตสินค้า นอกจากนี้ นักวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่าในระยะข้างหน้าเวียดนามจะยังคงสามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างต่อเนื่อง จึงมีโอกาสที่เวียดนามจะก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลก

ปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนให้เวียดนามเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของภูมิภาค
  • ปัจจัยด้านแรงงาน เวียดนามมีความพร้อมด้านจำนวนแรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในวัยหนุ่มสาวและเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ นอกจากนี้ แม้ว่ารัฐบาลเวียดนามเตรียมปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในปี 2558 อีกราว 14-18 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ส่งผลให้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในเวียดนามจะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 114-146 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่อัตราดังกล่าวยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค ทำให้ปัจจุบันบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคตัดสินใจที่จะเข้ามาลงทุนในเวียดนามเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ การที่จีนเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งปัญหาด้านคุณภาพของแรงงาน ขณะที่อัตราค่าจ้างแรงงานพุ่งสูงขึ้นมาก ส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่าการย้ายฐานการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติจากจีนมายังเวียดนามจะเป็นกระแสต่อเนื่องไปอีกใน 2-3 ปีข้างหน้า
  • ปัจจัยด้านนโยบายส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลเวียดนาม ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามดำเนินการปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ ให้เอื้อต่อการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การยกเว้นภาษีนำเข้าวัตถุดิบ การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติส่งผลกำไรกลับประเทศได้อย่างเสรี การยกเลิกระบบสองราคา และการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมทั้งการจัดทำข้อตกลงเพื่อส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนและความตกลงเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนกับประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติและดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคหลายแห่งในประเทศเพื่อสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park (SHTP) ซึ่งตั้งอยู่ในนครโฮจิมินห์ เป็นหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งอื่นๆ ในเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันมีโครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้กว่า 60 โครงการ มีมูลค่าการลงทุนรวม 2.22 พันล้านดอลลาร์หสหรัฐ และมีการจ้างงานมากกว่า 11,000 อัตรา ในจำนวนนี้เป็นโครงการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติมากกว่า 30 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทผู้ผลิตสินค้าไฮเทคชั้นนำของโลก เช่น Intel บริษัทผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์ และ Jabil บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของสหรัฐฯ Nidec บริษัทผู้ผลิตมอเตอร์เครื่องคอมพิวเตอร์ของญี่ปุ่น Datalogic บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อ่านบาร์โค้ดของอิตาลี ขณะที่นิคมอุตสาหกรรม Hoa Lac Hi-Tech Park ในกรุงฮานอย เป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและมีความทันสมัยที่สุดในเวียดนาม โดยมีโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการเข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านอวกาศ แผงวงจรไฟฟ้าและอุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ ซอฟต์แวร์ และโทรคมนาคม เป็นต้น
การหลั่งไหลเข้ามาลงทุนในเวียดนามของบริษัทรายใหญ่จากเกาหลีใต้

ในอดีตญี่ปุ่นครองตำแหน่งนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามมาโดยตลอด แต่ปัจจุบันเกาหลีใต้ก้าวแซงหน้าขึ้นมาเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดในเวียดนามจากนักลงทุนต่างชาติทั้งหมด 32 ประเทศ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2557 เกาหลีใต้มีโครงการที่ได้รับอนุมัติลงทุนในเวียดนามทั้งหมด 374 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน 34% ของมูลค่าลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดในเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และโทรศัพท์มือถือ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้ที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามที่สำคัญ ได้แก่ Samsung Electronics และ LG Electronics ซึ่งมีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้

  • Samsung Electronics บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้มีการขยายการลงทุนในหลายกลุ่มธุรกิจในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยเข้ามาลงทุนในเวียดนามครั้งแรกเมื่อปี 2538 ซึ่งเป็นการลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในครัวเรือนในนครโฮจิมินห์ และในปี 2551 Samsung Electronics ลงทุนก่อสร้างโรงงานแห่งที่ 2 ซึ่งเป็นโรงงานผลิตโทรศัพท์มือถือในจังหวัด Bac Ninh ทางภาคเหนือของเวียดนาม โดยการลงทุนเริ่มต้นมีมูลค่า 670 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการขยายการลงทุนในโครงการดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันมีมูลค่าการลงทุนรวม 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อมา Samsung Electronics ขยายการลงทุนเพิ่มเติมในโครงการก่อสร้างศูนย์คอมเพล็กซ์ผลิตโทรศัพท์มือถือและสินค้าไฮเทคในจังหวัด Thai Nguyen ทางภาคเหนือของเวียดนาม ซึ่งเป็นโรงงานแห่งที่ 3 ด้วยมูลค่าลงทุน 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มดำเนินการผลิตเมื่อเดือนมีนาคม 2557 นอกจากนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 Samsung Electronics ยังได้รับอนุมัติการลงทุนจากรัฐบาลเวียดนามในโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตจอแสดงผลความละเอียดสูงรุ่นใหม่สำหรับใช้ประกอบสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในจังหวัด Bac Ninh มูลค่าลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ล่าสุดมีแผนที่จะก่อสร้างศูนย์คอมเพล็กซ์ผลิตโทรทัศน์และเครื่องใช้ไฟฟ้าอีก 1 แห่งในนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park ในนครโฮจิมินห์ มูลค่าลงทุน 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในช่วงต้นปี 2558 และจะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงกลางปี 2559 ซึ่งโครงการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการจ้างงานราว 4,000-5,000 อัตรา การขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเวียดนามทำให้ปัจจุบัน Sumsung Electronics ก้าวขึ้นเป็นบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม โดยในปี 2556 Samsung Electronics มีมูลค่าส่งออกสูงถึง 23.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 1 ใน 5 ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 ทั้งนี้ การที่ Samsung Electronics ขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเวียดนาม เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายที่จะให้เวียดนามเป็นฐานการผลิตหลัก รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของบริษัทในภูมิภาคโดยในช่วงที่ผ่านมา Samsung Electronics ได้ลงนามข้อตกลงกับมหาวิทยาลัยของเวียดนาม 2 แห่ง เพื่อขยายความร่วมมือด้าน R&D ซึ่งรวมถึงการให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาจำนวน 60 คน ที่เรียนในสาขาซอฟต์แวร์โทรศัพท์มือถือ และการรับนักศึกษาที่มีผลการเรียนโดดเด่นเข้าทำงานในบริษัท Samsung Electronics Vietnam หลังสำเร็จการศึกษา นอกจากนี้ Samsung Electronics ยังมีแผนที่จะขยายการลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ในเวียดนาม นอกเหนือจากการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ โครงการก่อสร้างสนามบิน Long Thanh International Airport ในจังหวัด Dong Nai โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน Vung Ang 3 ในจังหวัด Ha Tinh และโครงการอู่ต่อเรือในจังหวัด Khanh Hoa
  • LG Electronics บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับ 4 ของเกาหลีใต้ เดินหน้าก่อสร้างศูนย์คอมเพล็กซ์แห่งใหม่ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวเรือน รวมทั้งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ และสมาร์ทโฟน บนพื้นที่กว่า 400,000 ตารางเมตร ในนิคมอุตสาหกรรม Trang Due Industrail Park ในจังหวัด Hai Phong ทางภาคเหนือของเวียดนาม ด้วยมูลค่าลงทุนรวม 1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวรัฐบาลเวียดนามได้อนุมัติการลงทุนไปแล้วเมื่อเดือนกันยายน 2556 โดย LG Electronics มีแผนที่จะแบ่งโครงการลงทุนออกเป็น 2 เฟส เฟสแรกเป็นการลงทุนในระหว่างปี 2556-2560 ด้วยมูลค่าลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเฟสที่ 2 ในระหว่างปี 2561-2567 ด้วยมูลค่าลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นที่คาดว่าโครงการลงทุนดังกล่าวจะก่อให้เกิดการจ้างงานราว 20,000 อัตรา และจะดึงดูดให้บริษัทในเครือของ LG Electronics เข้ามาลงทุนในจังหวัด Hai Phong ตามมาด้วย

นอกจากบริษัทรายใหญ่ทั้งสองแห่งแล้ว บริษัทในเครือของ Samsung Electronics และ LG Electronics ยังมีแผนขยายการลงทุนในเวียดนามด้วยเช่นกัน อาทิ บริษัท Haesung Vina บริษัทผู้ผลิตกล้องสำหรับสมาร์ทโฟนให้กับ Samsung Electronics ขยายการลงทุนเพิ่มอีก 3 เท่า เป็น 36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตของโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัด Vinh Phuc ทางภาคเหนือของเวียดนาม นอกจากนี้ ยังมีบริษัทของเกาหลีใต้รายอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และมีแผนขยายการลงทุนในเวียดนาม อาทิ บริษัท Kumho Asiana บริษัทผู้ผลิตยางรถยนต์ของเกาหลีใต้ มีแผนที่จะเพิ่มการลงทุนอีกราว 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับโรงงานผลิตยางรถยนต์ในจังหวัด Binh Duong และบริษัท Lotte บริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของเกาหลีใต้ ได้เปิดตัวโครงการอาคาร Lotte Centre ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การค้า โรงแรม เซอร์วิสอะพาร์ตเมนต์ และสำนักงาน ตั้งอยู่ที่ถนน Lieu Giai ใจกลางกรุงฮานอย เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2557 หลังจากใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 5 ปี โครงการดังกล่าวมีมูลค่าลงทุน 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งยังมีแผนเปิดห้างค้าปลีกในหลายจังหวัดของเวียดนามอย่างต่อเนื่อง

เป็นที่น่าสังเกตว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งการเข้ามาลงทุนของบริษัทผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคชั้นนำของโลกดึงดูดให้บริษัทในเครือและบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายอื่นๆ ในห่วงโซ่อุปทานเข้ามาลงทุนในเวียดนาม เพื่อผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับบริษัทรายใหญ่ การหลั่งไหลเข้ามาของบริษัทต่างชาติเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของเวียดนามในฐานะฐานการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าไฮเทคที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของโลก

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไป เพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤศจิกายน 2557--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ