Share โลกเศรษฐกิจ: lUU นั้นสำคัญไฉน...เหตุใดไทยต้องปฏิบัติตาม

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 13, 2015 14:53 —ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้า

ประเด็นหนึ่งที่ตกเป็นข่าวใหญ่ตามสื่อต่างๆของไทยในช่วงที่ผ่านมา คือ การที่เรือประมงหลายลาของไทยพร้อมใจกันหยุดทำการประมง หลังจากพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เนื่องจากไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ขณะที่รัฐบาลประกาศเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของรัฐบาลถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแก้ไขปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมายขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) ที่ทาง EU ได้ประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทยตั้งแต่เดือนเมษายน 2558 Share โลกเศรษฐกิจฉบับนี้จึงขอนำเสนอประเด็นเกี่ยวกับ IUU ที่น่าสนใจ ดังนี้

ความเป็นมาของ lUU : ไม่ใช่แค่มาตรฐานของ EU แต่เป็นมาตรฐานสากล

ความจริงแล้วประเด็น IUU ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่เป็นเรื่องที่ริเริ่มโดยองค์การสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2525 และ EU ก็ได้ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันมาโดยตลอด เพราะการทำประมงแบบ IUU อาทิ การทำประมงในเขตหวงห้ามการทำประมงในช่วงที่ห้ามทำประมงการใช้อุปกรณ์ที่ไม่ได้รับอนุญาตรวมถึงการไม่รายงานข้อมูลการทำประมงหรือรายงานข้อมูลเท็จ ถือเป็นปัญหาสำคัญของโลกเพราะนอกจากจะทำลายความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลแล้ว ยังทำลายระบบนิเวศน์ทางทะเล รวมถึงความหลากหลายทางชีวภาพในทะเล ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชากรโลกทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ผ่านมามีรายงานว่าสินค้าที่ได้จากการทำประมงแบบ IUU ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงปีละราว 1 หมื่นล้านยูโรEU ในฐานะผู้นำเข้าสินค้าประมงรายใหญ่ที่สุดของโลกจึงออกระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงแบบ lUU อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 2551 และกำหนดให้มีผลบังคับใช้กับสินค้าประมงที่ EU นำเข้าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553

สาระสำคัญของระเบียบ lUU ของ EU : ถูกต้อง โปร่งใส เพื่อการประมงอย่างยั่งยืน
  • สินค้าประมงที่ได้จากการจับ (ยกเว้นสัตว์น้ำจืด ปลาสวยงาม สัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยงและหอยสองฝาบางชนิด) ทั้งที่แปรรูปและไม่ได้แปรรูป ที่จะนำเข้ามาหรือส่งออกจาก EU ต้องมีใบรับรองการจับสัตว์น้ำที่ออกโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบของประเทศเจ้าของเรือธง (สำหรับไทย คือ กรมประมง) เพื่อรับรองว่าการจับสัตว์น้ำนั้นเป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ ตลอดจนมาตรการอนุรักษ์และบริหารจัดการระดับนานาชาติ
  • เรือที่ต้องสงสัยว่าทำประมงแบบ IUU จะถูกใส่ชื่อไว้ในรายชื่อของเรือประมงที่ทำประมงแบบ IUU และมีมาตรการลงโทษ อาทิ เพิกถอนใบอนุญาตจับสัตว์น้ำ ห้ามค้าสินค้าจากเรือประมงนั้นใน EU ตลอดจนการห้ามไม่ให้เรือนั้นเข้าสู่ท่าเรือของประเทศสมาชิก EU
  • ประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่สามารถปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวได้ จะถูกห้ามค้าสินค้าประมงทั้งทางตรงและทางอ้อมกับ EU ตลอดจนห้ามทำการประมงร่วมกับกองเรือของ EU รวมทั้งห้ามซื้อขายกับผู้ประกอบการใน EU
การให้ใบเหลือง-ใบแดงของ EU : บ่งบอกระดับการตอบโต้จากตักเตือนถึงขั้นระงับการนำเข้า

ที่ผ่านมา ตั้งแต่ระเบียบว่าด้วยการป้องกัน ต่อต้าน และขจัดการทำประมงแบบ IUU ของ EU มีผลบังคับใช้ EU ได้ให้ใบแดงหรือ "ระงับการนำเข้า" สินค้าประมงจากประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ไข" หรือ ปัญหา IUU ไปแล้วทั้งสิ้น 4 ประเทศ ได้แก่ เบลีซ กินี กัมพูชา และศรีลังกา ขณะที่ประกาศให้ใบเหลืองประกาศเตือนอย่างเป็นทางการ" แก่ประเทศที่ยังดำเนินการไม่เพียงพอในการป้องกัน ขจัด และยับยั้งการทำประมงแบบ IUU อีกหลายประเทศ อาทิ เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี กานา ตูวาลู รวมถึงไทย อย่างไรก็ตามเมื่อ EU ประกาศให้ใบเหลืองแก่ประเทศใดแล้ว EU จะให้เวลาแก่ประเทศเหล่านั้นไม่น้อยกว่า 6 เดือน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และ EU จะร่วมมืออย่างเป็นทางการกับประเทศนั้นๆ ในการแก้ไขปัญหาIUU ผ่านการเจรจา การเสนอแผนปฏิบัติการ (Action plan) และประเมินความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาจากตัวชี้วัดต่างๆ ซึ่ง EU จะส่งผู้แทนมาติดตามและตรวจสอบอย่างใกล้ชิดก่อนจะมีการประเมินอีกครั้งว่าประเทศนั้นสามารถแก้ไขปัญหาได้มากน้อยเพียงใดซึ่งหากประเทศที่ได้รับใบเหลืองไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหา EU ก็จะพิจารณาให้ใบแดงประเทศนั้น แต่หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด EU ก็จะยกเลิกการให้ใบเหลือง ซึ่งที่ผ่านมามีประเทศที่ EU ประกาศยกเลิกการให้ใบเหลืองแล้ว อาทิ เกาหลีใต้และฟิลิปปินส์ สำหรับประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการแก้ปัญหา ก่อนที่ EU จะพิจารณาอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2558 ส่วนประเทศที่ได้รับใบแดงไปแล้วหากมีการแก้ไขปัญหาได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด EU ก็จะประกาศยกเลิกสถานะใบแดง (กลับมามีสถานะปกติ) ให้ได้เช่นกัน เช่น เบลีซ

กระแส lUU : ขยายวงจาก EU สู่สหรัฐฯ

นอกเหนือจาก EU ที่มีกฎหมายเกี่ยวกับ IUU บังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีรายงานว่าสหรัฐฯ ก็อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อต่อสู้กับปัญหาการทำประมงแบบ IUU เช่นกัน โดยประธานาธิบดี Barack Obama ได้สั่งให้จัดตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจที่เป็นของประธานาธิบดีที่เรียกว่า presidential Task Force on Combating Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing and Seafood Fraud ขึ้นเพื่อดำเนินนโยบายร่วมกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีก 12 หน่วยงาน และหนึ่งในเครื่องมือที่จะใช้ คือ การพัฒนามาตรการใหม่ๆหรือนำมาตรการที่มีอยู่แล้วมาใช้ในการต่อสู้กับการทำประมงแบบ IUU เพื่อเป็นหลักประกันว่าอาหารทะเลที่จำหน่ายในสหรัฐฯ เป็นอาหารทะเลที่จับมาอย่างถูกกฎหมายและมีการปิดฉลากอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ในส่วนของภาคเอกชนก็มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับประเด็น IUU มากขึ้นตัวอย่าง Walmart ที่มีนโยบายว่าในอนาคตกุ้งที่ส่งออกไปสหรัฐฯต้องเป็นกุ้งที่เพาะเลี้ยงโดยใช้อาหารกุ้ง (ปลาป่น) ซึ่งมาจากการใช้วัตถุดิบที่จับจากเรือประมงที่ถูกกฎหมาย และปราศจากการทำประมงแบบ IUU เท่านั้น

ดังนั้น เมื่อผู้นำเข้าอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกทั้ง EU และสหรัฐฯต่างมีท่าทีชัดเจนในการต่อสู้กับปัญหาการทำประมงแบบ IUU เช่นนี้แล้ว ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ประมงย่อมไม่สามารถหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวได้ อีกทั้งการปรับตัวและดำเนินการให้สอดคล้องกับกติกาสากลไม่เพียงช่วยให้ไทยรักษาตลาดส่งออกสินค้าประมงที่มีมูลค่ากว่าปีละ 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเอาไว้แต่ยังมีส่วนช่วยให้ทรัพยากรทางทะเลของไทยถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่หมดสิ้นไปก่อนเวลาอันควร ซึ่งจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมประมงของไทยให้สามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน

Disclaimer : ข้อมูลต่างๆ ที่ปรากฏ เป็นข้อมูลที่ได้จากแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย และการเผยแพร่ข้อมูลเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจเท่านั้น โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยจะไม่รับผิดชอบในความเสียหายใดๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการที่มีบุคคลนำข้อมูลนี้ไปใช้ไม่ว่าโดยทางใด

--ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย--


แท็ก เป็นข่าว  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ