CEO Talk: เบนสัน จิวเวลรี่ ผู้ผลิตและส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับป้อนตลาดโลกด้วยใจรัก

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 31, 2015 11:14 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

EXIM E-NEWS ฉบับประจำเดือนสิงหาคมนี้ ได้รับเกียรติพูดคุยกับคุณบุญกิต จิตรงามปลั่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบนสัน จิวเวลรี่ จำกัด ถึงเรื่องราวธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับที่ทำด้วยใจรักและพัฒนาด้วยความตั้งใจมานานกว่าครึ่งศตวรรษ จนวันนี้ประสบความสำเร็จในตลาดผู้นำเข้าและตลาดค้าปลีกชั้นนำขนาดใหญ่ในต่างประเทศ

จุดเริ่มต้นของธุรกิจ

ผมเข้ามาบริหารธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของครอบครัวตามความฝันของผู้ที่เติบโตมากับโรงงานเครื่องประดับและช่างฝีมือ จากรุ่นสู่รุ่น ผมได้เห็นว่าธุรกิจของเราเป็นธุรกิจที่ดี เราค้าขายกับคนที่มีความสุข แต่เดิมเราเป็นผู้ผลิตให้กับผู้ส่งออกภายในประเทศจนกระทั่งผมเข้ามาบริหารธุรกิจ จึงเริ่มต้นการส่งออกเอง ซึ่งก็ยิ่งสนุกใหญ่ เพราะได้ออกไปผจญภัย ค้าขายกับคนทั่วโลก

ผมเริ่มเข้ามาทำธุรกิจด้วยการเป็นผู้ส่งออกตามความใฝ่ฝันที่ได้ตั้งใจไว้ และเป็นการต่อยอดธุรกิจของครอบครัว การเดินทางไปงานแสดงสินค้าในต่างประเทศครั้งแรกประมาณปี ค.ศ. 1983 เป็นการร่วมเดินทางไปพร้อมกับคณะของกรมพาณิชย์สัมพันธ์ซึ่งปัจจุบันคือกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี ที่เลือก เริ่มต้นที่เยอรมนี เนื่องจากผมเป็นนักเรียนสหรัฐฯ จึงอยากได้ประสบการณ์ในตลาดยุโรป ประกอบกับในขณะนั้นประเทศเยอรมนีเป็นตลาดนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญและบูมมาก คู่แข่งขันมีไม่มากนัก และผมมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าคนอื่นเนื่องจากเป็นโรงงานผู้ผลิตเอง ทำให้การออกงานแสดงสินค้าครั้งแรกที่แฟรงก์เฟิร์ตประสบความสำเร็จอย่างสูง จำได้ว่าผมนั่งเขียนคำสั่งซื้อทั้งวัน สนุกกับการทำความรู้จักกับลูกค้า และดูงานในตลาดเยอรมนีแต่ขั้นตอนในการส่งออกสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก ผมต้องเรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการและกฎระเบียบการส่งออก โดยเฉพาะเอกสารการส่งออกนั้นมีความสลับซับซ้อนอย่างมาก น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมีจำนวนไม่มากนัก

บริษัท เบนสัน จิวเวลรี่ ได้ขยายตลาดการส่งออกมากขึ้นเรื่อยๆ จากยุโรปไปสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในช่วงทศวรรษ 19 ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับในสหรัฐอเมริกาถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีการเจริญเติบโตอย่างมาก สินค้าผลิตได้เท่าไรก็ขายได้ทั้งหมด

เรายึดมั่นในการพัฒนาธุรกิจให้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่เราผลิตสินค้าตามคำสั่งหรือแบบที่ลูกค้ากำหนด ต่อมาได้มีการพัฒนาแบบสินค้าเป็นของตนเอง จากประสบการณ์ การดูงานและออกงานแสดงสินค้าในยุโรปและสหรัฐฯ ประกอบกับการศึกษารสนิยมและความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่ม ข้อดีของธุรกิจนี้คือมีของเสีย (Waste) น้อย ทุกอย่างสามารถนำกลับมาหลอมใช้ใหม่ได้ เสียเฉพาะต้นทุนแรงงานเท่านั้น จากที่เคยผลิตให้กับผู้นำเข้าในต่างประเทศเป็นหลัก เราก็เริ่มขยายมาสู่ตลาดค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

อุปสรรคและกุญแจสู่ความสำเร็จ

ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับวันนี้เริ่มมีคู่แข่งมากขึ้น เพราะการเริ่มต้นธุรกิจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะแข่งขันได้เป็นเรื่องยากมาก เราต้องกำหนดกลยุทธ์ของธุรกิจให้ดี ต้องรู้ว่าขายสินค้าอะไร และจะขายให้ใคร โดยเฉพาะในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันซึ่งเป็นช่วงลำบากของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ อุปสรรคสำคัญในการทำธุรกิจคือ กฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องของภาครัฐที่ยังล้าหลังอยู่มาก ทำให้ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับของไทยแข่งขันได้ยาก นอกจากนี้ภาครัฐยังมองว่า ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับเป็นธุรกิจของคนมีฐานะ จึงไม่ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือผู้ประกอบการในธุรกิจนี้เท่าที่ควรและอย่างเป็นระบบทั้งๆ ที่ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจของผู้ประกอบการคนไทยเป็นส่วนใหญ่ สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศเป็นจำนวนมหาศาล ก่อให้เกิดการจ้างงาน และเสริมสร้างภูมิปัญญาของช่างฝีมือคนไทย อีกทั้งเป็นสินค้าไทยที่ติดอันดับต้นๆ ของโลก และติดอันดับการส่งออกต้นๆ ของประเทศมาเป็นเวลาช้านาน

กุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จคือ การรักในสิ่งที่ทำ ทำในสิ่งที่รู้จริง และทำด้วยแรงบันดาลใจธุรกิจจึงจะเกิดและเติบโตต่อไปได้ นอกนั้นเป็นทักษะของผู้ประกอบการในการบริหารจัดการ รวมทั้งการปรับกลยุทธ์ทางการตลาด ใกล้ชิดตลาด ใกล้ชิดลูกค้ามากขึ้น ปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อม ลดต้นทุน และพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมกับความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ เบนสัน จิวเวลรี่ ยังใช้บริการประกันการส่งออกของ EXIM BANK ความคุ้มครองที่ได้รับทำให้เราขยายตลาดส่งออกได้อย่างมั่นใจ สบายใจ ขายได้มากขึ้น การมีสถาบันการเงินเข้ามาดูแลทำให้ธุรกิจของเราดำเนินไปอย่างคล่องตัวขึ้น

ฝากถึงผู้ประกอบการที่สนใจจะเริ่มต้นธุรกิจส่งออก

ก่อนเริ่มต้นธุรกิจ ผู้ประกอบการต้องศึกษาโครงสร้างและสิ่งแวดล้อมของธุรกิจนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร มองไปในอีก 5 ปีข้างหน้าเห็นภาพการเติบโตของธุรกิจอยู่ตรงไหน แม้ว่าปัจจัยแวดล้อมจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เราต้องมองเห็นภาพที่อยากจะเห็นก่อน และสิ่งสำคัญคือ รักในสิ่งที่ทำ ไม่ใช่มองเห็นแต่ปัญหา เพราะปัญหาเกิดขึ้นทุกวัน แต่เราต้องมองเห็นโอกาสของธุรกิจก่อน เพื่อที่วันหนึ่งข้างหน้าธุรกิจที่กำลังจะเริ่มต้นในวันนี้จะได้ก้าวขึ้นเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ