รู้เขา รู้เรา ... คู่แข่งสำคัญของภาคส่งออกไทย

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 4, 2015 13:50 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการส่งออกของไทยยังมีทิศทางไม่สดใสนักล่าสุดมูลค่าส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2558 หดตัว 4.2% ขณะที่หน่วยงานเศรษฐกิจเกือบทุกแห่งคาดการณ์แนวโน้มมูลค่าส่งออกทั้งปี 2558 ว่าจะหดตัวต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญแต่ผู้เขียนมองว่ายังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งการเติบโตของภาคส่งออกไทย คือ ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดโลกเห็นได้จากปัจจุบันหลายประเทศก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในหลายกลุ่มสินค้า คอลัมน์ "เลียบรั้ว เลาะโลก" ฉบับนี้จึงขอนำเสนอข้อมูลความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยในตลาดโลกเพื่อให้มองเห็นแนวโน้มและความรุนแรงของการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในระยะถัดไป

ประเทศแรกที่ขอกล่าวถึง คือ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างส่งออกไปจากเดิมมากและปัจจุบันก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในแทบทุกกลุ่มสินค้าโดยเฉพาะเครื่องนุ่งห่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกของเวียดนามในช่วง 6 เดือนแรกของ ปี 2558 ขยายตัวถึง 9% ซึ่งเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในโลกที่มูลค่าส่งออกในปี 2558 ยังยืนอยู่ในแดนบวกได้ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากการดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติย้ายฐานการผลิตเข้าไปในเวียดนามเห็นได้จากมูลค่าส่งออกของผู้ประกอบการต่างชาติขยายตัวถึง 20% และคิดเป็นสัดส่วนเกือบ 70% ของมูลค่าส่งออกรวม

มาเลเซีย เดิมเป็นฐานการผลิตสำคัญของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ล่าสุดรัฐบาลเริ่มขยายขอบเขตไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โดยผ่อนคลายระเบียบให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนผลิตรถยนต์ขนาดไม่เกิน 1800 cc โดยมิต้องร่วมทุนกับผู้ประกอบการท้องถิ่น เพื่อตั้งเป้าเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ Eco-car ขณะที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ก็หันไปเน้นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีสูงและวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ยาวรวมถึงเป็นกลุ่มต้นน้ำของห่วงโซ่อุปทานอาทิ เซมิคอนดักเตอร์ และหลอดภาพ LED นอกจากนี้ ก็หันมาสนับสนุนการส่งออกปิโตรเลียมและปิโตรเคมีมากขึ้น โดยปัจจุบันมีสัดส่วนถึงเกือบ 30% ของมูลค่าส่งออกรวม

อินโดนีเซียในเดือนเมษายน 2558 รัฐบาลประกาศมาตรการจูงใจทางภาษีแก่ผู้ประกอบการที่มีสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกมากกว่า 30% ของยอดผลิตรวมเพื่อกระตุ้นการเติบโตของภาคส่งออก (ปัจจุบันการส่งออกมีสัดส่วนเพียง 20% ของ GDp) รวมถึงจูงใจให้ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมหันมาผลิตเพื่อส่งออกมากขึ้น จากปัจจุบันที่สินค้าส่งออกหลัก มักเป็นกลุ่มวัตถุดิบและสินค้าเกษตรขั้นต้น อาทิ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ถ่านหิน และปิโตรเลียม

ฟิลิปปินส์ในอดีตมีบทบาทในตลาดการค้าโลกไม่มากนักแต่หลังจากมีบริษัทข้ามชาติเข้าไปลงทุนในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ทำให้ล่าสุดในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2558 มูลค่าส่งออกผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ขยายตัว 6% คิดเป็นสัดส่วนถึง 45% ของมูลค่าส่งออกรวม

อินเดีย หลังการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ Narendra Modi รัฐบาลก็ประกาศนโยบาย Make in India เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและตั้งเป้าสร้างอินเดียให้เป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของโลกจากเดิมที่เน้นอุตสาหกรรมบริการ ซึ่งเริ่มเห็นภาพชัดเจนขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีโรงงานรถยนต์ต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น อาทิ Nissan Hyundai BMW รวมถึงอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ DELL Samsung Foxconn นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายการค้าฉบับปี 2558-2563 รัฐบาลตั้งเป้าภายในปี 2563 จะเพิ่มมูลค่าส่งออกเป็น 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จาก 4.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน

จะสังเกตได้ว่าประเทศคู่แข่งสำคัญของไทยล้วนดำเนินนโยบายส่งออกเชิงรุกรวมถึงกำหนดยุทธศาสตร์ในเชิงสินค้าเป้าหมายค่อนข้างชัดเจนเพื่อระบุตำแหน่งของตนในตลาดโลก เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย ผู้เขียนก็มีความยินดีที่เห็นสัญญาณการปรับยุทธศาสตร์การส่งออกของประเทศ โดยมุ่งเน้นยกระดับภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือเน้นการใช้นวัตกรรมซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน

Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


แท็ก การส่งออก  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ