กระแสเงินทุนจำนวนมหาศาลที่กำลังไหลออกจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจใหม่ในปัจจุบัน กำลังเป็นปัญหาสำคัญบั่นทอนเสถียรภาพและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะมาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และบราซิล ซึ่งถือเป็นกลุ่มตลาดส่งออกใหม่ที่สำคัญของไทย โดยประเทศต่างๆ ดังกล่าวมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่คล้ายคลึงกันคือมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับต่ำเมื่อเทียบกับภาระหนี้ต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ก็มีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาเป็นเวลานาน ซึ่งสะท้อนถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจที่อยู่ในสถานะเปราะบาง และเป็นปัจจัยสำคัญที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งยิ่งเป็นตัวเร่งให้เกิดกระแสเงินทุนไหลออกจากประเทศต่างๆ ดังกล่าวเร็วกว่าประเทศเศรษฐกิจใหม่อื่นๆ และทำให้สกุลเงินอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเงินเรียลของบราซิลอ่อนค่ากว่า 40% ขณะที่มาเลเซีย แม้ยังเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ยังขยายตัวได้ในระดับ 5% แต่มาเลเซียมี หนี้ต่างประเทศระยะสั้น (Short-term External Debt) สูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ทำให้เงินริงกิตของมาเลเซียอ่อนค่าเกือบ 25% ขณะเดียวกันธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ข้างต้นเผชิญกับข้อจำกัดของการมีทุนสำรองระหว่างประเทศไม่เพียงพอที่จะเข้าแทรกแซงค่าเงินไม่ให้อ่อนค่า เร็วเกินไปจนกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ทำให้หลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลว่าหากกระแสเงินทุนไหลออก ยังดำเนินอยู่ต่อไป อาจก่อให้เกิดวิกฤตการเงินรอบใหม่ในกลุ่ม Emerging Market ทั้งนี้ หากพิจารณามูลค่าส่งออกของไทยไปมาเลเซีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และบราซิล (มีสัดส่วนรวมกันราว 10% ของมูลค่าส่งออกรวม) ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2558 พบว่าหดตัวรุนแรงทุกตลาด และมีส่วนฉุดให้มูลค่าส่งออกของไทยในช่วง 7 เดือนแรกหดตัวถึง 2.1% (Contributions to Export Growth) จากมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมดที่หดตัว 4.7%
แม้กระแสเงินทุนไหลออกที่กำลังเกิดขึ้นจะไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยมากนัก ด้วยพื้นฐานทางเศรษฐกิจไทยที่ค่อนข้างเข้มแข็ง เห็นได้จากหนี้ต่างประเทศของไทยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่ปลอดภัย และเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2541 ที่ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างระมัดระวังกับการก่อหนี้ต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวกำลังบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศเศรษฐกิจใหม่ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยหลายประเทศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงภาคส่งออกไทยอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้การส่งออกไทยในระยะถัดไปต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจทั้งตลาดส่งออกหลักอย่าง สหรัฐฯ ก็ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะที่ EU ญี่ปุ่น และจีน กำลังมีปัญหา มิหนำซ้ำตลาดส่งออกใหม่ก็กำลังเผชิญปัญหาด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระลอกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้น
Disclaimer : คอลัมน์นี้เผยแพร่เพื่อให้ความรู้ด้านเศรษฐกิจมหภาค เศรษฐกิจต่างประเทศ รวมถึงภาวะธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความคิดเห็นของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--