ในช่วงต้นของการพัฒนาอุตสาหกรรมในไต้หวัน กระบวนการพัฒนามีลักษณะคล้ายคลึงกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศอื่นๆ รวมถึงประเทศไทย คือ พัฒนาจากภาคเกษตรกรรมไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น ในปี 2513 ไต้หวันยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นเป็นหลัก โดยมีสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 อย่างไรก็ตาม ด้วยค่าแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และวิกฤตราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในปี 2516-2523 ทำให้ไต้หวันเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จนนำไปสู่จุดเปลี่ยนสำคัญในปี 2523 ที่รัฐบาลไต้หวันเริ่มผลักดันอย่างจริงจังในการเปลี่ยนภาคการผลิตของประเทศจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค โดยการออกมาตรการสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตหลายมาตรการ อาทิมาตรการด้านภาษี โดยผู้ประกอบการสามารถนำรายจ่ายในการทำ R&D การจัดซื้อเครื่องจักร และการอบรมบุคลากรไปลดหย่อนภาษีเงินได้ มาตรการส่งเสริมธุรกิจร่วมลงทุน (Venture Capital) โดยสนับสนุนให้ธุรกิจของชาวไต้หวันร่วมลงทุนกับธุรกิจต่างชาติที่มีเทคโนโลยีสูงเพื่อเรียนรู้และต่อยอดเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะได้รับลดหย่อนภาษีถึง 20% ของมูลค่าเงินร่วมทุน ขณะเดียวกัน รัฐบาลไต้หวันเองก็ได้ร่วมทุนกับบริษัท phillips Electronics และนักลงทุนเอกชนในการจัดตั้ง Taiwan Semiconduc tor Manufacturing Company (TSMC) ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการผลิตแผงวงจรไฟฟ้าของโลกและยังมีการจัดตั้งสถาบันเพื่อเป็นศูนย์กลางในการทำ R&D เช่น Hsinchu Science park และ Industrial and Technology Research Institute (ITRI) เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตสินค้าไฮเทค และถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ผลิตในภาคเอกชน เป็นต้น
หลังจากรัฐบาลไต้หวันออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมไฮเทคอย่างจริงจังดังกล่าว สัดส่วนการส่งออกสินค้าไฮเทคของไต้หวันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 25% ของมูลค่าส่งออกรวมในปี 2523 เป็นราว 60% ในปัจจุบัน โดยเฉพาะ Semiconductor ที่ไต้หวันก้าวขึ้นเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกมาตั้งแต่ปี 2547 พร้อมไปกับการสร้างแบรนด์สินค้าไฮเทคระดับโลกสัญชาติไต้หวันมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Asus, Acer, Apacer และ HTC ทำให้ประเทศไต้หวันถือเป็นต้นแบบที่น่าสนใจสำหรับหลายประเทศในโลก รวมถึงประเทศไทยที่กำลังให้ความสำคัญกับการยกระดับภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทค โดยเฉพาะในด้านการใช้นโยบายภาครัฐเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลักดันเพื่อให้เกิดการปรับโครงสร้างภาคการผลิต รวมถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในการร่วมกันพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศอย่างจริงจัง
Disclaimer :คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--