รู้ลึก AEC: Saigon Hi-Tech Park...อีกหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคสำคัญของเวียดนาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 27, 2015 17:31 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 10 ปี (ปี 2554-2563) ของเวียดนาม รัฐบาลเวียดนามได้กำหนดทิศทางและเป้าหมายในการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ซึ่งหนึ่งในเป้าหมายสำคัญ คือ การพัฒนาให้เวียดนามก้าวสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัยภายในปี 2563 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวรัฐบาลเวียดนามจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการลงทุนอย่างครบครัน เพื่อดึงดูดโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงให้เข้ามาในเวียดนามมากขึ้น โดยในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลเวียดนามเร่งพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไฮเทคในประเทศ เพื่อใช้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะทำให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย ซึ่งทำให้บริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุน

ปัจจุบันเวียดนามมีนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค 3 แห่ง คือ นิคมอุตสาหกรรม Hoa Lac Hi-Tech Park ตั้งอยู่ในกรุงฮานอย เมืองหลวงของเวียดนาม ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งแรกของประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 2541 นิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park (SHTP) ในนครโฮจิมินห์ ก่อตั้งขึ้นในปี 2545 และนิคมอุตสาหกรรม Da Nang Hi-Tech Park (DHTP) ในจังหวัด Da Nang ก่อตั้งขึ้นในปี 2553 ทั้งนี้ ในบรรดานิคมอุตสาหกรรมไฮเทคทั้ง 3 แห่ง นิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park เป็นนิคมอุตสาหกรรมที่กำลังเป็นที่จับตามองจากนักลงทุนทั่วโลกในฐานะหนึ่งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีการพัฒนารวดเร็วที่สุดในเวียดนาม และเป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่สามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกให้เข้ามาลงทุนได้เป็นจำนวนมาก

ภาพรวมของนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park

นิคมอุตสาหกรรม SHTP เป็นนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคแห่งที่ 2 ของเวียดนาม ก่อตั้งขึ้นเพื่อดึงดูดโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และตั้งเป้าให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมต้นแบบในการพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยี (Technological Innovation) ทุนทางปัญญา (Intellectual Capital) และเศรษฐกิจนวัตกรรม (Innovation Economy) ของเวียดนาม ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรม SHTP ครอบคลุมพื้นที่ 913 เฮกตาร์ (ราว 5,700 ไร่) แบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 2 เฟส เฟสแรกพัฒนาบนพื้นที่ 300 เฮกตาร์ และเฟสสองพัฒนาบนพื้นที่ส่วนที่เหลืออีก 613 เฮกตาร์ นิคมอุตสาหกรรม SHTP ตั้งอยู่ในเขต 9 ของนครโฮจิมินห์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง เนื่องจากอยู่ห่างจากใจกลางนครโฮจิมินห์ราว 15 กิโลเมตร อยู่ห่างจากสนามบินนานาชาติ Tan Son Nhat 18 กิโลเมตร อยู่ห่างจากท่าเรือ Saigon 12 กิโลเมตร และยังรายล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมและเขตอุตสาหกรรมส่งออกอื่นๆ อีกกว่า 55 แห่ง นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งยังถือว่าอยู่ใจกลางพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญทางภาคใต้ของเวียดนาม ซึ่งประกอบด้วยจังหวัด Dong Nai จังหวัด Binh Duong จังหวัด Binh Phuoc จังหวัด Tay Ninh จังหวัด Long An และจังหวัด Ba Ria-Vung Tau รวมทั้งยังตั้งอยู่ใกล้กับ Vietnam National University (HCMC) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีนักศึกษาในภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากกว่า 15,000 คน จากศักยภาพดังกล่าวรัฐบาลเวียดนามจึงตั้งเป้าที่จะยกระดับนิคมอุตสาหกรรม SHTP ให้เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในอนาคต ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจเวียดนามโดยรวม

สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park

นิคมอุตสาหกรรม SHTP ได้รับการสนับสนุนจากทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ทำให้สามารถให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุน โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุดแก่นักลงทุน ดังนี้

  • การลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 0 ในช่วง 4 ปีแรกนับจากปีที่กิจการมีกำไร หลังจากนั้นเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 5 เป็นระยะเวลา 9 ปี และร้อยละ 10 ในอีก 15 ปีถัดไป
  • การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้าอุปกรณ์และเครื่องจักรที่เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร รวมทั้งการนำเข้าวัสดุก่อสร้างที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศ เพื่อก่อสร้างสินทรัพย์ถาวรในโครงการลงทุน
  • การยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีส่งออกสำหรับสินค้าไฮเทค
  • การเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราเดียวกันทั้งนักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ
  • การลดค่าเช่าที่ดิน สำนักงาน และโรงงาน รวมทั้งค่าสาธารณูปโภค โดยเรียกเก็บในอัตราต่ำกว่านิคมอุตสาหกรรมอื่นๆ
  • การให้บริการแบบ One-stop Service สำหรับการขอใบอนุญาตลงทุน
  • การออกวีซ่าเดินทางเข้าออกเวียดนามได้หลายครั้งให้กับนักลงทุนต่างชาติ
โครงการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park

การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม SHTP มีหลายประเภททั้งการผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง บริการด้านเทคโนโลยีประเภท Call Center ศูนย์บริการข้อมูล และการพัฒนาซอฟต์แวร์ รวมทั้งการวิจัยและพัฒนา (R&D) และการฝึกอบรม อย่างไรก็ตาม การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้ต้องอยู่ในขอบเขตของ 4 อุตสาหกรรมสำคัญ คือ 1) อุตสาหกรรมไมโครอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโทรคมนาคม 2) วิศวกรรมเครื่องมือและเครื่องจักรอัตโนมัติ 3) เทคโนโลยีชีวภาพในภาคเกษตรกรรม เภสัชกรรม และสิ่งแวดล้อม 4) นาโนเทคโนโลยีและวัสดุขั้นสูง ทั้งนี้ ปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรม SHTP มีโครงการลงทุนทั้งสิ้น 68 โครงการ มูลค่าทุนจดทะเบียนรวม 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีโครงการลงทุนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาออกใบอนุญาตลงทุนอีกกว่า 40 โครงการ สำหรับบริษัทชั้นนำของโลกที่เข้ามาลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม SHTP อาทิ Intel Corporation บริษัทผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลกจากสหรัฐฯ Nidec Corporation บริษัทผู้ผลิตมอเตอร์ขนาดเล็กสำหรับคอมพิวเตอร์จากญี่ปุ่น Air Liquide Group บริษัทผู้ผลิตก๊าซสำหรับใช้ในภาคอุตสาหกรรมจากฝรั่งเศส Sonion บริษัทผู้ผลิตเครื่องช่วยฟังขนาดเล็กชั้นนำจากเดนมาร์ก Jabil Circuit Incorporation บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ชั้นนำของโลกจากสหรัฐฯ Microchip Technology บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ไมโครคอนโทรลเลอร์และอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์แบบอนาล็อกชั้นนำจากสหรัฐฯ Datalogic บริษัทผู้ผลิตเครื่องอ่านบาร์โค้ดจากอิตาลี และล่าสุด Samsung Electronics บริษัทอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ ประกาศแผนขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมลงทุนก่อสร้างศูนย์คอมเพล็กซ์ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าแห่งใหม่ ซึ่งมีชื่อว่า Samsung CE Complex ในนิคมอุตสาหกรรม SHTP มูลค่าลงทุน 1.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงครึ่งแรกของปี 2558 และจะเริ่มเดินสายการผลิตในช่วงกลางปี 2559

การหลั่งไหลเข้ามาลงทุนของบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกในนิคมอุตสาหกรรม SHTP สะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวกลายเป็นศูนย์กลางการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงของเวียดนาม ขณะที่รัฐบาลเวียดนามได้เร่งพัฒนาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจในนิคมอุตสาหกรรม SHTP อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลดระยะเวลาในการยื่นจ่ายภาษี และการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของนักลงทุนต่างชาติ รวมทั้งการร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งทั้งหมดนี้จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เวียดนามก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตของอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและการบริการด้านเทคโนโลยีของโลกได้ในอนาคต ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า นิคมอุตสาหกรรมไฮเทคของเวียดนามมีส่วนสำคัญที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามขยายตัวอย่างร้อนแรง จนทำให้เวียดนามกลายเป็นว่าที่เสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของอาเซียน สะท้อนได้จากในปี 2557 เวียดนามก้าวขึ้นเป็นประเทศผู้ส่งออกอันดับ 1 ของอาเซียนไปตลาดสหรัฐฯ ซึ่งสามารถแซงทั้งไทยและมาเลเซียได้เป็นครั้งแรก ขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของเวียดนามก็ก้าวแซงหน้าไทยไปแล้วในปีเดียวกัน ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย และอันดับ 12 ของโลก

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ