บทความน่ารู้จาก Exim: โลกกับความเสี่ยงจากภัยคุกคามการก่อการร้าย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 12, 2015 15:14 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

World Economic Forum 2015 (WEF 2015) เป็นเวทีการประชุมเศรษฐกิจระดับโลกที่รวบรวมผู้เชี่ยวชาญชั้นแนวหน้าจากหลายประเทศมาหารือและแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ตลอดจนเสนอแนะแนวทางในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับภูมิภาคไปจนถึงระดับโลก ซึ่งในครั้งนี้จัดขึ้นที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2558 โดยมีการเผยแพร่รายงานประจำปีภายใต้หัวข้อ "The Global Risks 2015" หรือ "ความเสี่ยงของโลกปี 2558" ซึ่งกล่าวถึงความเสี่ยงด้านต่างๆ ที่ประชาคมโลกอาจต้องเผชิญในปี 2558 สำหรับประเด็นที่น่าสนใจและถูกกล่าวถึงมากที่สุด คือ ภัยคุกคามที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตโลกในอนาคต

อะไรคือภัยคุกคามที่เป็นความเสี่ยงของโลกในปีนี้?

"The Global Risks 2015" ระบุถึงความเสี่ยง 10 อันดับแรกที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาคมโลกที่มีโอกาสเกิดขึ้นมากที่สุดในปี 2558 ได้แก่ 1) ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 2) การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง 3) ความล้มเหลวของการบริหารจัดการรัฐ 4) การล่มสลายหรือวิกฤตภายในรัฐ 5) ปัญหาการว่างงาน 6) ภัยพิบัติทางธรรมชาติ 7) ความล้มเหลวในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 8) วิกฤตด้านทรัพยากรน้ำ 9) การจารกรรมข้อมูล และ 10) การโจมตีความมั่นคงทางสารสนเทศ เป็นที่น่าสังเกตว่ารายงานฉบับนี้เป็นรายงานฉบับแรกจากการสำรวจของ WEF ที่ได้บทสรุปออกมาว่าความขัดแย้งระหว่างรัฐเป็นภัยคุกคามอันดับสูงสุด ต่างจากรายงานในปีก่อนๆ ซึ่งความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อประชาคมโลกมักเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจ เช่น ในปี 2557 WEF เปิดเผยว่าความเสี่ยงที่เป็นภัยคุกคามอันดับสูงสุด คือ วิกฤตหนี้สินภาครัฐของประเทศเศรษฐกิจหลัก (สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น)

ความขัดแย้งระหว่างรัฐที่เป็นภัยคุกคามอันดับสูงสุดในปีนี้ส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์ความไม่สงบในหลายประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ทางภาคตะวันออกของยูเครน จนลุกลามสู่ประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศมหาอำนาจ การขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็วของกลุ่มรัฐอิสลาม (ISIS) ในอิรักและซีเรีย รวมทั้งการก่อความรุนแรงของกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ อาทิ กลุ่มติดอาวุธ Boko Haram ในไนจีเรีย กลุ่มติดอาวุธ Al Shabaab ในโซมาเลีย รวมทั้งกลุ่มติดอาวุธ Taliban ในอัฟกานิสถานและปากีสถาน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์อันตรายที่เพิ่มมากขึ้นของโลก และทำให้หลายประเทศเริ่มตื่นตัวกับการรักษาความปลอดภัยและสวัสดิภาพพลเมืองของตนมากขึ้น ส่วนที่เหลือเป็นความกังวลเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง โดยเฉพาะโครงการทดลองอาวุธนิวเคลียร์ในอิหร่านและเกาหลีเหนือที่เป็นประเด็นขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยืดเยื้อยาวนานมาหลายทศวรรษ

แม้ความขัดแย้งระหว่างรัฐดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว แต่หากพิจารณาอย่างลึกซึ้งจะเห็นได้ว่าในความเป็นจริงแล้วโลกของเราในปัจจุบันเชื่อมโยงทุกประเทศเข้าด้วยกันผ่านเครือข่ายการค้าการลงทุน ดังนั้น สถานการณ์โลกที่มีความขัดแย้งรุนแรงไม่ว่าจะเป็นกรณีวิกฤตยูเครนและการตอบโต้กลุ่มรัฐอิสลาม ซึ่งหากลุกลามบานปลายจนเกิดเป็นสงครามขึ้น ย่อมส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การค้าการลงทุนของโลก รวมทั้งของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น เราจึงควรติดตามสถานการณ์ต่างๆ ดังกล่าวอย่างใกล้ชิดและไม่ตื่นตระหนก เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีต่างๆ ตั้งแต่กรณีที่คาดว่าจะส่งผลกระทบเล็กน้อย เช่น การตอบโต้กันเป็นระยะของกลุ่มก่อความไม่สงบ ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังประเทศปลายทางมีความลำบากขึ้นเพราะต้องขนส่งผ่านประเทศที่สาม ไปจนถึงกรณีที่ส่งผลกระทบรุนแรง เช่น การเผชิญภัยก่อการร้ายในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการเกิดภาวะสงคราม ซึ่งอาจทำให้สถานการณ์การค้าการลงทุนของโลกประสบภาวะชะงักงันและเส้นทางการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่ถูกตัดขาด จนส่งผลให้เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ขณะเดียวกันภาคส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญและผู้ส่งออกอาจเผชิญความเสี่ยงจากการไม่ได้รับชำระค่าสินค้า

ส่วนวิจัยธุรกิจ 2 ฝ่ายวิจัยธุรกิจ

กุมภาพันธ์ 2558

Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ