เมื่อกล่าวถึงกาแฟในตลาดอาเซียน หรือตลาด AEC บรรดาคอกาแฟคงนึกถึงอินโดนีเซียเป็นประเทศแรกๆ เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นแหล่งผลิตกาแฟขี้ชะมด หรือที่เรียกว่า Kopi Luwak ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นกาแฟที่แพงที่สุดในโลก แต่หลายท่านคงยังไม่ทราบว่า นอกจากอินโดนีเซียจะเป็นแหล่งกำเนิดกาแฟที่แพงที่สุดในโลก รวมถึงกาแฟอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงทั้งกาแฟแมนเฮลิง (Mangheling) และอันโกลา (Ankola) แล้ว อินโดนีเซียยังเป็นแหล่งผลิตและส่งออกกาแฟรายใหญ่อันดับต้นๆ ของอาเซียนและของโลกด้วยเช่นกัน โดยเป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกกาแฟอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล เวียดนาม และโคลอมเบีย ตามลำดับ
กาแฟขี้ชะมด หรือ Kopi Luwak (Kopi ในภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า กาแฟ ส่วน Luwak หมายถึง ชะมดพันธุ์หนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย) เป็นเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการย่อยอาหารของชะมดซึ่งกินเมล็ดกาแฟสุกเข้าไป และด้วยกระบวนการหมักในร่างกายของชะมด ทำให้กาแฟขี้ชะมดมีกลิ่นและรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยมีราคาสูงถึงแก้วละ 500-1,000 บาท
แม้อินโดนีเซียจะเป็นที่รู้จักดีว่าเป็นแหล่งกำเนิดกาแฟขี้ชะมดซึ่งเป็นกาแฟราคาแพงที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่กาแฟที่อินโดนีเซียเพาะปลูกและส่งออกส่วนใหญ่ยังเป็นกาแฟคุณภาพต่ำและราคาไม่สูง โดยราวร้อยละ 80 ของเมล็ดกาแฟที่ผลิตได้เป็นกาแฟโรบัสต้าซึ่งนิยมนำไปผลิตกาแฟผงสำเร็จรูป ขณะที่การเพาะปลูกกาแฟเป็นธุรกิจที่กระจายรายได้สู่กลุ่มเกษตรกรได้อย่างกว้างขวาง เนื่องจากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่เพาะปลูกกาแฟในอินโดนีเซียเป็นของเกษตรกรรายย่อย ส่งผลให้รัฐบาลอินโดนีเซียมุ่งพัฒนาการผลิตกาแฟในประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูกกาแฟในอินโดนีเซียซึ่งมีจำนวนราว 2 ล้านคน ด้วยการตั้งเป้าเพิ่มผลผลิตต่อไร่จาก 120 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 240 กิโลกรัมต่อไร่ รวมทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกกาแฟที่มีคุณภาพดีเพิ่มขึ้น เช่น กาแฟอาราบิกา ซึ่งพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาปริมาณการผลิตกาแฟอาราบิกาในอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นจาก 5.7 หมื่นตันในปี 2548 เป็น 8.7 หมื่นตันในปี 2558 อีกทั้งสนับสนุนให้เกษตรกรสร้างมูลค่าเพิ่มให้กาแฟที่เพาะปลูก เช่น การเพาะปลูกกาแฟแบบอินทรีย์
ปัจจุบันอินโดนีเซียมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟประมาณ 7.5 ล้านไร่ มีแหล่งเพาะปลูกสำคัญหลายแห่ง ได้แก่ เกาะ Sumatra เกาะ Java เกาะ Papua เกาะ Kalimantan เกาะ Sulawesi และเกาะ Moluccas โดยผลผลิตในปี 2558 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.5 ล้านตัน
ในช่วงที่ผ่านมา แม้การผลิตกาแฟของอินโดนีเซียจะเน้นเพื่อการส่งออกเป็นสำคัญ และมีการบริโภคกาแฟในประเทศเพียงร้อยละ 20-30 ของปริมาณกาแฟที่ผลิตได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากการดื่มกาแฟต่อคนต่อปีของชาวอินโดนีเซียยังอยู่ในระดับต่ำ แต่ในระยะหลังชาวอินโดนีเซียเริ่มหันมานิยมดื่มกาแฟเพิ่มขึ้นมาก ด้วยปัจจัยสนับสนุนหลายประการทั้งจากการเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งนิยมสังสรรค์และรับประทานอาหารนอกบ้านในช่วงเวลาหลังเลิกงาน อีกทั้งกลุ่มผู้บริโภคระดับกลางในเมืองใหญ่ยังมีพฤติกรรมบริโภคกาแฟตลอดทั้งวัน การรุกทำตลาดอย่างจริงจังของผู้ประกอบการทั้งในธุรกิจร้านกาแฟ กาแฟแบบผงพร้อมชง และกาแฟพร้อมดื่ม (Ready to Drink) รวมถึงการเข้ามาตั้งร้านกาแฟจากต่างประเทศ (International Coffee Chain) ที่มากระตุ้นตลาดกาแฟในอินโดนีเซีย ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการบริโภคกาแฟต่อคนต่อปีของชาวอินโดนีเซียสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้Association of Indonesia Coffee Exporters (AICE) ประเมินการบริโภคกาแฟต่อคนต่อปีของชาวอินโดนีเซียจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 0.9 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2555 เป็น 1.19 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2557 และ 1.54 กิโลกรัมต่อคนต่อปีในปี 2559 เมื่อประกอบกับจำนวนประชากรอินโดนีเซียที่มีมากถึงกว่า 200 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ส่งผลให้ตลาดกาแฟในอินโดนีเซียเป็นตลาดที่น่าจับตามอง
เมื่อพิจารณาถึงประเภทของกาแฟที่ชาวอินโดนีเซียนิยมบริโภคพบว่า ปัจจุบันกาแฟแบบคั่วครองส่วนแบ่งตลาดราวร้อยละ 70 ของการบริโภคกาแฟทั้งหมดในอินโดนีเซีย โดยเป็นการบริโภคผ่านร้านกาแฟซึ่งใช้กาแฟคั่วในการชง เนื่องจากการนั่งดื่มกาแฟในร้านกลายเป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งของชาวอินโดนีเซียทั้งกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ทั้งนี้ จากการที่ชาวอินโดนีเซียนิยมดื่มกาแฟในร้านมากขึ้นและใช้เวลาในร้านกาแฟนานขึ้น ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดร้านกาแฟสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะร้านกาแฟในรูปแบบแฟรนไชส์ ซึ่งมักมีกลุ่มเป้าหมายเดียวกัน คือ ลูกค้าที่มีรายได้ปานกลางถึงรายได้สูงตามเมืองใหญ่ เพราะต่างเล็งเห็นว่าธุรกิจร้านกาแฟในอินโดนีเซียเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตมากและมีกำไรสูง ปัจจุบันธุรกิจร้านกาแฟสมัยใหม่ในประเทศอินโดนีเซียจึงมีการแข่งขันค่อนข้างรุนแรงทั้งจากผู้ประกอบการในประเทศและผู้ประกอบการต่างชาติรายใหญ่ที่เข้าไปลงทุน
ในส่วนของกาแฟแบบผงพร้อมชงแม้มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 30 แต่มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้มูลค่าตลาดกาแฟในอินโดนีเซียโดยรวมขยายตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะกาแฟผงพร้อมชงแบบ 3 อิน 1 บรรจุแยกซอง เนื่องจากสะดวกในการชงและราคาย่อมเยาสอดคล้องกับวิถีชีวิตและรายได้ของชาวอินโดนีเซียกลุ่มใหญ่ ทั้งนี้ ช่องทางจำหน่ายที่น่าสนใจในการจำหน่ายกาแฟแบบ 3 อิน 1 บรรจุแยกซอง คือ ร้านกาแฟนักปั่น (Bicycle Barista) ซึ่งคนขายจะปั่นจักรยานที่บรรทุกกระติกน้ำร้อนและกาแฟผงสำเร็จรูปแบบ 3 อิน 1 ไปรอบๆ เมือง ผู้บริโภคจึงสามารถหาซื้อกาแฟดื่มได้ง่ายแม้ในช่วงที่การจราจรหนาแน่น เพราะลูกค้าเพียงแค่เปิดกระจกรถออกมาสั่งซื้อก็จะได้ดื่มกาแฟร้อนๆ ทันที ซึ่งนับว่าเป็นช่องทางที่เหมาะกับประเทศที่ได้ชื่อว่ามีเมืองที่มีรถติดที่สุดในโลกเช่นอินโดนีเซีย
ตลาดกาแฟในอินโดนีเซียเป็นตลาดที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก ทั้งในแง่การเข้าไปลงทุนร้านกาแฟสมัยใหม่ หรือการส่งออกกาแฟไปอินโดนีเซีย ซึ่งแม้อินโดนีเซียจะเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ของโลก แต่การบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนให้เห็นแนวโน้มที่สดใสของการนำเข้ากาแฟของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะการนำเข้ากาแฟคุณภาพดี เช่น กาแฟอาราบิกาที่ยังผลิตได้เองไม่มาก หรือกาแฟที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิ กาแฟผสมโสม ซึ่งเป็นที่ต้องการมากขึ้นตามกระแสรักสุขภาพของคนรุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกอบการที่สนใจทำธุรกิจในอินโดนีเซียควรตระหนักถึง คือ อินโดนีเซียมีมาตรการตรวจสอบสินค้านำเข้าอย่างเข้มงวด ทำให้กระบวนการนำเข้าสินค้ามีหลายขั้นตอนและต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบด้านการค้าบ่อยครั้ง นอกจากนี้ อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีกฎหมายแฟรนไชส์ที่เข้มงวด และยังให้ความสำคัญมากกับรายละเอียดในสัญญา ผู้ส่งออกจึงควรติดตามและศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนการตัดสินใจส่งออกหรือลงทุนในประเทศอินโดนีเซีย
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนเมษายน 2558--