ราคา
น้ำมันดิบในตลาดโลกที่ลดลงอย่างรวดเร็วจากระดับสูงกว่า 100
ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี 2557 เหลือต่ำกว่า 50
ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในปัจจุบัน ทำให้หลายฝ่ายประเมินว่า จะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยปี 2558 ในภาพรวม เนื่องจากไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ จึงทำให้ประหยัดเงินใน
การนำเข้าน้ำมันดิบได้กว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการก็จะมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง ซึ่งทำให้สามารถนำเงินไปใช้ขยายกิจการหรือลงทุนเพิ่มได้ ขณะที่ผู้บริโภคก็จะมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลง ซึ่งจะหนุนให้อุปสงค์ในประเทศกระเตื้องขึ้น อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในด้าน
การส่งออกสินค้าและบริการ ดูเหมือนว่าราคาน้ำมันที่ลดลงจะบั่นทอน
การส่งออกของไทยอยู่ไม่น้อย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1.
การส่งออกของไทยไปประเทศที่พึ่งพารายได้จาก
การส่งออกน้ำมันในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะกลุ่มประเทศโอเปกและรัสเซียซึ่งไทยส่งออกไปคิดเป็นสัดส่วนรวมกันกว่า 5% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ ประเทศเหล่านี้จัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีโดยอิงกับราคาน้ำมันเป็นหลัก ดังนั้น หากราคาน้ำมันลดต่ำลงก็เท่ากับว่าประเทศเหล่านี้ต้องปรับลดงบประมาณรายจ่ายเพื่อพัฒนาประเทศลง ซึ่งจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อของกลุ่มประเทศดังกล่าวชะลอลง ล่าสุด หน่วยงาน EIA (Energy Information Administration) ของสหรัฐฯ คาดการณ์รายได้จาก
การส่งออกน้ำมันของกลุ่มโอเปกจะลดลงจาก 703 พันล้าน
ดอลลาร์สหรัฐในปี 2557 เหลือ 446 พันล้าน
ดอลลาร์สหรัฐในปี 2558 หรือลดลงราว 36% ต่ำสุดในรอบ 10 ปี เช่นเดียวกับเศรษฐกิจรัสเซียปี 2558 ที่ล่าสุด IMF คาดว่าจะหดตัว 3% ต่ำสุดในรอบ 3 ปี เนื่องจากรายได้จาก
การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ลดลงมาก (รัสเซียพึ่งพา
การส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติกว่า 68% ของมูลค่าส่งออกรวม) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ไทยพึ่งพาตลาดโอเปกและรัสเซียสูง ได้แก่ รถยนต์ (15.2% ของมูลค่าส่งออกรถยนต์รวม) ข้าว (17.1% ของมูลค่าส่งออกข้าวรวม) เครื่องปรับอากาศ (11% ของมูลค่าส่งออกเครื่องปรับอากาศรวม) 2.
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและ ปิโตรเคมีของไทยมีแนวโน้มชะลอลง สินค้าทั้งสองรายการมีสัดส่วนรวมกันราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ นอกจากราคาน้ำมันที่ลดลงจะกดดัน
การส่งออกสินค้าในกลุ่มดังกล่าวแล้ว ตลาดหลักอย่างจีนที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวต่ำสุดในรอบ 25 ปีและการขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีในจีนที่เพิ่มขึ้น จะทำให้จีนมีแนวโน้มนำเข้าสินค้าดังกล่าวจากไทยลดลง 3.
การส่งออกสินค้าเกษตร/ อุตสาหกรรมเกษตรไม่สดใส เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะยางพาราและน้ำตาลทราย ซึ่งมูลค่าส่งออกมีสัดส่วนรวมกันกว่า 4% ของมูลค่าส่งออกรวม ทั้งนี้ ราคายางพาราในปี 2557 ที่ลดลงราว 25% ยังบั่นทอนมูลค่าส่งออกยางพาราต่อเนื่อง ขณะที่ยังต้องจับตามองปัญหาอุปทานส่วนเกินของยางพาราและน้ำตาลทรายในตลาดโลกว่าจะคลี่คลายมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลอย่างมากต่อมูลค่าส่งออกของสองสินค้าดังกล่าวในระยะถัดไป 4.
การส่งออกบริการมีแนวโน้มชะลอลง จากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวตะวันออกกลางและรัสเซียซึ่งคิดเป็นสัดส่วนราว 10% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดในไทยอาจลดลง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีรายจ่ายเฉลี่ยต่อหัวสูงสุดและเป็นกลุ่มลูกค้าอันดับ 1 ที่เข้ามาท่องเที่ยวพร้อมกับใช้บริการด้านสุขภาพ (Medical Tourism) ในไทย ซึ่งจะทำให้รายรับจากธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่า การส่งออกของไทยในปี 2558 แม้มีแนวโน้มกระเตี้องขึ้นเล็กน้อยจากฐานที่ต่ำในปี 2557 แต่ยังต้องเผชิญกับปัจจัยรุมเร้ารอบด้านจากเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบาง ประกอบกับผลกระทบของราคาน้ำมันที่ลดลงดังที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ ผู้ส่งออกไทย โดยเฉพาะรายที่พึ่งพาตลาดที่มีรายได้จากน้ำมันในสัดส่วนสูง รวมทั้งผู้ส่งออกสินค้าที่ราคาเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมันควรติดตามทิศทางราคาน้ำมันอย่างใกล้ชิดและใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงอย่างเหมาะสม อีกทั้งควรพยายามหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิที่จะได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงทดแทนให้ได้อย่างทันท่วงที
Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--