ปัจจุบันเวียดนามเป็นประเทศผู้ส่งออกสิ่งทอรายใหญ่ที่สุดของอาเซียนและรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก (รองจากจีน อินเดีย ตุรกี และบังกลาเทศ) ด้วยมูลค่าส่งออก 17,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2556 และขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 15 ต่อปี ในช่วงปี 2552-2556 อันเป็นผลจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศที่หลั่งไหลเข้ามาใช้เวียดนามเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก จนทำให้ปัจจุบันเวียดนามเป็นฐานการผลิตสิ่งทอสำคัญของแบรนด์ชั้นนำของโลก เนื่องจากอัตราค่าจ้างแรงงานในเวียดนามอยู่ในระดับต่ำราว 100-145 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และมีแรงงานจำนวนมาก อีกทั้งยังได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) จากประเทศพัฒนาแล้ว อาทิ สหภาพยุโรป (European Union : EU) และญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ เวียดนามยังอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Strategic Economic Partnership : TPP*) ซึ่งเมื่อมีผลบังคับใช้จะช่วยเกื้อหนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอมากขึ้น ทั้งนี้ อุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนามที่เติบโตอย่างต่อเนื่องไม่เพียงแต่เป็นโอกาสการลงทุนของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มในเวียดนามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำ โดยเฉพาะการผลิตผ้าผืน ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องนุ่งห่มที่เวียดนามยังขาดแคลนและมีแนวโน้มที่จะต้องการเพิ่มขึ้นอีกในระยะข้างหน้า
- โครงสร้างการผลิตสิ่งทอของเวียดนามยังต้องพึ่งพาการนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศเป็นหลัก เวียดนามผลิตผ้าผืนได้ไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ในประเทศที่เติบโตอย่างรวดเร็วตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส่งผลให้ต้องนำเข้าผ้าผืนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 เวียดนามนำเข้าผ้าผืนมูลค่า 8,397 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 19.2 จากปีก่อนและคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการใช้ผ้าผืนในประเทศที่มีทั้งสิ้น 6,800 ล้านตารางเมตร ทั้งนี้ ผ้าผืนเป็นวัตถุดิบหลักของอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เวียดนามนำเข้ามากที่สุด มีสัดส่วนถึงร้อยละ 62 ของมูลค่านำเข้าสิ่งทอรวม ขณะที่ภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอปี 2558-2563 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าส่งออกสิ่งทอเป็น 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2563 ซึ่งจะยิ่งเกื้อหนุนให้ความต้องการใช้ผ้าผืนเพิ่มขึ้นตาม
- ความตกลงทางการค้าเกื้อหนุนการลงทุนอุตสาหกรรมผ้าผืนในเวียดนาม ความตกลง TPP ซึ่งมีสหรัฐฯ เป็นแกนนำจะมีส่วนสำคัญในการเกื้อหนุนการส่งออกเครื่องนุ่งห่มของเวียดนามไปสหรัฐฯ (ตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มอันดับ 1 ของเวียดนาม มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 50 ของมูลค่าส่งออกเครื่องนุ่งห่มรวมของเวียดนาม) เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าเครื่องนุ่งห่มที่เวียดนามส่งออกไปสหรัฐฯ ทั้งหมดราว 1,000 รายการ จะลดลงเหลือร้อยละ 0 จากเดิมที่เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 17-18 การส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เวียดนามมีความต้องการใช้วัตถุดิบผ้าผืนเพิ่มขึ้นตาม ทั้งนี้ ภายใต้ความตกลง TPP คาดว่าจะมีการใช้กฎแหล่งกำเนิดสินค้าที่มีเงื่อนไขให้เครื่องนุ่งห่มที่ได้สิทธิ์ TPP ต้องใช้วัตถุดิบด้ายหรือผ้าผืนที่ผลิตจากประเทศสมาชิก TPP (Yarn/Fabric Forward) ซึ่งจะเอื้อให้มีการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำในเวียดนามมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ปัจจุบันเวียดนามอยู่ระหว่างการเจรจาความตกลงการค้าเสรีกับ EU (ตลาดส่งออกเครื่องนุ่งห่มอันดับ 2 ของเวียดนาม มีสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของมูลค่าส่งออกเครื่องนุ่งห่มรวม) ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ภายในปี 2558 และจะส่งผลให้อัตราภาษีนำเข้าเครื่องนุ่งห่มที่เวียดนามส่งออกไป EU ลดลงเหลือร้อยละ 0 จากเดิมที่เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 12 ซึ่งจะเกื้อหนุนการส่งออกเครื่องนุ่งห่มไปตลาด EU และทำให้ความต้องการใช้วัตถุดิบผ้าผืนของเวียดนามขยายตัวตาม
- รัฐบาลเวียดนามสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างจริงจัง เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยมีสัดส่วนถึงร้อยละ 10.5 ของ GDP และมีสัดส่วนราวร้อยละ 14 ของมูลค่าส่งออกรวม อีกทั้งยังก่อให้เกิดการจ้างงานราว 2.5 ล้านคน หรือราว 1 ใน 4 ของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมทั้งระบบของเวียดนาม ทั้งนี้ รัฐบาลเวียดนามมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่สำคัญในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ดังนี้
- อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติลงทุนได้สูงสุดร้อยละ 100
- ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ที่สำคัญ คือ ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 4 ปี จากอัตราปกติที่ร้อยละ 22 (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ลงทุน) ยกเว้นอากรขาเข้า (Import Duty) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในการนำเข้าวัตถุดิบและเครื่องจักรที่ใช้ในการผลิต
- ยกเว้นค่าเช่าที่ดินในนิคมอุตสาหกรรม 3-15 ปี (ขึ้นอยู่กับพื้นที่ลงทุน)
- กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำนวน 5 แห่งทั่วประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักลงทุนต่างชาติ
นอกจากนี้ ภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอปี 2558-2563 รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสิ่งทอต้นน้ำมากขึ้น โดยเพิ่มสัดส่วนการใช้วัตถุดิบสิ่งทอภายในประเทศเป็นร้อยละ 60 ของต้นทุนวัตถุดิบสิ่งทอรวม ภายในปี 2558 และร้อยละ 70 ภายในปี 2563 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 50 โดยมีรายละเอียดสำคัญ อาทิ
จากปัจจัยสนับสนุนที่กล่าวข้างต้น ทำให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสที่จะเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมผ้าผืนในเวียดนาม ขณะที่การแข่งขันในอุตสาหกรรมดังกล่าวในเวียดนามยังไม่รุนแรงนัก เนื่องจากผู้ประกอบการผ้าผืนรายใหญ่มีจำนวนน้อย และส่วนใหญ่อยู่ในเครือข่ายของ VINATEX (The Vietnam National Textile and Garment Group) ซึ่งเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจสิ่งทอที่ใหญ่ที่สุดของเวียดนามที่กำลังจะแปรรูปเป็นกิจการของเอกชน ขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่เข้าไปลงทุนผลิตผ้าผืนในเวียดนามเน้นผลิตผ้าผืนคุณภาพสูงเพื่อป้อนให้แก่ผู้ประกอบการเครื่องนุ่งห่มที่ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพตามคำสั่งซื้อของคู่ค้าในต่างประเทศ จึงยังมีช่องว่างในตลาดผ้าผืนคุณภาพระดับกลางและระดับล่าง โดยผู้ประกอบการไทยควรเน้นตลาดผ้าผืนคุณภาพระดับกลาง เพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคากับผ้าผืนของจีนที่เน้นตลาดระดับล่าง
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการที่สนใจเข้าไปลงทุนในเวียดนามควรพิจารณาพื้นที่ลงทุนให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลเวียดนามที่กำหนดพื้นที่เป้าหมายในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสิ่งทอภายใต้แผนพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอปี 2558-2563 จำนวน 5 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เมือง Pho Noi ในจังหวัด Hung Yen เมือง Nam Dan ในจังหวัด Nghe An เมือง Hue ในจังหวัด Thua Thien-Hue พื้นที่ Tay Nguyen (ที่ราบสูงภาคกลางของเวียดนาม) และเมือง Binh Ah ในจังหวัด Binh Duong โดยพื้นที่เป้าหมายสำหรับการจัดตั้งโรงงานผลิตผ้าผืนมี 3 แห่ง ได้แก่ เมือง Pho Noi และเมือง Nam Dan อยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศ รวมถึงเมือง Binh Ah บริเวณตอนใต้ของประเทศ
หมายเหตุ * TPP ประกอบด้วยสมาชิก 12 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม แคนาดา เม็กซิโก และญี่ปุ่น
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมีนาคม 2558--