อุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้านับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงซึ่งสามารถเติบโตควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศของเมียนมาที่ต้องการยกระดับมาตรฐานสาธารณูปโภคพื้นฐานและคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันเมียนมายังขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอยู่มากและยังต้องเผชิญกับปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง โดยพื้นที่ 2 ใน 3 ของประเทศยังไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ ขณะที่ความต้องการใช้กระแสไฟฟ้าในเมียนมาเพิ่มขึ้นมากตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ และการเพิ่มขึ้นของประชากร ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานไฟฟ้าของเมียนมา (Ministry of Electric power : MOEp) ประมาณการความต้องการใช้กระแสไฟฟ้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 1,874 เมกะวัตต์ ในปี 2555 เป็น 4,531 เมกะวัตต์ ในปี 2563 และ 14,542 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ขณะที่ปัจจุบันกำลังการผลิตของโรงไฟฟ้าในเมียนมาทั้งหมดอยู่ที่ 4,581 เมกะวัตต์ ส่งผลให้รัฐบาลเมียนมาต้องเร่งปฏิรูปและพัฒนาระบบไฟฟ้าในประเทศให้มีศักยภาพมากขึ้น โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าเป็น 27,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 จึงนับเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยในการเข้าไปลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าในพื้นที่ที่มีศักยภาพในเมียนมา อาทิ โรงไฟฟ้าพลังน้ำในเขตมัณฑะเลย์ รัฐกะฉิ่น รัฐกะเหรี่ยง และโรงไฟฟ้าถ่านหินในเขตย่างกุ้ง เขตตะนาวศรี รัฐฉาน เป็นต้น
ปัจจุบันอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้าของเมียนมาอยู่ภายใต้กฎหมายไฟฟ้าฉบับใหม่ปี 2557 ซึ่งรัฐสภาเมียนมาได้ประกาศใช้เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2557 แทนกฎหมายไฟฟ้าฉบับเดิมปี 2533 ซึ่งหนึ่งในสาระสำคัญของกฎหมายฉบับใหม่นี้ คือ การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (Electricity Regulatory Commission : ERC) เพื่อกำกับดูแลบริษัทและหน่วยงานที่ผูกขาดกิจการไฟฟ้าในประเทศ รวมทั้งให้อำนาจแก่ MOEp รัฐบาลท้องถิ่น เขตการปกครองตนเอง (Self-Administrated Zone : SAZ) และหน่วยการปกครองตนเอง (Self-Administrated Divisions : SAD) ในการออกใบอนุญาตหรืออนุมัติการลงทุนให้แก่นิติบุคคลที่จะเข้ามาดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้า ทั้งด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าและระบบสายส่งกระแสไฟฟ้า รวมถึงการจำหน่ายกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันกฎหมายไฟฟ้าฉบับใหม่ยังมีความยืดหยุ่นและให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยมีรายละเอียดที่สำคัญ ดังนี้
หน่วยงาน ความรับผิดชอบ MOEP - การออกใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้า (Electricity Business permit) ให้แก่นักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติสำหรับ
โครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงกว่า 30 เมกะวัตต์ ทั้งที่อยู่ภายในโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Grid)
และนอกโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมาก่อน
- การอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็กที่อยู่ภายในโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ
- การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกและขายส่งภายในโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ โดยต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา
- การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น สำหรับอัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกและขายส่งนอกโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ
- การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าร่วมกับ SAZ และ SAD สำหรับอัตราค่าไฟฟ้านอกโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ภายใต้พื้นที่การปกครอง
รัฐบาลท้องถิ่น - การอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าขนาดกลางและขนาดเล็กนอกโครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ ERC - การออกระเบียบและกำหนดนโยบายการประกอบกิจการพลังงานไฟฟ้าอย่างมีขอบเขต
- การกำกับดูแลผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
- การบังคับใช้หลักเกณฑ์มาตรฐานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน
- การทบทวนและตรวจสอบฐานะทางการเงินของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตฯ
- การแก้ไขปัญหากรณีเกิดข้อโต้แย้งในข้อตกลงหรือสัญญาการลงทุนในกิจการพลังงาน
- การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการพลังงาน
- การประเมินข้อร้องเรียนจากประชาชน
- กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าสูงกว่า 30 เมกะวัตต์
- โครงข่ายไฟฟ้าแห่งชาติ (National Grid)คือ ระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าหลักของเมียนมา
สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุน
กฎหมายฉบับเดิม กฎหมายฉบับใหม่ - สงวนสิทธิ์การลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก - อนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติสามารถลงทุนในโครงการ ให้แก่ชาวเมียนมาเท่านั้น โรงไฟฟ้าได้โดยไม่จำกัดขนาด (แต่ในทางปฏิบัติโครงการโรงไฟฟ้าขนาดเล็กส่วนใหญ่เป็น การลงทุนในรูปแบบการร่วมลงทุน (Joint Venture) ระหว่าง นักลงทุนท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติ โดยต้องขอ อนุมัติจากรัฐบาลเมียนมา) - นักลงทุนต่างชาติต้องร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า - นักลงทุนต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ทั้งหมด (ร้อยละ 100) พลังน้ำและโรงไฟฟ้าถ่านหินกับรัฐบาลเมียนมาเท่านั้น ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โดยต้องได้รับความเห็นชอบจาก MOEP ก่อน
ทั้งนี้ ในกรณีที่นักลงทุนต่างชาติต้องการเข้ามาลงทุนในรูปแบบของการร่วมลงทุน รัฐบาลเมียนมาได้กำหนดเงื่อนไขการดำเนินกิจการร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้า ดังนี้
- การจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐบาลเมียนมาในรูปของการให้กระแสไฟฟ้าฟรีร้อยละ 10-15 ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด
- การจ่ายค่าสัมปทานให้แก่รัฐบาลเมียนมาในรูปของการให้หุ้น (Free Share) ในบริษัทร่วมทุนร้อยละ 10-15 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด
- รัฐบาลเมียนมาสามารถรับซื้อกระแสไฟฟ้าสูงสุดถึงร้อยละ 50 ของกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยจะรับซื้อในอัตราที่นักลงทุนต่างชาติจำหน่ายออกไปนอกประเทศ
- รัฐบาลเมียนมาจะมีการเจรจาเพื่อกำหนดราคารับซื้อกระแสไฟฟ้าทุกปีตลอดอายุสัมปทาน (อายุสัมปทานเบื้องต้น 25-30 ปี แต่สามารถต่ออายุได้หลายครั้ง ครั้งละ 5 ปี)
- ภายหลังหมดอายุสัมปทาน ต้องโอนทรัพย์สินที่อยู่ในสภาพดีของโครงการทั้งหมดให้รัฐบาลเมียนมา
- Hydropower Generation Enterprise ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของ MOEp จะเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานของบริษัทร่วมทุน โดยส่งบุคลากรด้านการเดินเครื่องและ การบำรุงรักษามาร่วมงานด้วย
เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎหมายไฟฟ้าฉบับใหม่ของเมียนมาเอื้อประโยชน์และเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในเมียนมามากขึ้น จึงนับเป็นโอกาสของนักลงทุนไทยที่มีความพร้อมและมีศักยภาพที่จะเร่งขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในเมียนมา เนื่องจากเมียนมายังขาดแคลนกระแสไฟฟ้าอยู่มาก ขณะที่มีแหล่งทรัพยากรที่เอื้อต่อการผลิตกระแสไฟฟ้า นอกจากนี้ เมียนมายังมีศักยภาพเพียงพอที่จะพัฒนาการเชื่อมโยงไฟฟ้าในภูมิภาคซึ่งจะทำให้ประเทศเพื่อนบ้านสามารถใช้กระแสไฟฟ้าได้ในราคาถูกลง อีกทั้งยังมีความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์ด้านทำเลที่ตั้งของประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างจีนและอินเดีย อย่างไรก็ตาม การลงทุนในเมียนมายังมีข้อจำกัดจากปัญหาด้านแรงงานที่ขาดทักษะและ ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนปัญหาความขัดแย้งของชนกลุ่มน้อยต่างๆ ซึ่งเป็น ความท้าทายที่รัฐบาลเมียนมาจะต้องดำเนินการแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนต่อไป
Disclaimer : ข้อมูลต่าง ๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนมิถุนายน 2558--