อนาคตการค้าชายแดน ... ย่างก้าวที่เติบโตและเปลี่ยนแปลง

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday May 11, 2015 14:12 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

การค้าชายแดนนับวันยิ่งทวีความสำคัญต่อการส่งออกและเศรษฐกิจของประเทศ เห็นได้จากการค้าชายแดน (ส่งออก+นำเข้า) ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในปี 2557 มีมูลค่าถึง 9.9 แสนล้านบาท หากคิดเฉพาะการส่งออกผ่านด่านชายแดนมีมูลค่า 5.9 แสนล้านบาท มีสัดส่วนราว 8% ของมูลค่าส่งออกรวมของไทย เริ่มขยับเข้าใกล้มูลค่าส่งออกของไทยไปตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ EU และญี่ปุ่น สำหรับการค้าชายแดนของไทยในระยะข้างหน้า มีแนวโน้มเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จนอาจเปลี่ยนโฉมหน้าไปจากปัจจุบัน "เลียบรั้ว เลาะโลก" ฉบับนี้ จึงขอนำข้อสังเกตที่ผู้เขียนประเมินไว้เกี่ยวกับทิศทางของการค้าชายแดนในอนาคต เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามและอาจนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป แต่ทั้งนี้ขอยกเว้นการกล่าวถึงมาเลเซีย เนื่องจากมีขนาดเศรษฐกิจและรูปแบบการค้าที่ต่างออกไปจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ของไทย

(1) ช่องทางการส่งออกผ่านชายแดนอาจเปลี่ยนรูปแบบไปหลังปี 2558 ภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ภาษีนำเข้าของประเทศเพื่อนบ้านจะลดเหลือ 0% สถานการณ์ดังกล่าวเอื้อให้การส่งออกของไทยผ่านด่านชายแดนขยายตัวยิ่งขึ้น แต่การจะใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้นั้น ต้องอาศัยกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rule of Origin) กล่าวคือ ผู้ส่งออกต้องระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตได้ ทำให้ในระยะยาวมีโอกาสมากที่การส่งออกบริเวณชายแดนจะเป็นการส่งออกจากผู้ผลิตโดยตรง จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่นิยมให้ Trader เป็นผู้รวบรวมสินค้าเพื่อส่งออก ประกอบกับการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษของไทย จะส่งเสริมให้โรงงานหลายแห่งผลิตเพื่อส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านได้โดยตรง แต่การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เพื่อให้การปรับปรุงระบบศุลกากรมีความพร้อมสมบูรณ์ อาทิ ระบบ National Single Window การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาบุคลากร รวมถึงฐานข้อมูลของคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้าน

(2) ประเภทของสินค้าที่ส่งออกผ่านชายแดนมีความหลากหลายขึ้น การเปิดประเทศรับการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจและกำลังซื้อของประเทศเพื่อนบ้านเติบโตอย่างก้าวกระโดด เห็นได้จากรายได้เฉลี่ยของชาวกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมาร์ ในปัจจุบันโตถึง 20-60% จาก 5 ปีก่อน ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 7-8% ต่อปี ไปอีกไม่ต่ำกว่า 5 ปี ส่งผลให้รูปแบบการบริโภคสินค้าและบริการของประชากรเริ่มเปลี่ยนไป จากเดิมสินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปประเทศ เพื่อนบ้านมักเป็นสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีราคาไม่สูงนัก แต่ในอนาคตเมื่อจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น ย่อมทำให้ความต้องการสินค้าคุณภาพสูงหรือสินค้าฟุ่มเฟือยมีมากขึ้น ปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวบ้างแล้ว อาทิร้านอาหารแฟรนไชส์หรือฟาสต์ฟู้ดราคาสูงของไทยในประเทศเพื่อนบ้านได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก รวมถึงการเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในเมืองสำคัญของประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนปัจจุบันสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างรถยนต์ อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องสำอาง ก้าวขึ้นมาเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทยไปประเทศเพื่อนบ้าน มีสัดส่วนรวมกันถึง 14% ของมูลค่าส่งออกของไทยไปประเทศเพื่อนบ้านทั้งหมด เทียบกับที่มีสัดส่วนราว 7% ในช่วง 10 ปีก่อน นอกจากนี้ การส่งออกวัตถุดิบและสินค้าทุน อาทิ วัสดุก่อสร้าง วัตถุดิบ สิ่งทอต้นน้ำ และเครื่องจักรกล ของไทยไปประเทศเพื่อนบ้านก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หลังจากมีการขยายการลงทุนไปประเทศเพื่อนบ้านกันอย่างคึกคัก เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ในอาเซียน

(3) ธุรกรรมทางการเงินของการค้าชายแดนมีแนวโน้มผ่านระบบธนาคารมากขึ้น หลังจากมูลค่าธุรกรรมผ่านชายแดนสูงขึ้น ประกอบกับรูปแบบการค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น ตลอดจนระบบสถาบันการเงินของประเทศเพื่อนบ้านพัฒนามากขึ้น จึงมีแนวโน้มที่ผู้ส่งออกจะหันมาใช้ระบบชำระเงินผ่านสถาบันการเงิน รวมถึงเครื่องมือทางการเงินต่างๆ มากขึ้น อาทิ L/C D/P D/A ทั้งเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการปองกันความเสี่ยงทางการเงิน ความสะดวกรวดเร็ว และความน่าเชื่อถือ จากปัจจุบันที่การค้าชายแดนส่วนใหญ่ยังนิยมชำระเงินด้วยเงินสดเป็นหลัก

ประเด็นข้างต้น เป็นตัวอย่างที่ผู้เขียนคาดคะเนถึงแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตของการค้าชายแดนไทย ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ภายใต้แรงผลักดันทั้งจากปัจจัยภายในประเทศ อาทิ นโยบายส่งเสริมการค้าชายแดนของภาครัฐ และการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ประกอบกับแรงดึงดูดจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ การจัดตั้ง AEC อย่างสมบูรณ์ และการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจจุดประกายให้ท่านผู้อ่าน โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจบริเวณชายแดนหรือสนใจจะขยายธุรกิจผ่านการค้าชายแดน วางแผนและปรับตัวเพื่อก้าวย่างอย่างมั่นใจบนถนนแห่งโอกาสเส้นนี้

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ