เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z มีความต้องการสินค้าและบริการ รวมถึงมีรสนิยมในการซื้อสินค้าที่แตกต่างจากผู้บริโภคกลุ่มเดิมค่อนข้างมาก ทำให้คาดว่าในอนาคตอันใกล้หาก Gen Z ก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ในตลาดโลกจะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการมีแนวโน้มเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการ SMEs ควรให้ความสำคัญ เพื่อประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนการผลิตสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการ ทั้งนี้ ลักษณะเด่นของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z มีดังนี้
ชอบหาข้อมูลและเปรียบเทียบสินค้าในอินเทอร์เน็ต และนิยมซื้อสินค้าผ่าน E-commerce ด้วยลักษณะของ Gen Z ที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะอุปกรณ์สื่อสารแบบพกพา ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z นิยมค้นหาข้อมูลสินค้าและบริการที่ต้องการด้วยตนเองผ่านระบบอินเทอร์เน็ต รวมทั้งนิยมซื้อสินค้าผ่าน E-commerce มากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้ บริษัท BI Intelligence ผู้วิจัยด้านเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ได้สำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าออนไลน์ของผู้บริโภคในสหรัฐฯ พบว่า Gen Z เป็นกลุ่มที่นิยมซื้อสินค้าออนไลน์มากที่สุด โดยจะใช้จ่ายเงินในการซื้อสินค้าออนไลน์ราว 10% ของรายได้ หรือคิดเป็นมูลค่าราว 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ทำให้คาดว่าการเติบโตของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z จะผลักดันให้การซื้อสินค้าผ่านช่องทาง E-commerce มีบทบาทต่อการค้าในโลกยุคใหม่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ผู้ประกอบการ SMEs จึงควรมีการประชาสัมพันธ์สินค้าผ่านทางเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีข้อมูลของสินค้าอย่างละเอียด อาทิ ภาพแสดงตัวอย่างสินค้า สี ขนาด ราคา รวมถึงการพัฒนาช่องทางในการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ และขั้นตอนการชำระเงินที่สะดวกและรวดเร็ว ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภคยุคใหม่
นิยมใช้สินค้าที่สามารถใช้งานได้หลากหลาย (Multifunctional Products) ท่ามกลางวิถีชีวิตในปัจจุบันที่เร่งรีบและต้องแข่งขันกับเวลา ทำให้กลุ่ม Gen Z มีความสามารถโดดเด่นกว่าคนรุ่นก่อนในเรื่องของความสามารถในการทำงานหลายอย่างพร้อมกัน (Multitasking) จากผลสำรวจของ บริษัท Sparks & Honey ตัวแทนโฆษณาของสหรัฐฯ พบว่า ประชากรกลุ่ม Gen Z สามารถทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้มากถึง 5 หน้าจอในเวลาเดียวกัน ซึ่งด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวทำให้สินค้าแบบ Multifunction มีแนวโน้มขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ อาทิ เครื่องสำอางอเนกประสงค์ (Multifunctional Cosmetics) ที่กำลังได้รับความนิยมในหลายประเทศ โดย Kantar Worldpanel ผู้วิจัยตลาดเครื่องสำอาง ระบุว่า ในไตรมาส 1 ปี 2558 ยอดจำหน่าย BB ครีมซึ่งเป็นเครื่องสำอางอเนกประสงค์ที่มีส่วนผสมของครีมปรับสภาพผิวหน้า รองพื้น ปกป้องแสงแดด และบำรุงผิวหน้า ในประเทศจีนขยายตัวถึง 61% อีกทั้ง บริษัท Mintel ผู้วิจัยตลาด พบว่า ผู้บริโภคเพศหญิงในสหรัฐฯ ร้อยละ 65 ต้องการใช้เครื่องสำอางอเนกประสงค์ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างมากในสหรัฐฯ เช่นเดียวกับเฟอร์นิเจอร์แบบอเนกประสงค์ (Multifunctional Furniture) ที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยบริษัท Technavio ผู้วิจัยตลาดคาดว่า มูลค่าตลาดเฟอร์นิเจอร์แบบอเนกประสงค์ทั่วโลกจะมีอัตราเติบโตเฉลี่ยราว 6% ต่อปี ในระหว่างปี 2557-2562 สวนทางกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในภาวะซบเซา ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs อาจจำเป็นต้องปรับรูปแบบสินค้าให้สามารถใช้งานได้หลากหลายขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
นิยมการสื่อสารด้วยข้อความที่สั้นและเข้าใจง่าย โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านรูปภาพ ด้วยรูปแบบการติดต่อสื่อสารในยุคปัจจุบันที่นิยมติดต่อสื่อสารด้วยข้อความสั้นๆ ผ่าน Application ต่างๆ อาทิ Lines และ WhatsApp โดยเฉพาะการสื่อสารผ่านรูปภาพแทนการพิมพ์ข้อความในการสื่อสาร ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ไม่ชอบการอ่านโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือคำอธิบายลักษณะสินค้าที่ยาวเกินไป แต่จะชอบการประชาสัมพันธ์ที่เป็นข้อความสั้นๆ และได้ใจความตรงประเด็น ทำให้ช่วงที่ผ่านมาการประชาสัมพันธ์สินค้าของบริษัทชั้นนำของโลกได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปสู่การประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยข้อความหรือรูปภาพที่สั้นและเข้าใจง่าย
อาทิ "Share a coke" ของบริษัท โคคา-โคลา จำกัด ในช่วงปี 2556-2557 ที่เชิญชวนให้ผู้บริโภคไม่เพียงซื้อโค้กดื่มเอง แต่ยังแบ่งปันให้กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว ทำให้ยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบ 20% ในช่วงดังกล่าว เป็นต้น ซึ่งผู้ประกอบการ SMEs สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบของการประชาสัมพันธ์สินค้าด้วยข้อความที่สั้นและกระชับ หรืออาจปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้ดึงดูดด้วยรูปภาพที่สามารถสื่อสาร ถึงกลุ่มผู้บริโภค Gen Z ได้ดีกว่าให้ความสำคัญกับกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR) กลุ่ม Gen Z เติบโตมาในยุคที่เต็มไปด้วยปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ก็ได้รับการปลูกฝงให้ตระหนักถึงปญหาดังกล่าวมาโดยตลอด ทำให้ผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ให้ความสำคัญกับปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่าผู้บริโภคกลุ่มอื่น ทั้งนี้ หนังสือพิมพ์ The Chronicle of Philanthropy ในสหรัฐฯ รายงานผลสำรวจเกี่ยวกับกิจกรรมด้าน CSR ของกลุ่ม Gen Z พบว่า มี Gen Z มากถึง 49% ทำงานอาสาสมัครเดือนละครั้ง และ 39% เห็นว่าการบริจาคเงินและใช้เวลาเพื่อสาธารณประโยชน์เป็นเครื่องวัดความสำเร็จ ทำให้ปัจจุบันกลยุทธ์ด้าน CSR ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ขาดไม่ได้ในการดำเนินธุรกิจ โดยรูปแบบของกิจกรรม CSR ไม่ได้จำกัดเพียงการบริจาคเงินและสิ่งของเพื่อช่วยเหลือเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการดำเนินธุรกิจที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการผลิตสินค้าด้วยวัตถุดิบที่ย่อยสลายได้ หรือการใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวนอกจากจะช่วยในการเจาะตลาดผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z แล้วยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ตัวสินค้า อันจะนำไปสู่การรับรู้แบรนด์ และสร้างความผูกพันต่อผู้บริโภคในระยะยาว
การปรับตัวของธุรกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปนับเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมามีตัวอย่างของหลายธุรกิจที่ไม่สามารถปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้จนต้องเลิกกิจการไป อาทิ กิจการฟิล์มถ่ายรูปของบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกที่ต้องปิดกิจการไปในปี 2555 ขณะดียวกันก็มีหลายบริษัทที่จับกระแสผู้บริโภคใหม่ๆ ได้จนสามารถก้าวขึ้นมาอยู่แถวหน้าของตลาดโลกได้ในปัจจุบัน ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความต้องการของผู้บริโภคกลุ่ม Gen Z ที่กำลังก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในตลาดโลก
Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--