โดยทั่วไปการรายงานข่าวเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจมักจะแสดงอยู่ในรูป GDP Growth ซึ่งจะประกาศทุกรายไตรมาสและรายปี ขณะที่ "อัตราขยายตัวตามระดับศักยภาพ" หรือที่อาจทับศัพท์ว่า "Potential GDP Growth" จะไม่ประกาศตามสื่อทั่วไป แต่จะถูกพูดถึงมากในแวดวงนักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง Potential GDP Growth นี้หมายถึง อัตราขยายตัวสูงสุดที่เศรษฐกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มศักยภาพ และไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจตามมา ทั้งนี้ หลายคนอาจเข้าใจว่า Potential GDP Growth จะต้องสูงกว่า GDP Growth เสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว Potential GDP อาจต่ำกว่าหรือสูงกว่า GDP ก็ได้ ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจที่แตกต่างกันและจะมีความสำคัญต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของประเทศทั้งด้านการเงินและการคลังที่แตกต่างกัน ดังนี้
- GDP ขยายตัวมากกว่า Potential GDP คือการที่เศรษฐกิจขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพ จะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างร้อนแรง เงินเฟ้อมีแนวโน้มสูงขึ้น รัฐบาลและธนาคารกลางของประเทศดังกล่าวจะดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินแบบตึงตัว เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และพยายามเบรกเศรษฐกิจไม่ให้เติบโตร้อนแรงเกินไปจนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540
- GDP ขยายตัวต่ำกว่า Potential GDP คือการที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพ จะเกิดในช่วงที่เศรษฐกิจถดถอยหรือชะลอลง รัฐบาลและธนาคารกลางจะมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่องอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันที่หลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยซึ่งเศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัวและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายและออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อยกระดับ GDP ให้กลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับ Potential GDP
- สำหรับประเทศไทย มีหลายหน่วยงานที่ได้ทำการศึกษา Potential GDP Growth ของเศรษฐกิจไทย อาทิ TDRI, World Bank, ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, สศช. เป็นต้น ซึ่งแม้ตัวเลขจะคลาดเคลื่อนกันไปบ้าง แต่โดยทั่วไป มักอยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 5-6% อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2552-2556 เศรษฐกิจไทยขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.6% ต่อปี ซึ่งต่ำกว่าระดับศักยภาพค่อนข้างมาก ทำให้เริ่มมีความเป็นห่วงว่า การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าระดับศักยภาพดังกล่าวเป็นเวลานาน อาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว ทั้งนี้ มีการประเมินว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP Growth ของประเทศไทยอยู่ระดับต่ำกว่า Potential GDP Growth เกิดจากปัญหา เชิงโครงสร้างที่สำคัญดังนี้
1. ปัญหาด้านแรงงาน ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างรุนแรง ทำให้ต้องมีการนำเข้าแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก ซึ่งแรงงานต่างด้าวดังกล่าวยังมีศักยภาพไม่ดีนัก ทำให้อัตราขยายตัวของผลิตภาพแรงงานลดลง นอกจากนี้ การที่แรงงานจบใหม่มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของตลาดอย่างแท้จริง ปัญหาดังกล่าวทำให้เศรษฐกิจไทยขาดกำลังคนที่มีประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนภาคการผลิตและเศรษฐกิจโดยรวม
2. ปัญหาการชะงักงันของการลงทุน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการลงทุนของไทยชะลอลงมาก ทั้งการลงทุนภาคเอกชนที่ต้องเผชิญกับปัญหาภัยธรรมชาติ ปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซาและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของภาคเอกชนเป็นระยะ ประกอบกับในส่วนของการลงทุนภาครัฐก็ขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มานาน ทำให้ประเทศไทยขาดระบบสาธารณูปโภคที่มีคุณภาพอย่างเพียงพอเพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่จากต่างชาติ
3. ขาดการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยขาดการทำวิจัยและพัฒนา (R&D) อย่างจริงจังและเป็นระบบ สะท้อนได้จากสัดส่วนการลงทุน R&D ต่อ GDP ของประเทศที่อยู่ในระดับต่ำราว 0.25% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 4.0% และ 3.4% ตามลำดับ ปัจจัยดังกล่าวทำให้ไทยขาดการพัฒนาด้านนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าหรือสร้างแบรนด์สินค้าของตัวเอง ขณะเดียวกัน สินค้าไทยเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านราคาให้กับคู่แข่งอื่นๆ อาทิ เวียดนาม อินโดนีเซีย เป็นต้น
ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ข้างต้นถือเป็นข้อจำกัดสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยกำลังเผชิญ ซึ่งผู้ประกอบการเองควรต้องเร่งปรับตัวในเรื่องของการพัฒนาเพื่อเพิ่มศักยภาพของแรงงาน ทุน และเทคโนโลยีทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตนก่อนที่จะสายเกินไป
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2558--