Share โลกเศรษฐกิจ: สิ่งทอเทคนิค…ทางออกที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมสิ่งทอเยอรมนี

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday August 31, 2015 11:18 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ตลอดช่วงระยะเวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของเยอรมนีได้ก้าวผ่านความตกต่ำจากปัญหาการแข่งขันและค่าจ้างแรงงานที่ปรับสูงขึ้น โดยหันมาปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมด้วยการตัดสินใจย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ใช้แรงงานเป็นหลัก ไปยังประเทศที่มีต้นทุนค่าจ้างแรงงานราคาถูกในแถบเอเชีย ขณะที่การผลิตในประเทศเน้นสินค้าที่มีคุณภาพ และคงรักษาส่วนของการวิจัยและพัฒนารวมถึงการออกแบบไว้ในประเทศ ขณะเดียวกันได้หันมาจริงจังกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีนวัตกรรมและมีมูลค่าเพิ่มสูงอย่าง “สิ่งทอเทคนิค” หรือผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีคุณสมบัติเฉพาะและใช้ประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากเยอรมนีตระหนักดีว่า นวัตกรรมจะมีส่วนผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทออย่างยั่งยืน และยังช่วยลดแรงกดดันจากการแข่งขันด้านราคา เป็นที่น่าสังเกตว่า พัฒนาการอย่างต่อเนื่องดังกล่าวส่งผลให้ปริมาณการผลิตสิ่งทอเทคนิคของเยอรมนีเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและคาดว่าในปี 2558 จะมีสัดส่วนสูงราวร้อยละ 60 ของปริมาณการผลิตสิ่งทอรวมของประเทศ โดยส่วนใหญ่เน้นผลิตสิ่งทอที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น สิ่งทอที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ทั้งนี้ ในปี 2557 เยอรมนีครองส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอเทคนิคเป็นอันดับ 2 ของโลก ด้วยสัดส่วนราวร้อยละ 9 รองจากจีน (ร้อยละ 30) และตามด้วยสหรัฐฯ (ร้อยละ 7.8)

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคในเยอรมนีประสบความสำเร็จมีดังนี้
  • การผลิตสิ่งทอเทคนิคในเยอรมนีมีการวิจัยและพัฒนาเชื่อมโยงกับการผลิตในเชิงพาณิชย์ ปัจจุบันเยอรมนีมีสถาบันวิจัยด้านสิ่งทอ 16 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นหน่วยงานที่อยู่ภายใต้มหาวิทยาลัยหรือทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ สถาบันวิจัยสิ่งทอเหล่านี้ยังร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อลดปัญหาการออกแบบสินค้าที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ หรืองานวิจัยไม่เหมาะกับการใช้งานจริง ทั้งนี้ สถาบันวิจัยด้านสิ่งทอที่มีชื่อเสียงของเยอรมนีที่น่าสนใจ อาทิ Bekleidungsphysiologische Institut Hohenstein e.V. เน้นวิจัยสิ่งทอเทคนิคด้านเสื้อผ้า และได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันที่สามารถนำผลงานวิจัยมาสู่การผลิตเชิงพาณิชย์ได้จริง นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการเริ่มต้นธุรกิจและหาตลาด Deutschen Institute f?r Textil-und Faserforschung Denkendorf เน้นวิจัยอุตสาหกรรมสิ่งทอตลอดทั้ง Supply Chain และ Hohenstein Institut f?r Textilinnovation gGmbH เน้นวิจัยด้านการนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็กมาประยุกต์ใช้กับเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพื่อประโยชน์ของสุขภาพและเพิ่มความสะดวกสบายให้ผู้สวมใส่ นอกจากนี้ สถาบันวิจัยราว 10 แห่งในเยอรมนีอยู่ระหว่างวิจัยสิ่งทอเทคนิคด้านวิศวกรรมทางการแพทย์ เช่น การผลิตเนื้อเยื่อ หลอดเลือด กระดูกเทียม การผลิตถุงมือสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง โดยล่าสุดสิ่งทอจากเยอรมนีชนะการประกวดนวัตกรรมด้านสิ่งทอ (Techtextil Innovation Award 2015) ถึง 4 ราย จากการประกวดทั้งหมด 8 สาขา ซึ่งสะท้อนถึงการเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคของเยอรมนี
  • เยอรมนีเป็นผู้นำเทคโนโลยีด้านสิ่งทอเทคนิคที่พร้อมรองรับการผลิต จากการมีพื้นฐานการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอที่เข้มแข็ง เยอรมนีจึงมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีในการตอบสนองความต้องการสิ่งทอที่หลากหลาย ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีลักษณะเฉพาะหรือคุณสมบัติพิเศษที่เติบโตต่อเนื่องตามกำลังซื้อและจำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้เยอรมนีมีการพัฒนาต่อยอดเครื่องจักรให้มีคุณสมบัติสูงขึ้นเพื่อรองรับกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน นับตั้งแต่เส้นใยชนิดพิเศษ รวมถึงสิ่งทอเทคนิคขั้นปลายน้ำประเภทต่างๆ ปัจจุบันเยอรมนีเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องจักรสำหรับผลิตสิ่งทอรายสำคัญของโลก โดยราวร้อยละ 70 ของผู้ผลิตเครื่องจักรสิ่งทอทั้งหมดในเยอรมนีเป็นผู้ผลิตเครื่องจักรสิ่งทอเทคนิค ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องจักรสิ่งทอและส่วนประกอบทั้งหมดของเยอรมนีมีมูลค่าสูงราว 3,000 ล้านยูโร ในปี 2557 มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ จีน ตุรกี เนเธอร์แลนด์ และอินเดีย
  • สิ่งทอเทคนิคในเยอรมนีมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศ เยอรมนีมีความได้เปรียบจากการมีตลาดผู้ใช้สิ่งทอเทคนิคในประเทศซึ่งเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงในการเติบโต โดยเฉพาะยานยนต์ เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และพลังงานทดแทน ขณะเดียวกันแรงหนุนจากความต้องการสิ่งทอเทคนิคในตลาดโลกก็มีอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ จีน ซึ่งเป็นตลาดรถยนต์รายใหญ่ของโลก รวมถึงประเทศเอเชีย อื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และไทย ซึ่งเป็นฐานการผลิตยานยนต์สำคัญเช่นกัน ตลอดจนกระแส Megatrend ของโลก เช่น การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประชากรโลก โดยเฉพาะในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ และการขยายตัวของประชากรในตลาดเกิดใหม่อย่างอาเซียน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนเอื้อต่อการขยายตลาดสิ่งทอเทคนิคประเภทต่างๆ เช่น สิ่งทอเทคนิคที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ (ผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ สายพานลำเลียง เข็มขัดนิรภัย) ผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสาธารณสุข (ผ้าอ้อมสำหรับเด็กและผู้ใหญ่) เป็นต้น

เบื้องหลังความสำเร็จที่ทำให้อุตสาหกรรมสิ่งทอเทคนิคของเยอรมนีมีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก นอกจากเป็นเพราะพื้นฐานด้านการวิจัยและพัฒนาที่เข้มแข็งแล้ว การมุ่งรักษาและจูงใจบุคลากรทั้งนักวิจัยและแรงงานทักษะก็นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่อุตสาหกรรมสิ่งทอของไทยควรศึกษาเป็นแบบอย่างในการที่จะก้าวสู่การผลิตสิ่งทอที่หลากหลายยิ่งขึ้น เพิ่มโอกาสในการแสวงหาตลาดใหม่ และลดการพึ่งพิงการผลิตสิ่งทอแบบดั้งเดิมที่ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันมากขึ้นทุกขณะ ปัจจุบันการผลิตสิ่งทอเทคนิคของไทยยังมีปริมาณไม่มากนัก และมีส่วนแบ่งตลาดสิ่งทอเทคนิคโลกเพียงร้อยละ 1.2 ขณะที่การวิจัยและพัฒนายังห่างชั้นจากประเทศผู้ผลิตชั้นนำของโลก อย่างไรก็ตาม การที่ภาครัฐให้ความสำคัญและสนับสนุนทั้งด้านองค์ความรู้ ตลอดจนพัฒนางานวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาคุณสมบัติของเส้นใยให้มีประสิทธิภาพสูง และการพัฒนาคุณสมบัติด้านเทคนิคของผ้า เช่น กันเชื้อแบคทีเรีย กันน้ำ ทนไฟ แนวทางดังกล่าวถือเป็นก้าวสำคัญที่จะต่อยอดไปสู่การผลิตและส่งออกสิ่งทอเทคนิคที่มีมูลค่าเพิ่มสูงในระยะข้างหน้า

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏเป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เดือนสิงหาคม 2558--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ